เรื่อง: บุญโชค พานิชศิลป์

               แม้ว่าโศกนาฏกรรม 9/11 จะผ่านพ้นมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม แต่ภาพจำและความหวาดกลัวของผู้คนในโลกตะวันตกยังคงอยู่ โดยเฉพาะความระแวง สงสัยในมุสลิม ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในทุกเหตุการณ์ก่อการร้าย

                ตอนต้นเรื่องมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่อาคารที่พักอาศัยในกรุงเบอร์ลิน เป็นระเบิดบรรจุกล่องพัสดุที่หัวหน้าครอบครัวหนึ่งเป็นคนเซ็นรับแทนเพื่อนบ้าน และเป็นเหตุให้ครอบครัวของเขาประสบเคราะห์ร้าย เหลือรอดชีวิตเพียงเขากับลูกสาว

                ‘มักซี’ (นำแสดงโดย ลูนา เวดเลอร์) ลูกสาวที่รอดตายเพราะไปขลุกอยู่ที่บ้านเพื่อน ตกอยู่ในภาวะโศกเศร้า เธอสูญเสียแม่และน้องแฝด เธอหวาดกลัว โกรธ แต่ไม่ได้ซัดโทษความผิดไปที่กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงเสียทีเดียว เธอเติบโตขึ้นในครอบครัวสังคมนิยมเสรี ในอดีตพ่อและแม่ของเธอเคยวางแผนเดินทางไปช่วยผู้ลี้ภัยชาวลิเบียออกจากค่ายผู้อพยพที่บูดาเปสต์เข้าประเทศเยอรมนี แบบที่หนังเผยไว้ตอนเปิดเรื่อง

                ความสับสนและโกรธแค้นของเธอถูกระบายลงที่คนเป็นพ่อซึ่งกำลังหดหู่ สิ้นหวัง เมื่อหาทางออกไม่เจอมักซีก็โผไปหา ‘คาร์ล’ (นำแสดงโดย ยันนิส นีเวอห์เนอร์) หนุ่มแปลกหน้าที่แสดงเจตนาจะชักชวนเธอให้ไปเข้าร่วม ‘Summer Academy’ ของกลุ่ม Re/Generation Europe ที่จะจัดขึ้นที่กรุงปราก เมื่อถึงจุดแตกหักกับพ่อ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปตามคำชักชวนของคาร์ล

                ที่กรุงปราก บรรยากาศของแคมป์ฤดูร้อนละม้ายงานปาร์ตี้ของคนหนุ่ม-สาว ดื่มกิน สังสรรค์ เคลิบเคลิ้มกับดนตรีบนเวที สลับกับการปราศรัยเกี่ยวกับการขึงเส้นเขตแดนยุโรป โทษประหารสำหรับผู้ก่อการร้าย และปกป้องเผ่าพันธุ์ผิวขาว

                มันคือแคมป์หรือการพบปะกันของบรรดานีโอนาซี ที่ห่มพรางด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ มีอินฟลูเอ็นเซอร์และฟอลโลเวอร์แทนกลุ่มคนสวมรองเท้าบูตหนังและแจ็กเก็ตบอมเบอร์ ใครบางคนตะโกน “ซีก ไฮล์!” (Sieg Heil!) ระหว่างที่คาร์ลปราศรัย แต่เขาก็ตอบกลับอย่างสุภาพว่า “นั่นมันสมัยก่อน ลืมไปเสียเถอะ”

                คาร์ล ตัวแทนของนีโอนาซียุคใหม่ เป็นหนุ่มหน้าตาดี เรียนจบมหาวิทยาลัย พูดได้หลายภาษา มีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม และมีเป้าหมายที่การกุมอำนาจ รูปลักษณ์และกิริยาภายนอกของเขาไม่ได้บ่งบอกอะไร แต่ทุกแผนการกระทำเป็นที่รับรู้กันในแวดวงของเขาเอง              

                มักซีเองก็รู้จักคาร์ลแค่เพียงผิวเผินภายนอก เราซึ่งเป็นผู้ชมเสียอีกที่รู้จักคาร์ลมากกว่าเธอรู้จักเมื่อผู้กำกับฯ คริสเตียน ชโวคอฟ (Christian Schwochow) แย้มพรายให้เรารู้ว่า คาร์ลคือชายที่อำพรางตัวเป็นคนส่งพัสดุไปที่บ้านของมักซี เขาคือผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุ และเรายังรู้อีกว่าเขาพยายามเข้าถึงตัวเธอเพื่อโน้มน้าวให้เธอเชื่อว่า เหตุร้ายทั้งหมดนั้นเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม

                Je suis Karl เป็นเสมือนเสียงปลุกของผู้หยั่งรู้ที่เชื่อว่าพายุกำลังใกล้เข้ามา และรู้สึกสิ้นหวังที่ผู้คนไม่แยแสรับรู้ถึงสัญญาณที่ชัดเจน นั่นคืออันตรายจากแนวความคิดของกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรง ที่พยายามแทรกซึม ปลุกเร้าคนหนุ่ม-สาวให้คล้อยตามแนวความคิด

                เราอยู่ในยุคสมัยที่ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และฝ่ายคลั่งศาสนากำลังต่อสู้ด้วยอาวุธที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังมีวิธีการโฆษณาชวนเชื่อที่แทบไม่แตกต่างกันเลย

                ภยันตรายจากแนวคิดแบบขวาจัดเราสามารถรับรู้ได้จากข่าวสารทั่วยุโรป อย่างเช่นการวางเพลิงในค่ายผู้อพยพที่กรีก การปิดพรมแดนเพื่อยับยั้งการอพยพของผู้ลี้ภัยในโปแลนด์และลิธัวเนีย หรืออาชญากรรมอันเกิดจากการเหยียดเชื้อชาติศาสนาที่กลายเป็นเรื่องประจำวันในเมืองต่างๆ ของยุโรป

                จากกรุงปราก มักซีติดตามคาร์ลต่อไปยังสตราสบูร์ก เพื่อไปสมทบกับทีมงานหาเสียงของพรรค ‘Pour’ พรรคการเมืองขวาจัดของฝรั่งเศส ถ้าจะเปรียบเทียบกับโลกของความเป็นจริงก็น่าจะเป็นพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Rally) ที่ก่อตั้งโดยฌอง-มารี เลอ ปอง (Jean-Marie Le Pen) เจ้าของนโยบายชาตินิยมสุดโต่งว่าด้วย “ฝรั่งเศสต้องมาก่อน”

                ฝ่ายขวาจัดหัวรุนแรงในฝรั่งเศสที่ให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติดูจะเปิดเผยตัวชัดเจนกว่ากลุ่มสนับสนุนพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative für Deutschland, AfD) ที่มีแนวทางการเมืองอคตินิยมเกี่ยวกับสหภาพยุโรปและต่อต้านผู้อพยพเข้าเมือง

                หลังจากมักซีมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคาร์ล เธอจึงตัดสินใจเป็นตัวแทนเหยื่อของการก่อการร้าย พร้อมที่จะบอกเล่าความรู้สึกและความสูญเสียของตนจากเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงเบอร์ลิน อย่างที่คาร์ลคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้น โดยไม่ได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่าเธอเป็นเพียงหมากเล่นที่ถูกฝ่ายการเมืองหลอกใช้

                ฝ่ายคาร์ลเองยอมทุ่มเทมากกว่านั้น ในการจัดฉากและสร้างสถานการณ์ให้ดูรุนแรง เพื่อปลุกเร้าแนวร่วม ก่อกระแสในโลกโซเซียล

                ตัวละครที่เหลือในฉากตอนท้ายมีโอกาสได้เห็นเบื้องหลัง เช่นเดียวกับเราที่เป็นผู้ชม สามารถรับรู้ได้ว่าทั้งหมดนั้นคือแผนทางการเมือง แต่ถ้าเราสะท้อนถึงโลกแห่งความเป็นจริง ฉากเดียวกันนั้นอาจปลุกเร้าคนที่เฝ้าติดตามสื่อโซเซียล ให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังและแตกแยกได้    

                “เราร่อนเร่ไป กึ่งสูญหาย กึ่งล้มตาย เราคือลูกหลานของคุณ เสียงในหัวของคุณ เชื่อในความแข็งแกร่งของเรา ไหลลงราวกับทราย เราอยากจากไป และก็อยากมีชีวิต…”

                บทเพลงหนึ่งในหนังชวนให้หลับตานึกภาพถึงพลังอันบริสุทธิ์ของหนุ่ม-สาว และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลง หากว่ามันปราศจากเล่ห์เหลี่ยมหรือความรุนแรงเหมือนเรื่องราวในหนังเรื่องนี้เสียแล้ว เราก็อาจจะพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้

                ปัญหาเรื่องฟาสซิสต์ และนีโอนาซีในเยอรมนีและยุโรปอาจจะยังไม่สาบสูญไปง่ายๆ แต่เพื่อการก้าวต่อไปของสังคม พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

                บางทีอาจจะด้วยการยอมรับว่า “ถิ่นกำเนิดก็จริง แต่ไม่ใช่ชาตินิยม”

ชื่อของหนัง Je suis Karl เป็นการพาดพิงถึงเสียงร้องของการต่อสู้และการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ร่วมงานของนิตยสารฝรั่งเศสแนวเสียดสี Charlie Hebdo ที่ตอบโต้การโจมตีของกลุ่มอิสลามิสต์เมื่อปี 2015 หนังเรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนี เปิดฉายรอบปฐมฤกษ์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ก่อนเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อกลางเดือนกันยายน 2021 และสตรีมมิงทาง Netflix

Facebook Comments Box