Site icon Spotlight Daily

มารู้จักคุณค่าทางการแพทย์ของ ‘เห็ดหลินจือ’

เรื่อง : C-Vit

                เห็ดหลินจือ เป็นเห็ดสมุนไพรที่ชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันใช้รับประทานบำรุงสุขภาพมาช้านาน จัดเป็นเห็ดที่เจริญเติบโตได้ดีในธรรมชาติ โดยเจริญเติบโตตามโคนต้นไม้ในเขตอบอุ่นและเขตร้อน

                เห็ดหลินจือ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ เห็ดกระด้าง เห็ดหิ้วขอ เห็ดแม่เบี้ยงู เห็ดจวักงูเห่า เห็ดมะพร้าว เห็ดนางกวัก เห็ดหัวงู เห็ดเก้าอี้ลิง เห็ดชะแล็ก เห็ดสวรรค์พันปี เห็ดหมื่นปี เห็ดหิมะ เห็ดต้นไม้แห่งชีวิต เห็ดอมตะ เห็ดเทพเจ้า เห็ดศักดิ์สิทธิ์ เห็ดนำโชค… เป็นสมุนไพรที่หายาก และรู้จักกันมานานกว่าสองพันปี ในสมัยจักรพรรดิฉินซีฮ่องเต้ ประเทศจีน

                เห็ดหลินจือ เริ่มเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2527 โดยการนำเข้า จนถึงปัจจุบันยังมีการนำเข้าเพื่อสกัดเป็นส่วนผสมของอาหารเสริม และเวชสำอาง มูลค่าสูงถึงหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี

                เห็ดหลินจือ มีชื่อสามัญว่า ‘Lignzhi Mushroom’ และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘Ganoderma lucidum’ ประกอบไปด้วยหลายสายพันธุ์ สามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม 6 สี คือ สีขาว เขียว แดง ดำ น้ำตาล และม่วง ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาศักยภาพสปอร์เห็ดหลินจือและเห็ดสมุนไพร ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการวิจัยงานต้นแบบ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ รวมทั้งมีการผลิตสินค้า ทั้งอาหารและเวชสำอาง ด้วยระบบอินทรีย์

สรรพคุณทางยานับสิบของเห็ดหลินจือ

                สปอร์เห็ดหลินจือ ซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อและตีแตกแล้ว ประกอบด้วยสารสำคัญ อาทิ สารโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) สารเยอร์เมเนียม (Germanium) สารไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpeniod) สารนิวคลีโอไทด์ (Nucieotide) สารอะดีโนซีน (Adenosine) สารอัลคาลอยด์ (Alkaloid) สารกาโนเดอริก (Ganoderic Essence) กรดโอเลอิค (Oleic Acid) โปรตีน Lz-B กรดอะมิโนจำเป็น (Essential Amino Acid) และสารกลุ่มสเตอรอยด์ (Steroid)

                ในตำรายาสมุนไพรจีนเอ่ยถึงเห็ดหลินจือว่าเป็น เทพเจ้าแห่งชีวิต เพราะมีสรรพคุณทางยาในการบำรุงร่างกาย ช่วยขับพิษ ป้องกัน และรักษาโรคได้ดีกว่าสมุนไพรชนิดอื่น

รูปลักษณ์หน้าตาของเห็ดหลินจือ

                ภายในพื้นที่ของโครงการพัฒนาผลิตสปอร์เห็ดหลินจือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีห้องเพาะพันธุ์เห็ดหลินจือเพื่อการวิจัย แบ่งเป็นโซนต่างๆ จัดเรียงถุงเพาะเห็ดบนชั้นวาง

                ลักษณะของดอกเห็ดเป็นรูปไตหรือครึ่งวงกลม กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร หนา 1-3 เซนติเมตร (ดอกใหญ่ที่สุดของโครงการฯ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เซนติเมตร) ดอกอ่อนมีขอบสีขาว ถัดเข้าไปเป็นสีเหลืองอ่อน บริเวณกลางดอกมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง ผิวเป็นมันวาว มีริ้วหรือหยักเป็นคลื่น ขอบหมวกงุ้มและหนา ด้านล่างเป็นรูกลมเล็กๆ เชื่อมติดกัน

                สปอร์เห็ดหลินจือ เป็นตัวช่วยในการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ถูกสร้างออกมาจากผนังของรูที่อยู่ใต้หมวกเห็ด ลักษณะเป็นรูปวงรีสีน้ำตาล ปลายด้านหนึ่งตัดตรง ผิวเรียบ มีผนังหนาสองชั้น ระหว่างผนังมีลายหนามยอดเรียวจนจรดผนังชั้นนอก เมื่อสืบพันธุ์ สปอร์จะหลุดออกจากรูใต้หมวก แล้วปลิวไปเกาะบนผิวดอก ทำให้มองเห็นดอกเห็ดคล้ายมีฝุ่นเกาะ เมื่อสปอร์กระจายออกไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะเจริญเติบโตเป็นเห็ดดอกใหม่

เห็ดหลินจือสายพันธุ์ MG2

                บริษัท คินน์ เวิลด์ ไวด์ จำกัด ผู้นำในธุรกิจสารชีวายุวัฒนะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Bio Longgevity) ได้ร่วมกับโครงการพัฒนาศักยภาพสปอร์เห็ดหลินจือฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการวิจัยและทดลองเห็ดหลินจือสายพันธุ์ MG2 ขึ้น เพื่อนำสปอร์เห็ดหลินจือกระเทาะเปลือกมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Kinn: Lingzhi Extract

                สารสำคัญ 4 ชนิดในสปอร์เห็ดหลินจือ MG2 ได้แก่

                สารโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว และช่วยต้านอาการภูมิแพ้ได้

                สารไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoid) ช่วยในการต้านสารอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค ลดความดันโลหิต อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย

                สารเยอร์มาเนียม (Germanium) ช่วยเสริมกระบวนการทำงานของร่างกาย กำจัดสารพิษ กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงให้รับออกซิเจนได้มากขึ้นถึง 1.5 เท่า ทำให้เลือดและเซลล์มีออกซิเจนมากขึ้น จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทได้

                ซูเปอร์อ็อกไซด์ ดิสมิวเทส (Superoxide Dismutase) เอ็นไซม์ซึ่งพบมากในส่วนที่เป็นดอกเห็ด โดยมีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านสารพิษ และสารชะลอความชรา

                นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Kinn: Lingzhi Extract โดยบริษัท คินน์ เวิลด์ ไวด์ จำกัดแล้ว ทางโครงการฯ ยังผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยล่าสุดในกลุ่มเวชสำอางอีกด้วย พร้อมๆ กับการผลิตอาหารสัตว์จากก้านเห็ดหลินจือ เป็นการต่อยอด เพื่อเป็นงานต้นแบบ ที่พร้อมจะเผยแพร่ความรู้ต่อไปในอนาคต

อ้างอิง:
พืชเกษตรไทย
อาจารย์ปรีชา รัตนัง, โครงการพัฒนาศักยภาพสปอร์เห็ดหลินจือและเห็ดสมุนไพร ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Facebook Comments Box
Exit mobile version