ทุกๆ ปี ข่าวนักเรียนไทยได้รับเหรียญรางวัลจากเวทีการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยเรื่อยมา ตั้งแต่การเข้าร่วมแข่งขันครั้งแรก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเพียง 28 ประเทศเท่านั้น ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 49 โดยต้อนรับคณะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 297 คน จาก 76 ประเทศ นับเป็นครั้งที่สองตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ที่ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความพร้อมและมาตรฐานของเราในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีโอกาสได้แสดงความสามารถและได้รับประสบการณ์การแข่งขันเชิงวิชาการในเวทีระดับโลก การแข่งขันในครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6-17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม
เคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นการแข่งขันเคมีของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาและเป็นหนึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ที่ครอบคลุมไปถึงวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าและนวัตกรรมสำคัญ ๆ การแข่งขันประกอบด้วยการสอบสองส่วน ได้แก่ การสอบภาคทฤษฎี (Theoretical Examination) คิดเป็น 60 คะแนน และการสอบภาคปฏิบัติ (Practical Examination) คิดเป็น 40 คะแนน มีการแปลข้อสอบภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาของแต่ละประเทศตามความต้องการของผู้สอบ เนื้อหาที่ใช้ในการแข่งขันประกอบไปด้วยแขนงต่างๆ ของวิชาเคมี อาทิ เคมีอินทรีย์ เคมีอนินทรีย์ เคมีเชิงฟิสิกส์ เคมีวิเคราะห์ ชีวเคมี และสเปกโทรสโกปี นอกเหนือจากการแข่งขันแล้ว ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์นี้ นักเรียนทุกคนยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์ รวมทั้งสานมิตรภาพระหว่างประเทศผ่านความสนใจในวิชาเคมีที่มีร่วมกัน
นายบวรทัต บุญรักษ์ หนึ่งในตัวแทนผู้เข้าแข่งขันจากประเทศไทย กล่าวว่า “รู้ตัวว่าชอบวิชาเคมีตั้งแต่ตอนอายุ 10 ขวบ เพราะวิชาเคมีเกี่ยวข้องกับแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรา ผมอยากเป็นหมอเพราะต้องการนำความรู้ทางด้านเคมีที่มีไปทำแล็บเพื่อคิดค้นยารักษาโรคช่วยเหลือคนอื่น สิ่งที่ทำให้รู้สึกชอบวิชาเคมีมากยิ่งขึ้นคือการได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ได้ใช้อุปกรณ์การทดลองในห้องแล็บด้วยตัวเอง ทำให้รู้สึกท้าทายและสนุกในเวลาเดียวกัน อยากฝากถึงรุ่นน้องว่าหัวใจหลักของความสำเร็จคือการค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอ”
นายเซลโซ่ ลิมา ตัวแทนผู้เข้าแข่งขันจากประเทศบราซิล กล่าวว่า “แรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์คือคุณครู โชคดีที่มีคุณครูที่พยายามผลักดันให้เด็กทุกคนเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองและเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ถ้าเรามีความพยายาม ครูจะบอกเสมอว่าเราควรลองทำทุกอย่างที่เราอยากทำ ถึงแม้จะเกิดอุปสรรคบ้างก็ต้องไม่ยอมแพ้ ควรเรียนรู้และแก้ไขจากข้อผิดพลาดของตัวเอง คุณครูเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยให้คำแนะนำจนประสบความสำเร็จดังเช่นทุกวันนี้”
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้จัดขึ้นระหว่างการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 49 คือเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “The Future of Chemistry: Career and Opportunity” โดย บริษัท ดาว เคมิคอล ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ของโลก ผ่านความตั้งใจที่จะ ‘สร้างทรัพยากรบุคคลคุณภาพให้กับประเทศในอนาคต (Building the Workforce of Tomorrow)’ ปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักในวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมและความยั่งยืน ในงานนี้ ตัวแทนนักวิทยาศาตร์ของ ดาว ได้นำประสบการณ์ในวัยเด็กและข้อคิดของการทำงานสายวิทยาศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนกันบนเวที
ตง วู ผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลย ของ ดาว เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific External Technology and R&D Strategy Leader) กล่าวว่า “เมื่อตอนเป็นนักเรียนได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์ที่สอนว่าเคมีสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ เมื่อโตขึ้นมาก็ได้รู้ว่านักเคมีเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ การรีไซเคิล พลังงาน แบตเตอรี่ หรือแม้กระทั่งการรักษาโรคระบาด จึงมองเห็นว่าการที่เยาวชนได้รับคำแนะแนวอย่างถูกต้องในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนทั้งในภาคทฤษฎีและปฎิบัติจะหล่อหลอมให้เป็นคนช่างสังเกต กล้าตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว รู้จักค้นคว้าหาความรู้และลงมือทดลองด้วยตัวเอง ซึ่งจะกลายเป็นทักษะที่นำไปประยุกต์ใช้เมื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานจริง”
เป็นเวลากว่า 50 ปี ที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มีความตั้งใจที่จะผลักดันและเสริมสร้างบุคลากรที่เป็นอนาคตของชาติให้มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ ผลักดันหลักสูตรการสอน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) หรือ สะเต็มศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วยสี่สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เน้นให้ความรู้ในการนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-scale Chemistry Laboratory Technique) มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนวิชาเคมี การมอบทุนการศึกษาและโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำโครงการของ ดาว เพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ทุกภาคส่วน ผู้เป็นกำลังสำคัญในการหาโซลูชั่นต่าง ๆ ที่จะมาช่วยตอบโจทย์ความท้าทายของโลกอีกด้วย