Site icon Spotlight Daily

SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre จุดบรรจบระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะการแสดง

เรื่อง : บิสโตร

               สิ่งซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขานถึงในวันนี้ คือ โรงละครลอยได้แห่งแรกของโลก ของ สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ สถานที่ทำการแสดงรูปแบบใหม่ของไทยที่เกิดขึ้นแล้ว บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ถนนเทพประสิทธิ์ พัทยา จังหวัดชลบุรี

                โรงละครลอยได้อันเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของสิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์นั้น มีที่มาจากเอกลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งของโลกมายา หรือศิลปะการแสดง นั่นคือคำว่า ‘Illusion’ หรือ ‘สิ่งลวงตา’ มาถ่ายทอดเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบ ซึ่ง ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร สถาปนิกของ บริษัท สถาปนิก A49 จำกัด ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ให้คำอธิบายว่า “เราเริ่มที่การตั้งคำถามว่า Key Project ของโครงการนี้คืออะไร หลังจากที่ได้โจทย์เบื้องต้นมา เราก็กลับไปศึกษาพอสมควร หนี่งในไอเดียเริ่มแรกท่ำทให้โปรเจ็กต์การแสดงนี้เกิดขึ้นก็คือ เทคโนโลยีที่เราเรียกว่า High Definition Projection Mapping ซึ่งเป็นการฉายกราฟิกเคลื่อนไหวลงไปเล่นกับพื้นผิวอาคาร ตลอดจนส่วนต่างๆ ของสถาปัตยกรรม สามารถทำให้จินตนาการเสมือนจริงขึ้นมาได้ เราเลยนึกถึงคำว่า Illusion แล้วเอาคำนี้ไปตั้งเป็นโจทย์ในการออกแบบ

                “สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างสิ่งลวงตานั้นคือ การสร้างขึ้นเพื่อที่จะให้เกิดผลอะไรสักอย่าง และต้องสร้างความประหลาดใจได้ในคราวเดียวกัน เราทำการบ้านกันเยอะมาก ออกแบบไว้หลายรูปแบบ ก่อนสุดท้ายที่จะเลือกเอา 4 ไอเดียที่เจ๋งจริงๆ มาทำเป็นแบบสถาปัตยกรรมจำลองเพื่อนำเสนอ”

                และไอเดียสุดท้ายที่ได้รับการเลือกให้นำมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจริงก็คือ ‘Levitating’ หรือ ‘การลอยตัว’ ซึ่งเป็นไอเดียที่เรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย และทรงพลังที่สุด ทั้งยังสื่อสารสิ่งลวงตาได้ดีและมีประสิทธิภาพ “เรานิยามสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ว่า เป็นโรงละครลอยได้แห่งแรกของโลก ตรงจุดนี้ หากพูดถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่กับการลอยได้แล้ว มันก็ค่อนข้างตื่นเต้นน่าสนใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินแล้ว ตอนเลือกไอเดียนี้มาพัฒนาต่อ เราก็ต้องศึกษาให้มั่นใจว่ามันจะเกิดผลได้จริงอย่างที่เราจินตนาการไว้ได้หรือเปล่า หรือจะทำอย่างไรให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ได้บ้าง พวกเรามองว่า ความเสมือนจริงคือเวทมนตร์ ถ้าทำให้คนทั่วไปมองแล้วรู้สึกว่ามันน่าอัศจรรย์ได้มากเท่าไรก็จะยิ่งดีเท่านั้น แน่นอนว่าอาคารขนาดนี้มันมีน้ำหนักอยู่แล้ว การลอยได้จริงคงเป็นไปได้ยาก แต่ทุกคนก็จะตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้มันเสมือนลอยได้ ตรงจุดนี้แหละที่ท้าทายความคิดมากๆ”

                นอกจากแนวความคิดโรงละครลอยได้แห่งแรกของโลกแล้ว เอกลักษณ์โดดเด่นอีกอย่างของสิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ ก็คือ บริเวณพื้นผิวด้านหน้าอาคาร (Façade) ที่สะท้อนเสน่ห์แห่งมายาได้ดีไม่แพ้กัน ความโดดเด่นของอาคารส่วนนี้คือ พื้นผิวที่พลิ้วไหวได้ราวเกลียวคลื่น ทำให้อาคารแลดูมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลลัพธ์นี้เกิดจากการนำเอาเทคนิก Kinetic Façade ที่กำลังเป็นเทรนด์ล้ำสมัยของโลกมาใช้ในการออกแบบนั่นเอง

                หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของพื้นผิวด้านหน้าอาคารของสิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ มันคือแผ่นอลูมิเนียมสีทอง ซึ่งได้รับการออกแบบขึ้นใหม่ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่สะท้อนเอกลักษณ์ของศิลปะไทยได้เป็นอย่างดี วัสดุที่เลือกใช้มีความทนทานแข็งแรง แถมยังมีน้ำหนักเบา ผิวเคลือบด้วยสารที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ ทั้งยังสะท้อนแสงได้ดี พลิ้วไหวปลิวขยับตามแรงลมอย่างอิสระ แผ่นอลูมิเนียมขนาดเล็กถูกนำมาแขวนเรียงรายอยู่เต็มผนังด้านหน้าเต็มพื้นที่กว่า 30,000 แผ่น เมื่อคราวสะท้อนแสงและพลิ้วไหวตามแรงลมนั้น ก็จะเกิดเกลียวคลื่นสีทองแวววาวระยิบระยับบนผืนอาคารที่งดงามตั่งจินตนาการ เป็นเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมที่น่าประทับใจ

                แรงบันดาลใจจาก ‘ปะเลง’

                ในส่วนของการออกแบบตกแต่งภายใน ผู้รับผิดชอบงานคือ บริษัท จาร์เค็น จำกัด มาร่วมถ่ายทอดจินตนาการสู่ภาพที่สัมผัสได้จริง และมีแรงบันดาลใจจากศิลปะการแสดงของไทยสมัยโบราณที่เรียกว่า ‘ปะเลง’ หรือการรำเบิกโรงของละครในยยุคเก่ามาสร้างเป็นคอนเส็ปต์

                “เมื่อศึกษาลึกลงไปเราจะพบว่า ปะเลงเกิดจากวัตถุประสงค์ง่ายๆ ก็คือ การปัดกวาดสถานที่ให้พร้อมก่อนการแสดง ซึ่งเสาแบนที่เป็นจอ LED ทั้งสองด้าน เราสื่อถึงผู้ร่ายรำที่จะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา” อรรถพล วิบูลยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบภายในของบริษัท จาร์เค็น จำกัดอธิบาย “บริเวณพื้นเรามีการใช้กระเบื้อง 2 ผิว แบบด้านและแบบมัน มาปูคละกันไปมาให้เกิดเส้นสายที่เหมือนการกวาดลานเบิกฤกษ์ก่อนที่จะต้อนรับผู้ชมเข้าสู่การแสดงด้านในต่อไป”

                ผลงานการออกแบบตกแต่งภายในอาคารสิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์นี้ สามารถคว้ารางวัล Silver Award สาขา Public Space จากเวที Singapore Interior Design Award (SIDA) ซึ่งเป็นเวทีภายในงาน SingaPlural Celebrating Design 2017 อีกด้วย

                จุดเด่นอีกอย่างของงานตกแต่งภายในก็คือ การนำเอาลายไทยที่ออกแบบขึ้นใหม่โดยเฉพาะ มาใช้ตามจุดสำคัญต่างๆ ซึ่งลายไทยนี้เป็นลวดลายเดียวกันกับที่ปรากฏในโลโก้ KAAN โดยถอดแบบมาจากลายขดขนหนุมานผสานกับลายกนกประยุกต์นั่นเอง จุดสำคัญที่ปรากฏลายไทยนี้ได้แก่ เพดานในส่วน Main Hall ที่ออกแบบไว้อย่างประณีตงดงาม การออกแบบตรงจุดนี้หยิบเอาเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทยอย่าง ‘ฐานย่อมุมไม้สิบสอง’ มาประยุกต์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตัวเพดานนั้นเกิดจากการนำเอาแผงอลูมิเนียม คอมโพสิต (Aluminum Composite) มาฉลุลาย ก่อนจะนำไปดัดโค้งแล้วซ้อนกันหลายแผ่นจนเกิดเป็นความงดงามที่ลงตัว ลูกเล่นที่เสริมความโดดเด่นของเพดานอีกอย่างคือ การจัดไฟที่ส่องมาจากด้านบนของเพดานลอดผ่านลายไทยฉลุ เกิดเป็นเทคนิกพิเศษที่สร้างความน่าสนใจให้กับเพดานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยการออกแบบแสงตรงจุดดังกล่าวเป็นฝีมือของ บริษัท วิธไล้ท์ จำกัด ที่มาร่วมสร้างสรรค์ความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้น

                อีกจุดน่าสนใจที่มีการนำเอาลายไทยไปใช้ในการตกแต่งคือ บริเวณผนังด้านในโรงละคร ซึ่งเป็นผนังไม้ที่ขุดเป็นรูเล็กๆ ให้เกิดเป็นลายไทยอันวิจิตร รูแต่ละรูนั้นจะฉาบสีทองลงไปคล้ายกับเทคนิกการลงรักปิดทองในสมัยโบราณ เพื่อให้เกิดเป็นลายไทยที่งดงามทรงคุณค่า สร้างเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์เฉพาะตัวให้กับโรงละครแห่งนี้

                ภูมิทัศน์ที่เชื่อมต่อจินตนาการ

                นอกจากนั้น การออกแบบภูมิทัศน์ของสถานที่ ยังได้ บริษัท แลนด์สเคป อาร์คิเทค 49 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท สถาปนิก A49 จำกัด มาร่วมดูแล โดยมีธีมการออกแบบภูมิสถาปัตย์ครั้งนี้คือ ‘Flow of Imagination’ หรือ ‘การเชื่อมต่อจินตนการ’ เพื่อให้ดูเป็นความเคลื่อนไหวที่ลื่นไหลต่อเนื่องกับตัวสถาปัตยกรรมหลัก

                คอนเส็ปต์ ‘การไหล’ นั้นถ่ายทอดออกมาเป็นการออกแบบในหลายรูปแบบ เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนลานกิจกรรมกลางแจ้ง ที่บริเวณพื้นได้รับการออกแบบให้มีความโค้งไปมาเหมือนสายน้ำไหล ทั้งยังมีการสอดแทรกเส้นสายลายโค้งลงไปเพื่อให้เกิดความรู้สึกพลิ้วไหวยิ่งขึ้น ทำให้เกิดพลังความเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่งและมีชีวิตชีวาตลอดเวลา ทั้งยังเป็นการนำสายตาตลอดจนนำผู้คนเข้าสู่โซนโรงละครอีกด้วย รายละเอียดของเส้นสายที่ปรากฏบนพื้นคือ การใช้เส้นสเตนเลสสีเงินวาวเดินเส้น ซึ่งในตอนกลางวันจะจับแสงและสะท้อนความแวววาวมีลูกเล่น ส่วนในตอนกลางคืนก็จะสะท้อนแสงสีจากไฟที่ให้ความรู้สึกแตกต่างออกไป

                สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ คือสถานที่ทำการแสดงขนาดใหญ่ ที่ออกแบบสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแสดงรูปแบบใหม่ของไทยอย่าง KAAN presented by Singha Corporation โดยเฉพาะ

               

                นวัตกรรมความบันเทิงระดับโลกแห่งแรกของไทย

                KAAN presented by SINGHA CORPORATION คือการแสดงสดผสมภาพยนตร์รูปแบบใหม่ครั้งแรกของเมืองไทย ที่รวมสุดยอดโชว์บนเวทีเข้ากับเทคนิกระดับโลก ดำเนินการบริหารโดย บริษัท ปัญลักษณ์พาสุข จำกัด มีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมความบันเทิงครั้งนี้เพื่อที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการแสดงของไทย และต้องการให้อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยก้าวไกลระดับโลก ตลอดจนสร้างให้สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านความบันเทิงแห่งใหม่ รวมถึงกลายเป็นแลนด์มาร์กระดับเวิลด์คลาสของไทย ที่โดดเด่นไม่แพ้ใครในระดับสากลด้วย

                KAAN Show ถือกำเนิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญศาสตร์และศิลป์สาขาต่างๆ อาทิ สิน-ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังจากค่าย GDH มาทำหน้าที่เป็น Producer & Artistic Director ให้กับโปรเจ็กต์ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับฯ ฝีมือดี ทำหน้าที่เป็น Director สร้างสรรค์เรื่องราวและกำกับการแสดงทั้งหมด บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ นายใหญ่จากค่าย Scenario นำประสบการณ์ด้านละครเวที มาทำหน้าที่ในการวางแผนควบคุม-ดูแลนักแสดง

                ป้อ-ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ นักประพันธ์เพลงภาพยนตร์มือรางวัล มาทำหน้าที่ดูแลดนตรีประกอบให้กับโชว์ทั้งหมด ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน จาก RIFF Studio ที่เคยฝากฝีมือแอนิเมชั่นในเวทีโลกมาแล้ว คราวนี้ก็เช่นกัน มาทำหน้าที่ถ่ายทอดจินตนาการสู่แอนิเมชั่นสุดล้ำ หรือ สุเทพ จับสี คนเบื้องหลังโฆษณาจากบ้านริก สตูดิโอ มาทำหน้าที่ด้านรอกและสลิง ตลอดจนอุปกรณ์สเปเชียล เอ็ฟเฟ็กต์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงทั้งหมด เป็นต้น

                ส่วนนักแสดงที่มาร่วมในโชว์นี้ก็ล้วนเชี่ยวชาญและช่ำชองกับเวทีระดับโลกเช่นกัน อย่างเช่น ทีมนักเต้น B-Boy ที่เคยคว้าแชมป์ในระดับเอเชียและมีประสบการณ์การแข่งขันในเวทีโลก ทีมนักเล่นกล้าม Street Workout ที่เคยผ่านเวทีประกวดชื่อดังระดับเอเชียอย่าง Asia’s Got Talent Season 1 คณะนักแสดงที่เคยผ่านการแสดงโขนพระราชทาน นักดาบไทยที่เคยคว้าแชมป์ระดับประเทศหลายสมัย นักเต้น Popping อันดับที่ 16 ของโลก นักบัลเลต์ที่เคยผ่านเวทีแสดงทั้งในประเทศและระดับสากล หรือเด็กปั๊มที่มีความสามารถในการเล่น Free Running และเต้น B-Boy ระดับประเทศ…

                ตลอด 90 นาทีของโชว์ ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนต้องมนต์เสน่ห์แห่งแฟนตาซี ด้วยความสามารถอันน่าอัศจรรย์ของเหล่านักแสดงกว่า 90 ชีวิต พร้อมด้วยทีมงานคุณภาพที่เคยผ่านการสร้างสรรค์งานระดับโลกมาแล้ว สัมผัสเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาส พร้อมความสมบูรณ์แบบของระบบแสง สี เสียงที่ดีที่สุด รวมถึงระบบฉายโปรเจ็กเตอร์ที่ครบเครื่องที่สุดในเอเชีย ฉายภาพลงบนพื้นที่ขนาดใหญ่รวมกว่า 1,500 ตารางเมตร และมีฉากหลังสูงเทียบเท่าตึก 4 ชั้น นอกจากนั้นผู้ชมยังจะได้ตื่นตากับพลังสายฟ้าพิฆาต Tesla Coil ตื่นใจกับงานดีไซน์สุดลังการบนเวที และตื่นตะลึงกับหุ่นยนต์ยักษ์ Animatronics ที่มีขนาดสูงถึง 8 เมตร

                KAAN presented by SINGHA CORPORATION เปิดการแสดงที่สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ รอบ 17.00 น. และ 21.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ บัตรราคา 2,500 / 3,000 / 4,000 บาท

                สอบถามข้อมูลการแสดง สำรองที่นั่ง ราคาแพ็กเกจ รวมถึงโปรโมชั่น และการเดินทางได้ที่โทร. (02) 029-0092 เว็บไซต์: www.kaanshow.com  เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/kaanshow            

 

Facebook Comments Box
Exit mobile version