เรื่องและภาพ: บุญโชค พานิชศิลป์
ปลายฤดูร้อน, สิงหาคม 1998
เวรา วานน้องชายให้ขับรถจากชานเมืองมาส่งผมที่สถานีรถไฟในซาเกร็บ (Zagreb) ช่วยเช็คขบวนรถให้ ก่อนลาจากไป ทิ้งผมอยู่บนตู้ขบวนรถไฟสีทึมๆ ไล่เดินหาที่นั่งที่เป็นห้องโดยสารตู้นั่งชั้น 2 โดยดูจากแผงด้านหน้าห้องโดยสาร ถ้ามีคนจองที่นั่งไว้พนักงานรถไฟจะสอดกระดาษไว้ให้รู้ว่ามีคนจอง ถ้าไม่มี ผู้โดยสารที่ไม่ได้จองที่นั่งไว้ก็สามารถเข้าไปนั่งได้
ห้องโดยสารบนรถไฟเที่ยวกลางคืนค่อนข้างว่าง ผมรู้สึกโล่งใจที่มันเป็นอย่างนั้น เพราะไม่อยากจ่ายเงินค่าจองที่นั่งเพิ่มตั้งแต่แรก ห้องโดยสารรถไฟของโครเอเชียคล้ายๆ กับของประเทศอื่นในยุโรป เป็นห้องกระจกเรียงติดกัน ภายในมีหกที่นั่ง ฟากละสามที่ ด้านนอกเป็นระเบียงทางเดินแคบๆ ขนาดพอดีคนเดินสวนกัน เวลาห้องโดยสารว่างใครจะเลือกนั่งตรงไหนก็ได้ หรือจะเหยียดขาพาดเก้าอี้อีกฟากเพื่อนอนก็ยังได้
ขบวนรถไฟซาเกร็บ-สปลิต (Split) ออกตรงเวลา สี่ทุ่มยี่สิบนาที ระยะทางราว 260 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางเกือบแปดชั่วโมง ผมรอจนพนักงานรถไฟตรวจตั๋วเสร็จแล้วก็เริ่มเหยียดตัวนอน แต่กว่าจะหลับตาลงได้ก็ปาไปเที่ยงคืนกว่าแล้ว
จุดหมายปลายทางของผมจริงๆ แล้วไม่ใช่เมืองสปลิต แต่เป็นมอสตาร์ (Mostar) เมืองเก่าแก่เล็กๆ ในบอสเนียและแฮร์เซโกวินา (Bosnia & Herzegovina) ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสปลิตกับซาราเยโว ที่ผมจะเดินทางไปต่อ ที่ทำให้ผมนอนไม่หลับอยู่พักใหญ่ๆ ก็เพราะรู้สึกกังวลกับเรื่องวีซ่าขากลับเข้าโครเอเชีย
วีซ่าเข้าโครเอเชียผมได้จากสถานกงสุลในเยอรมนี เพราะในช่วงเวลานั้นผมไม่สามารถยื่นขอจากเมืองไทยโดยตรงได้ อาศัยว่าเยอรมนีเป็นจุดพักหลัก จึงยื่นขอวีซ่าจากที่นั่น แต่สถานกงสุลในเยอรมนีสามารถออกวีซ่าเข้าออกโครเอเชียได้เพียงครั้งเดียว ถ้าผมเดินทางออกเขตแดนโครเอเชียไปบอสเนียฯ ผมต้องยื่นขอใหม่ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าผมจะเจอสถานทูตหรือกงสุลของโครเอเชียในบอสเนียฯ หรือเปล่า เท่าที่รู้ตอนนั้นก็คือ ผมไม่ต้องยื่นขอวีซ่าเข้าบอสเนียฯ ไม่ว่าใครก็สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีด่านตรวจคนเข้าเมือง
เวรา เจ้าบ้านที่ซาเกร็บเองก็ตอบคำถามไม่ได้เหมือนกัน เธอไม่เคยไปซาราเยโวหรือที่ที่ผมจะไป ตอนนั้นสงครามกลางเมืองในอดีตยูโกสลาเวียเพิ่งยุติไปเพียงสองปีเศษ ยังไม่มีใครรู้เรื่องกฎระเบียบของกันและกันหลังจากประเทศในกลุ่มแยกตัวเป็นอิสระ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เองก็ตาม
เรื่องงงๆ ของเจ้าหน้าที่นั้นผมเจอกับตัวเองที่ด่านชายแดนเข้าสโลวีเนีย ซึ่งผมต้องการแค่ทรานสิตวีซ่า แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะแปะสติกเกอร์-ประทับตราเข้าเมือง เขาต้องเสียเวลาเปิดสมุดคู่มือ หาชื่อประเทศไทย และกฎเกณฑ์การเข้าประเทศของคนไทยอยู่นาน จนใกล้เวลาที่รถไฟจะออกจากสถานีตรงนั้น
ผมตื่นก่อนที่รถไฟจะถึงสปลิต ได้เห็นทั้งภาพทุ่งโล่งร้าง ป่าเขาสูง และทะเลอะเดรียติกเมื่อใกล้จุดหมายปลายทาง ถึงเมืองสปลิต เมืองใหญ่อันดับสองของโครเอเชียแล้วผมยังมีเวลาอีกราวสอง-สามชั่วโมง พอได้เที่ยวเดินวนเข้าไปในเขาวงกตของเขตกำแพงปราสาทยุคจักรวรรดิโรมันของจักรพรรดิดีโอเคลเชียน และพรอเมอนาดริวา ซึ่งเป็นถนนเลียบท่าเรือ ก่อนขึ้นรถบัสต่อไปยังเมืองมอสตาร์
สงครามกลางเมืองในอดีตยูโกสลาเวีย
เกิดขึ้นหลังจากยูโกสลาเวีย-ดินแดนของชาวสลาฟตอนใต้ ส่อความล่มสลาย ประเทศในกลุ่มได้แก่ โครเอเชีย บอสเนียและแฮร์เซโกวินา สโลวีเนีย มาเซโดเนีย และมอนเตเนโกร ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบียที่ยิ่งใหญ่ สงครามปะทุขึ้นจากความกลัวของชนกลุ่มน้อยชาวเซอร์เบียในโครเอเชียและบอสเนียฯ เป็นเหตุให้รัฐบาลกลางในเซอร์เบียต้องส่งกองกำลังเข้าปราบปรามและยึดครอง
สงครามกลางเมืองในโครเอเชียและบอสเนียฯ เกิดขึ้นสองช่วง ช่วงแรกระหว่างปี 1991-1992 เมื่อเซอร์เบียสามารถยึดครองพื้นที่ราวหนึ่งในสามของโครเอเชีย และพื้นที่ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของบอสเนียฯ ได้สำเร็จ กองทัพเป็นทหารจากเซอร์เบีย และกองกำลังที่มีเชื้อสายเซอร์เบีย ซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียฯ ถูกเซอร์เบียยึดครองได้นานถึง 4 ปี ในขณะที่ระหว่างโครเอเชียและบอสเนียฯ ก็มีการสู้รบกันบริเวณเมืองมอสตาร์
ช่วงที่สองเป็นการยึดพื้นที่คืนของโครเอเชียและบอสเนียฯ โดยเฉพาะในปี 1995 ที่เกิดจุดเปลี่ยนทางการทหาร เมื่อองค์การสหประชาชาติตัดสินใจส่งกำลังทหารมายุติสงคราม หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ในเซรเบรนิตซา (Srebrenica) และพื้นที่โดยรอบซาราเยโว มีชายและเยาวชนมุสลิมเสียชีวิตไปกว่า 8,000 คน ปลายปี 1995 มีการลงนามในสนธิสัญญาเดย์ตัน (Dayton Agreement) เพื่อสงบศึก ระหว่างผู้นำทั้งสามชาติ คือ บอสเนียและแฮร์เซโกวินา เซอร์เบีย-มอนเตเนโกร และโครเอเชีย
บาดแผลสงครามในเมืองเก่า
เวราไม่เคยพูดเล่าเรื่องสงครามกลางเมืองในบ้านเกิดของเธอให้ฟัง ผมเคยถามเธอก่อนหน้าว่า เธอใช้ชีวิตอยู่อย่างไรระหว่างที่มีเหตุการณ์ไม่สงบ …ก็ทำงานปกติ เช้าไปทำงาน เย็นกลับบ้าน เธอบอกเป็นภาษาเยอรมันกระท่อนกระแท่น คงเพราะไม่ได้ใช้มานาน ผมเจอเธอครั้งสุดท้ายที่เยอรมนีในปี 1989 หลังจากเรียนภาษาด้วยกันจนจบคลาสแล้วเราก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย เธอย้ายกลับซาเกร็บ และให้ที่อยู่ไว้สำหรับติดต่อกันทางจดหมาย
เส้นทางรถบัสจากสปลิตไปมอสตาร์ระยะทางราว 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณสี่ชั่วโมงครึ่ง (ค่ารถ 52 คูนา ตอนนั้น 1 คูนา = 7 บาท ปัจจุบันราว 680 บาท) ถ้ามีกระเป๋าสัมภาระฝากใต้ท้องรถก็จะเสียค่าเงินเพิ่ม ขนส่งสาธารณะละแวกนี้ดูเหมือนจะมีธรรมเนียมกันแบบนั้น ผมมีเป้สะพายอยู่ใบเดียว นั่งกอดมันไปบนรถก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
เมืองมอสตาร์ ที่โครเอเชียเคยส่งกำลังทหารเข้าไปรุกล้ำ ยังเหลือร่องรอยของการสู้รบให้เห็น จุดที่สาหัสสุดดูเหมือนจะเป็นสะพานสตารี มอสต์ (Stari Most) หรือสะพานเก่า ข้ามแม่น้ำเนเร็ตวา (Neretva) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 16 รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบออตโตมัน เป็นสะพานที่ขึ้นชื่อเรื่องบันจีจัมพ์ในยุคสมัยหนึ่ง นอกนั้นก็เป็นรอยกระสุนปืนและซากปรักอาคารจากการถูกถล่มยิง
ค่าที่พักตอนนั้นไม่ถูกนัก ห้องพักโรงแรมธรรมดาคืนละ 75 มาร์ก และเงินมาร์กของบอสเนียฯ เขาคิดเทียบเท่ากับมาร์กของเยอรมันเสียด้วย (ปี 1998 เงินมาร์กเยอรมัน = 23 บาท) ส่วนค่ากินไม่ถึงกับแพง พิซซาในร้านอาหารถาดละ 5 มาร์ก และไม่ต้องสิ้นเปลืองกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะในย่านเมืองเก่า หรือแทบจะส่วนใหญ่ของเมืองเป็นพื้นที่ของมุสลิม
สถานที่เที่ยวในมอสตาร์ ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ก็จะแนะนำกันไปที่สะพานเก่า ซึ่งปัจจุบันบูรณะใหม่เสร็จแล้ว และมัสยิดคอสกี เมห์เหม็ด ปาชา (Koski Mehmed Paša) ที่เหลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสวยงามไม่ไกลจากเมือง แต่ในยุคหลังสงครามกลางเมือง มีแต่ซากปรักกับทหารยูเอ็นหมวกสีฟ้าให้ทัศนา
ไฟสีเหลืองจากเสาไฟฟ้าที่สองฟากถนนในมอสตาร์บดบังรอยแผลของเมืองได้เป็นอย่างดี แต่ค่ำคืนของที่นี่ก็ไม่ได้มีชีวิตชีวาในแบบที่เคยเป็น หลังเสียงอาซานเชิญชวนให้ละหมาดของชาวมุสลิมที่แว่วให้ได้ยินในตอนพลบแล้ว เมืองทั้งเมืองก็เริ่มเข้าสู่ความสงัดเงียบ
Airbnb ก่อนยุคอินเตอร์เน็ต
ซาราเยโวอยู่ห่างจากมอสตาร์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยกว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยรถบัสเจ้าเดิมอีกราวสองชั่วโมงครึ่ง ผ่านทัศนียภาพป่าเขาที่งดงามน่าทึ่ง และด่านตรวจของทหารยูเอ็นเป็นระยะ เผลอแป๊บเดียวก็ถึงเมืองหลวงของบอสเนียฯ
สภาพเมืองคล้ายเป็นแอ่งกระทะ มีเนินเขาโอบล้อมเมือง มีแม่น้ำมิลญักคา (Miljacka) ที่มองดูคล้ายคลองขนาดใหญ่ไหลผ่าเป็นแนวยาว ผมหาที่พักค้างโดยการถามไถ่จากผู้คนในย่านกลางเมือง แล้วได้รับคำแนะนำจากหลายปากว่าให้ไปหา ‘มุสตาฟา’ เจ้าของอาคารริมถนนสายหลัก
มุสตาฟา ชื่อฟังดูเป็นมุสลิม แต่หน้าตาเจ้าของที่พักผู้สูงวัยกลับดูคล้ายยิว สังเกตจากผิวสีขาวซีด นัยน์ตารี ปลายจมูกงุ้ม จนผมเริ่มปักใจเชื่อว่าเป็นยิวก็ตอนเขาบอกราคาที่พักคืนละ 50 มาร์ก และสายตาที่เขามองตอนผมควักเงินออกจากกระเป๋าจ่ายล่วงหน้าตามจำนวนคืนที่ผมจะพัก
ห้องพักอยู่ชั้นสองของอาคาร เป็นห้องที่กว้างมาก แต่สภาพเก่า ตั้งแต่ประตูห้อง เตียงนอน โซฟา ไปจนถึงตู้โต๊ะเก้าอี้ รวมทั้งพรมปูพื้น ทุกอย่างเป็นของเก่า มีกลิ่นอับ และเป็นโทนสีเขียวเข้มแบบที่มุสลิมส่วนใหญ่นิยม มีห้องน้ำแยกส่วนอยู่นอกห้อง ถ้ามิสเตอร์มุสตาฟายังมีชีวิตอยู่ถึงตอนนี้ เขาคงมีกิจการห้องเช่าผ่าน Airbnb หรือไม่ อาคารริมถนนทั้งแถบอาจได้รับการบูรณะใหม่ และถูกใช้สอยเป็นอะไรอย่างอื่นไปแล้วก็ได้ เพราะทำเลที่ตั้งมันอยู่ในย่านพาณิชย์ และมีรถรางสายเดียวของเมืองแล่นผ่าน
ดูหนังเทศกาล
น่าจะเป็นความบังเอิญมากกว่าที่ผมเดินทางถึงซาราเยโวในช่วงที่มีเทศกาลภาพยนตร์ ปี 1998 มีหนังจากละแวกคาบสมุทรบอลข่านค่อนข้างเยอะ ทั้งจากสโลวีเนีย โครเอเชีย เซอร์เบีย และประเทศในกลุ่มยุโรป ปีนั้นหนังเรื่อง Seul Contre Tous ของกัสปาร์ นอ ผู้กำกับฯฝรั่งเศสเป็นที่พูดถึงมากที่สุด แล้วยังมี The Idiots หนังด็อกมาของลารส์ ฟอน เทรียร์รวมอยู่ด้วย ผมเลือกดูแค่สาม-สี่เรื่องที่อยากดูจริงๆ เพราะตอนนั้นไม่ได้รู้สึกอินกับหนังเทศกาลมากนัก
เทศกาลภาพยนตร์ในซาราเยโวเริ่มจัดขึ้นเมื่อปี 1995 โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ของบอสเนียฯ ที่คิดอยากจะพลิกฟื้นชีวิตหลังจากจมปลักอยู่กับสงครามและความตายมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม แรกเริ่มพวกเขาจัดหาเครื่องฉายวิดีโอ เครื่องปั่นไฟ เข้าไปติดตั้งในห้องใต้ดินของอาคาร จนกระทั่งมันกลายเป็นจุดนัดพบสำคัญของเมือง แผนการใหญ่ก็เริ่มก่อตัว และด้วยความช่วยเหลือจากแวดวงคนรู้จักในยุโรป ทำให้มีการลักลอบนำเครื่องฉายหนัง 35 มม. จอหนัง และฟิล์มหนังเข้าเมืองซาราเยโว ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากทหารบางหน่วยของเซอร์เบีย จากนั้นคนกลุ่มนี้ก็ไปเจอโบสถ์ยิวแห่งหนึ่ง เป็นอาคารเก่า มีพื้นที่กว้างขวาง อยู่ในที่ปลอดระเบิดและกระสุนปืน ปัจจุบันอาคารหลังนี้คือศูนย์วัฒนธรรมบอสเนียฯ เทศกาลภาพยนตร์ครั้งแรกของซาราเยโวจึงเริ่มขึ้น
ในปีแรกนั้นมีการแอบนำหนังจากชาติต่างๆ เข้าไปฉาย เล่ากันว่า อัลฟอนโซ คูอารอน (Alfonso Cuarón) ผู้กำกับฯเม็กซิกัน ลงทุนหิ้วฟิล์มหนัง Y Tu Mamá También ของเขา หรือผู้กำกับฯฝรั่งเศส-เลโอส์ คารักซ์ (Leos Carax) ก็นำ Boy Meets Girl เข้าไป ทุกรอบมีผู้ชมราว 800 คนนั่งไหล่ชนไหล่กันในโถงฉายหนัง มีการเสวนากันหลังหนังจบ
แต่สงครามก็ยังไม่หายไปจากโรงหนัง ระหว่างเทศกาลยังมีผู้คนซาราเยโวเสียชีวิตจากสงครามทุกวัน กระทั่งสนามบินถูกปิด เหตุการณ์เริ่มคับขัน ทั้งผู้กำกับฯ และชาวต่างชาติที่ไปร่วมงานต้องพากันหนีตายด้วยเส้นทางอุโมงค์ออกจากซาราเยโว
ทุกวันนี้เทศกาลภาพยนตร์ซาราเยโวยังคงเป็นเวทีสำคัญของคนทำหนังในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ และมีรางวัลหลักคือ Srce Sarajeva (Heart of Sarajevo) ให้กับภาพยนตร์ หนังสั้น หนังสารคดี และนักแสดงยอดเยี่ยมของแต่ละปี
เมืองหลวงหลังสงคราม
ตอนที่ผมไปเยือน ซาราเยโวยังอยู่ในระหว่างการบูรณะฟื้นฟูสภาพเมืองใหม่ มีการรื้ออาคารและถนนที่ได้รับความเสียหายจากกระสุนปืนและระเบิด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในย่านธุรกิจ ซึ่งในละแวกเดียวกันนั้นก็มีโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ อยู่ในสภาพตึกร้างหลังจากถูกไฟไหม้ ตัวอาคารดูจะเป็นภาพคุ้นตาเวลาที่ผมดูข่าวสงครามบอสเนีย เพราะนักข่าวจากทั่วโลกมักใช้เป็นฐานในการนำเสนอข่าว
อีกฟากของเมืองที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความเสียหายจากภัยสงครามเลยก็คือ ย่านบาชซาร์ชิยา (Baščaršija) ตลาดเก่าจากยุคศตวรรษที่ 15 ของซาราเยโว ชื่อของมันมาจากภาษาเติร์ก เป็นศูนย์รวมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง มีทั้งร้านค้าและร้านอาหาร ผมเองก็ไปฝากท้องในย่านนี้แทบทุกมื้อ จำได้ว่ากินเคบับอร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาในร้านย่านนี้
ส่วนสถานที่เตร็ดเตร่ยามค่ำ พอจะมีร้านสไตล์ผับขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่บ้างในย่านเมืองใหม่ ใกล้ๆ กับที่พัก ร้านแบบนี้คงผุดขึ้นมาหลังจากทหารยูเอ็นเข้าไปดูแลความสงบ บรรยากาศภายในผับซึ่งมีไม่กี่แห่งในตอนนั้น ชวนให้นึกถึงบรรยากาศแถวสนามบินอู่ตะเภา หรือพัทยาในช่วงที่เต็มไปด้วยทหารจีไอ เพียงแต่ซาราเยโวไม่คลาคล่ำไปด้วยเมียเช่าหรือโสเภณีเหมือนพัทยาก็เท่านั้น (หรืออาจจะเป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างทหารจีไอกับทหารยูเอ็น) แต่ละแห่งอึกทึกด้วยเสียงเพลงแนวตะวันตก และบทสนทนาภาษาอังกฤษ แบบที่ไม่เคยได้ยินตอนตระเวนเดินไปทั่วเมืองตลอดทั้งวัน
พูดถึงเรื่องภาษา ผู้คนในอดีตยูโกสลาเวียนอกจากจะมีภาษาของตนเองใช้เป็นภาษาราชการแล้ว ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ถูกนับเป็นภาษาที่สองลำดับต้นๆ แต่จะเลือกเรียนภาษาในกลุ่มยุโรปมากกว่า ถ้าไม่สแปนิช ฝรั่งเศส ก็เยอรมัน อย่างมุสตาฟา-เจ้าของที่พัก พูดคุยภาษาอังกฤษได้แบบติดๆ ขัดๆ พอถามเขาว่าพอจะพูดภาษาเยอรมันได้ไหม หลายเรื่องที่คุยกันไปแล้วไม่รู้เรื่องก็พอจะเข้าใจมากขึ้น
พ่อของเวราเองก็เคยพูดภาษาเยอรมันได้ เพราะเคยเป็นแรงงานรับเชิญ (Gastarbeiter) อยู่ในเยอรมนีช่วงหลังสงครามโลก จนสร้างเนื้อสร้างตัว และกลับมาสร้างบ้านหลังใหญ่ในละแวกชานเมืองของซาเกร็บให้ครอบครัวได้ แต่เวลาผ่านไปนาน เขาไม่มีโอกาสได้ใช้มันก็เลยพูดไม่ได้ แต่เข้าใจบ้างเวลาที่เวรากับผมคุยกันบนโต๊ะอาหาร
วีซ่าเข้าประเทศ วีซ่าผ่านประเทศ
ผมเจอสถานทูตโครเอเชียในซาราเยโวโดยบังเอิญ ระหว่างเดินไปศูนย์วัฒนธรรมฯ เพื่อไปดูหนัง แวะเข้าไปยื่นแบบฟอร์มขอวีซ่าพร้อมรูปถ่ายติดบัตรที่พกติดกระเป๋าสตางค์ไปด้วย จ่ายเงินค่าธรรมเนียม แล้วรอเจ้าหน้าที่ติดสติกเกอร์ลงในพาสปอร์ต ไม่กี่นาทีก็เสร็จเรียบร้อย เร็วกว่าขั้นตอนทำวีซ่าทรานสิตตอนเข้าสโลเวเนียเสียอีก
และผมก็ได้ใช้วีซ่านั้นจริงๆ ด้วย ตรงชายแดนระหว่างแฮร์เซโกวินาฝั่งตะวันออกกับโครเอเชีย มีเจ้าหน้าที่เดินขึ้นมาตรวจสัมภาระและเอกสารประจำตัว มีการประทับตรากันบนรถเสร็จสรรพ
ผมเดินทางกลับเข้าซาเกร็บเส้นทางรถไฟเหมือนขามา และแวะพักค้างที่บ้านเวราอีกคืนหนึ่ง ก่อนเดินทางกลับเข้าเยอรมนีในวันถัดไป
บนรถไฟ Inter City จากซาเกร็บปลายทางมิวนิก ผมต้องผ่านด่านที่ชายแดนของสโลวีเนียอีกครั้ง คราวนี้ไม่เหมือนตอนขาเข้าที่ด่านเยเซนีเช (Jesenice) ด้านที่ติดกับออสเตรีย แต่มันเป็นด่านโดโบวา (Dobova) ขาออกจากโครเอเชีย ที่เจ้าหน้าที่ด่านดูพาสปอร์ตของผมแล้วเรียกตัวลงจากขบวนรถไฟพร้อมสัมภาระ ผมย้ำกับเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่าตั๋วรถไฟของผมใช้ไม่ได้กับรถไฟทุกขบวน ถ้าผมพลาดจากขบวนนี้แล้ว ไม่รู้ว่าผมจะต่อขบวนไหนได้อีกบ้าง แต่เขาไม่ฟัง จะเอาตัวผมลงจากรถไฟท่าเดียว
แล้วขบวนรถไฟ Inter City ก็เคลื่อนออกจากสถานีไปตามคาด ทิ้งผมให้อยู่กับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสองคนในป้อมเล็กๆ คนหนึ่งเอ่ยปากขอตรวจดูข้าวของในเป้ ซึ่งผมเปิดให้ดูโดยดี และหยิบข้าวของทุกชิ้นออกมาวางให้เห็น เสื้อผ้า ของใช้ประจำตัว กล้องถ่ายรูป และกลักฟิล์มสไลด์นับสิบกลักทั้งที่ถ่ายไปแล้วและฟิล์มใหม่ ส่วนอีกคนก็ง่วนอยู่กับการโทรศัพท์เช็คพาสปอร์ตของผม ท้ายที่สุดเขาก็แปะสติกเกอร์ทรานสิตวีซ่า ประทับตรา และเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม จากนั้นก็ทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ เจ้าหน้าที่อีกคนบอกให้ผมเก็บข้าวของ แล้วให้ไปนั่งรอที่ม้านั่งในสถานี เขาจะเช็คตารางเดินรถไฟขบวนที่ผมสามารถโดยสารไปได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้
สรุปแล้วผมต้องรออยู่ที่ด่านโดโบวา-ชนบทเล็กๆ ที่แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นอาศัยอยู่เลย-อีกสามชั่วโมง เพื่อต่อรถไฟขบวนซึ่งมีปลายทางที่ลุบยานา (Ljubljana) เมืองหลวงของสโลวีเนีย แล้วต่ออีกขบวนไปมิวนิก ทำให้แผนการเดินทางต้องเลื่อนออกไปครึ่งค่อนวัน
ผมจำเหตุการณ์นี้ได้ดี โดยไม่ต้องบันทึกภาพเก็บไว้เพื่อเตือนความจำ
Update:
+ ปัจจุบันการขอวีซ่าเข้าประเทศสโลวีเนียและโครเอเชียสามารถยื่นขอได้โดยตรงที่สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในกรุงเทพฯ หรือยื่นขอวีซ่าเชงเกนของสโลวีเนียผ่านสถานทูตออสเตรีย (https://www.bmeia.gv.at/th/oeb-bangkok/reisen-nach-oesterreich/vertretungsregeln-fuer-malta-slowenien/) ซึ่งทำหน้าที่แทนประเทศสโลวีเนียและมอลตาในไทย ส่วนการเข้าประเทศโครเอเชีย หากว่ามีวีซาเชงเกงประเภท Double Entry หรือ Multiple Entry ก็สามารถเข้า-ออกโครเอเชียได้เลยโดยไม่ต้องยื่นขอวีซ่า
+ ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศและข้อมูลเกี่ยวกับโครเอเชียได้ที่: http://www.croatia-center.com/14-about-croatia/12-thai-travel-visa.html
+ ส่วนบอสเนียและแฮร์เซโกวินา ในเมืองไทยไม่มีทั้งสถานทูตและสถานกงสุล แต่มีสถานเอกอัครราชทูตบอสเนียฯ ที่มาเลเซีย การยื่นขอวีซ่าจากที่นั่นน่าจะยุ่งยากและใช้เวลานาน คำแนะนำคือ ควรไปยื่นขอในประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นปลายทางของเที่ยวบินที่จะเดินทางไป เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีเที่ยวบินตรงจากเมืองไทยไปถึงบอสเนียฯ รวมทั้งสโลวีเนีย และโครเอเชีย
+ การยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศบอสเนียฯ จากประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มเชงเกนจะสะดวกและง่ายกว่า เนื่องจากมีวีซ่าเชงเกนอยู่แล้ว เพียงกรอกข้อมูลลงแบบฟอร์มของทางสถานทูตหรือกงสุล ยื่นพร้อมรูปถ่ายสำหรับวีซ่า (ซึ่งควรมีติดไปด้วยเสมอ) และเงินค่าธรรมเนียม
+ สกุลเงินของบอสเนียฯ คือ มาร์ก (Bosnia & Herzegovina Convertible Mark – BAM) อัตราแลกเปลี่ยน 1 มาร์ก = 17.02 บาท (ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2019)
+ สามารถดูข้อมูลการท่องเที่ยวและที่พักในบอสเนียฯ ได้ที่: http://www.bhtourism.ba/eng/touristinfo.wbsp