Site icon Spotlight Daily

‘ในหลวง’ ในความทรงจำของไทยทั้งผอง กับพระราชจริยวัตรที่ยังตราตรึงในหัวใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 70 ปี ซึ่งนับว่าครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก

          แต่สิ่งที่เหนือกว่ากาลเวลา คือพระจริยวัตรที่งดงาม พระราชกรณียกิจที่มากมายคณานับที่เป็นคุณอนันต์แก่ปวงชนชาวไทย เพราะไม่มีที่ไหนที่ท่านเสด็จพระราชดำเนินให้การช่วยเหลือปวงราษฎร์ไปไม่ถึงและเพื่อรำลึกถึงเหนือหัวของปวงชนชาวไทย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้หยิบหนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท กับ ลัดดาซุบซิบ” มาเขียนถึงอีกครั้ง ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ชื่อจริงคือ นายแถมสิน รัตนพันธุ์ โดย “ลัดดา” หรือผู้เขียนได้รวบรวมเรื่องราวอันทรงคุณค่ามากมายเกี่ยวกับพระราชจริยวัตร และพระจริยวัตรของพระบรมวงศานุวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 9 เอาไว้มากมาย รวมไปถึงเรื่องราวของ “ในหลวง” เหนือหัวของปวงชนชาวไทยทุกคน ซึ่งวันนี้จะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเล่าให้คนรุ่นหลังได้ฟัง…

นายแถมสิน รัตนพันธุ์
ในหลวงไม่โปรดเสวย “ปลานิล” เพราะเลี้ยงมันมาเหมือนลูก

หลายคนคงจะทราบแล้วว่า “ในหลวง” ไม่โปรดเสวยปลานิล และทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่รับสั่งอะไรเลย จนวันหนึ่งมีผู้กล้าหาญชาญชัยกราบบังคมทูลถามว่า “เพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวยปลานิล” มีกระแสรับสั่งว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันอย่างไร”

เรื่องนี้มีตำนาน…
เมื่อ พ.ศ.2524 แรกครั้งพระจักรพรรดิอากิฮิโต ยังทรงฐานันดรศักดิ์เป็นมกุฎราชกุมาร ได้ส่งปลานิลทางเครื่องบินจำนวน 100 ตัว มาทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง ปรากฏว่า เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทย ปลาตายเกือบหมด เหลือรอดใกล้ตายเพียง 10 ตัว ในหลวงทรงห่วงใยปลานิลเหล่านี้ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นำไปไว้ในพระที่นั่งและทรงเลี้ยงอย่างประคบประหงม จนปลานิลทั้ง 10 ตัวรอดชีวิต จนปลานิลทั้ง 10 ตัว ได้สนองพระเดชพระคุณแพร่พันธุ์ไปอีกมากมายตามพระราชประสงค์ เป็นอาหารของคนไทย กว่า 60 ล้านคนมาจนทุกวันนี้

พระกระยาหารโปรดของในหลวง

ขออย่าแปลกใจเลย ที่เมนูพระกระยาหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ละมื้อหาได้วิเศษเลอเลิศอย่างที่เข้าใจกันไม่ แต่เป็นอาหารธรรมดาที่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งหลายบริโภคกันทุกวันนั่นเอง

ในหลวงโปรดเสวยอาหารอ่อนแบบฝรั่ง แต่สำหรับอาหารไทย โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา โดยใส่ผักมากๆ หมูเนื้อน้อยๆ

อาหารว่างเคยโปรดหูฉลามและบะหมี่ จะใส่หน้าหมูแดง หน้าเป็ด หน้าปู ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ใส่ผักชี ต้นหอม และตังฉ่าย

เครื่องดื่มโปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งๆ หลายครั้ง น้ำชา กาแฟ ไม่มากนัก

โปรดอ่านเมนูพระกระยาหารหรือเครื่องเสวยประจำวันที่นำมาให้ดูกันมีเครื่องเช้า ไข่ลวกหรือข้าวโอ๊ต ไอศกรีม

เครื่องกลางวัน ซุปอาสาเรน (ซุปใสใส่ไข่) สปาเกตตีมิลานเนส แกงจืดเซ่งจี๊ ผัดไก่เล่าปี่ ปูเค็มต้มกะทิ หลนปลากุเรา ผัดเผ็ดปลาดุกทอดฟู กล้วยหักมุกเชื่อม ไอศกรีม ผลไม้

ยามดึก เมื่อเสด็จกลับจากราชกิจ มหาดเล็กจะตั้งเครื่องว่างจำพวกหูฉลามหรือบะหมี่ถวายอีกครั้งหนึ่ง

ต้องไม่ลืมว่า หัวหน้าส่วนพระเครื่องต้น ณ พระตำหนักจิตรลดาฯ คนปัจจุบัน (พ.ศ.2544) ชื่อ เอกสิทธิ์ วัชรปรีชานนท์ มีเครื่องต้นอยู่ 3 ห้อง ผู้กำกับดูแลอย่างไม่เป็นทางการในแต่ละห้องมี ลูกหลานกุ๊กแต่รัชสมัย ร.6 เป็นคนจีนชื่อ เยี่ยหง แซ่ห่าน ดูแลพระเครื่องต้นฝรั่ง สมิง ดวงทิพย์ ดูแลพระเครื่องต้นหวาน ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล มารดาของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ดูแลพระเครื่องต้นไทย

ในหลวงทรงใช้ของ ธรรมดา-ธรรมดา ในห้องสรงส่วนพระองค์

คราวหนึ่ง ประสงค์ สุขุม เพื่อน (อาวุโส) ผู้เขียน ใกล้เบื้องยุคลบาท หนังสือในเหตุการณ์ 4 รัชกาล ที่มีบุคคลสำคัญของประเทศไทยเป็นผู้พาท่องประวัติศาสตร์ถาม “ลัดดา” ด้วยประโยคที่ “ลัดดา” เคยถามตัวเองในใจบ้างเหมือนกัน

“ในหลวงเราทรงใช้แปรงสีฟัน สบู่ มีดโกนหนวด และแชมพูสระพระเกศา ยี่ห้อใดในห้องสรงน้ำส่วนพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดาฯ

“ลัดดา” มีคำตอบค่อนข้างสั้นว่า…ทุกคนคงแปลกใจเมื่อทราบว่า ของใช้ต่างๆ ในห้องสรงส่วนพระองค์ล้วนเป็นของธรรมดา-ธรรมดา อย่างที่เราๆ ใช้กันกล่าวคือ แปรงสีฟัน และยาสีฟัน ยี่ห้อฟลูโอคารีล สบู่เหลวอาบน้ำยี่ห้อบาเดดาส มีดโกนหนวดกับใบมีดยี่ห้อยิลเลตต์ และแชมพูสระพระเกศา ยี่ห้อทอสก้า 4711

ควรทราบด้วยว่าพระองค์ประหยัดเป็นอันมากในของใช้เหล่านี้บางอย่างเช่น หลอดยาสีฟันจะทรงบีบยาและม้วนหลอดจนถึงที่สุด ส่วนสบู่เหลวทรงใช้จนหมดจนหยดสุดท้าย

 

ในหลวงทรงกล่อมบรรทมพระเทพฯ ด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ “LULLABY”

คงจำได้ว่า เมื่อปีพุทธศักราช 2507 สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลข 23 นับเป็นชาวเอเชียเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

คงจำได้ว่า ในจำนวนเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 44 เพลง เพลงที่ชื่อ LULLABY จัดอยู่ในหมู่เพลงกล่อมนอน

กล่อมนอน หมายถึง กล่อมเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ ที่ต่อมาได้เฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เนื่องเพราะเมื่อแรกประสูติ ณ วันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 ทรงเป็นทารกน้อยที่ไม่โปรดบรรทม ทรงบรรทมยากอย่างยิ่ง เนื่องเพราะการพระราชทานพระกษีรธาราของสมเด็จแม่เป็นสิ่งจำเป็นด้วยไม่สามารถเสวยนมผงที่ใช้เลี้ยงทารกเป็นการเสริมได้เลย กระนั้น พระราชกุมารีน้อย กลับทรงเจริญด้วยพระปัญญาอย่างรวดเร็วน่าพิศวง ทรงรู้ความเกินพระชันษา แม้ไม่กี่เดือนก็ตามที

เป็นต้นว่า เมื่อมีพระพี่เลี้ยงท่านหนึ่งกล่อมพระบรรทมด้วยเพลงลมพัดชายเขาเป็นประจำ หากมีพระพี่เลี้ยงอีกท่านหนึ่งเข้าเวรกลับเปลี่ยนเพลงกล่อมบรรทมเป็นเพลงอื่น พระราชกุมารีน้อยทรงจำได้ว่า ผิดตัว ผิดเพลง มักจะทรงกันแสง ทว่า หากกลับมาขับร้องเพลงลมพัดชายเขา ก็จะทรงหยุดกันแสงอย่างฉับพลันทันที นี่เอง “คือความบันดาลใจแห่งที่มาของเพลงพระราชนิพนธ์ LULLABY”

ไม่แต่เท่านั้น ยังมีอีกข้อมูล เป็นข้อมูลจากหนังสืออ้างอิงเนื่องในมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2539 จัดทำโดยสำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มีความตอนหนึ่งว่า

“เพลง LULLABY เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 24 ที่ทรงพระกรุณาาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริจักรพันธุ์ นิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ ร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา โดยท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องไทย

มีเรื่องเล่าขานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไว้ในอ้อมพระกรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทรงอิเล็กโทน พระราชนิพนธ์เพลง LULLABY กล่อมพระบรรทม แล้วทูลกระหม่อมพระองค์น้อยก็ทรงหลับไป”

ที่มา: http://www.thairath.co.th/

Facebook Comments Box
Exit mobile version