เรื่อง: บุญโชค พานิชศิลป์

                คนเยอรมันชอบดูและอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากรรม ฟังดูน่าแปลกที่พวกเขานิยมปลูกฝังการรับรู้กันด้วยเรื่องฆาตกรรมที่เลวร้าย แต่ความจริงแล้วอาชญากรรมระทึกขวัญทั้งหลายกลับทำให้คนเยอรมันรู้สึกอุ่นใจ เพราะใครที่ดูหรืออ่านล้วนไม่ได้คาดคิดว่าจะเจอกับเรื่องที่ผิดจากความคาดหวัง ต่อให้มันเป็นเรื่องโหดร้ายน่าสยดสยองแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็รู้ว่า ความดีย่อมชนะความชั่ว

                โครงสร้างของเรื่องอาชญากรรมที่คนเยอรมันมักคุ้นมักเป็นไปตามรูปแบบเดียวกัน เริ่มจากการฆาตกรรม ผู้ต้องสงสัย การสืบสวน และปิดท้ายที่การหาตัวคนผิดเพื่อมารับโทษได้ เมื่อความดีชนะความชั่ว โลกก็จะกลับสู่สมดุลและปลอดภัยอีกครั้ง

                ‘Tatort’ (สถานที่เกิดเหตุ) เป็นซีรีส์อาชญากรรมหนึ่งในตำนานของเยอรมนี (ตะวันตก) ที่เริ่มแพร่ภาพออกอากาศทางสถานี ARD มาตั้งแต่ปี 1970 จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 1,100 ตอน และมีผู้ชมแต่ละตอนสูงสุดถึงกว่า 10 ล้านครัวเรือน ในยุคที่สื่อออนไลน์ยังไม่แจ้งเกิด ทุกวันอาทิตย์เวลาสองทุ่มสิบห้านาทีมักจะมีแสงสีฟ้าของจอทีวีเล็ดลอดออกมานอกหน้าต่างของอพาร์ตเมนต์ส่วนใหญ่ นั่นคือช่วงไพร์มไทม์ของซีรีส์ ‘Tatort’

                เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอใหม่ เป็นชุดสืบสวนคดีอาชญากรรมจากรัฐต่างๆ ของเยอรมนีเข้ามาร่วมบทบาท นอกจากนั้นยังมีการร่วมผลิตกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส โครเอเชีย ไปจนถึงตุรกี

                กระทั่งสื่อออนไลน์เริ่มเข้ามามีบทบาท อีกทั้งแนวคิดของคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิม เช่น การเผยด้านลบในมุมส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผิดความคาดหมายของผู้ชมรุ่นเก่าก่อน หรือฉากเซ็กซ์ ฉากโป๊เปลือยที่บางครั้งเกินความจำเป็น กลายเป็นที่ไม่พอใจของผู้ชมแนวคอนเซอร์เวทีฟ ความนิยมของ ‘Tatort’ จึงค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลา

                ผู้ชมที่ผิดหวังสามารถส่งเสียงวิจารณ์ดังๆ ได้ เพราะชาวเยอรมันทุกครัวเรือน หรือบุคคลที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีมีที่พักเป็นของตนเอง ที่ครอบครองวิทยุ ทีวี จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย อัตราล่าสุด 18.36 ยูโร (ราว 710 บาท) ต่อเดือน แต่เจ้าของเงินตะโกนแล้วคนผลิตจะฟังแล้วปรับเปลี่ยนหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่อง

                ‘Dogs of Berlin’ (2018) เป็นผลงานการกำกับฯ ของคริสเตียน อัลฟาร์ต (Christian Alvart) ที่เคยมีประสบการณ์กับซีรีส์ ‘Tatort’ มาก่อน ‘Dogs of Berlin’ ซีซันแรก ทั้งสิ้น 10 ตอน เริ่มสตรีมมิงทาง Netflix ตั้งแต่ปลายปี 2018 และเป็นซีรีส์เรื่องที่สองต่อจาก ‘Dark’ ประเด็นหลักอยู่ที่ตำรวจสองนาย คนหนึ่งมัวเมาอบายมุข อีกคนมือสะอาด ต้องมาร่วมมือกันต่อสู้กับแก๊งมาเฟียในเบอร์ลิน

เรื่องเริ่มในค่ำวันหนึ่งที่มีการพบศพของ ‘ออร์คาน แอร์เด็ม’ นักฟุตบอลตัวหลักของทีมชาติเยอรมนีที่มีเชื้อสายตุรกี ซึ่งกำลังจะมีนัดลงแข่งกับทีมชาติตุรกีในวันถัดมา ‘ควร์ต กริมเมอร์’ (นำแสดงโดย เฟลิกซ์ คราเมอร์) ตำรวจสายดาร์กบังเอิญอยู่ใกล้บริเวณนั้น จึงเข้าไปชี้นำให้เจ้าหน้าที่ในที่เกิดเหตุแค่เฝ้าระวัง และรอเขากลับมา ก่อนจะผละออกจากบริเวณนั้นเพื่อไปทำธุระส่วนตัว

                ธุระที่ว่าคือการไปรวบรวม(ขโมย)เงินจากสโมสรของกลุ่มขวาหัวรุนแรงที่น้องชายของเขาเป็นประธานอยู่ เพื่อนำเงินไปแทงบอลฝั่งทีมชาติตุรกี เพราะขณะนั้นเขารู้แล้วว่า ขาดตัวเล่นหลักของทีมเยอรมนี อย่างไรเสียก็ต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

                ควร์ต กริมเมอร์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเบอร์ลินที่ปฏิบัติงานในหน้าที่โดยมิชอบ เขาติดพนัน และนอกใจภรรยา เป็นตำรวจในแบบที่ผู้ชมรุ่นเก่าไม่ทางยอมรับได้ นอกจากนั้นเขายังมีประวัติเอียงข้างไปกับกลุ่มขวาหัวรุนแรง เหตุเพราะทั้งพ่อและแม่ของเขาเคยเป็นตัวตั้งตัวตีของกลุ่ม

                ส่วน ‘เอโรล เบียร์คาน’ (นำแสดงโดย ฟาห์รี ยาร์ดิม) ตำรวจลูกครึ่งเยอรมัน-เติร์ก ถูกดึงตัวเข้าร่วมกระบวนการสืบสวนคดีฆาตกรรมด้วย เพราะว่ามีเชื้อสายตุรกี น่าจะทำงานประสานกับฝ่ายญาติของผู้ตายซึ่งมีเชื้อสายตุรกีได้ง่ายกว่า แต่ก็ด้วยความไม่สมัครใจ สาเหตุจากความไม่ลงรอยกันกับเพื่อนร่วมงานนั่นเอง

                เอโรล เบียร์คานเติบโตมาในย่าน ‘ไคเซอร์วาร์เต’ ที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดในความดูแลของแก๊งชาวเติร์ก เขาจึงมีความมุ่งมั่นที่จะรวบตัวแก๊งค้ายาแก๊งนี้ให้ได้ ในมุมชีวิตส่วนตัวเขาอยู่กินกับเกย์ซึ่งเป็นคนรักชาวเยอรมัน ผ่าเหล่าผ่ากอจากวัฒนธรรมประเพณีของพ่อ อีกทั้งยังเป็นประเด็นให้ถูกเหยียดจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นตำรวจด้วย

                เบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีไม่ต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆ ของโลก ที่เต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำ และการเหยียดสีผิวเชื้อชาติ ในซีรีส์ ‘Dogs of Berlin’ เล่าถึงปัญหาอาชญากรรมผ่านแก๊งมาเฟียสองตระกูล (Clan) คือวงศ์วานของสองพี่น้อง ‘ทาริค-อาเมียร์’ เชื้อชาติตุรกีที่เน้นธุรกิจยาเสพติดเป็นหลัก และ ‘โควัตช์’ เชื้อชาติบอลข่านที่คุมธุรกิจการพนัน จากความมักใหญ่ใฝ่สูงของอาเมียร์-รองหัวหน้าแก๊งที่คิดหักหลังพี่ชายไปร่วมธุรกิจกับฝ่ายโควัตช์ ทำให้ต้องห้ำหั่นกันเองภายในแก๊ง และฝ่ายตรงข้าม

                สำนักงานตำรวจอาชญากรรมแห่งสหพันธรัฐ (BKA) ให้คำจำกัดความของ Clan กลุ่มอาชญากรว่าเป็น ‘วัฒนธรรมย่อยที่แยกตัวจากชาติพันธุ์’ ที่เกิดขึ้นในลักษณะปิตาธิปไตยและลำดับชั้นการปฏิบัติงานตามชุดค่านิยมของตนเอง ซึ่งมีกันหลายกลุ่มหลายแก๊งตามเมืองใหญ่ๆ ของเยอรมนี จากรายงานของสำนักงานตำรวจรัฐนอร์ดไรห์น-เวสต์ฟาเลียเมื่อปี 2019 พบว่า อาชญากรรมราว 14,000 คดีมีแก๊งมาเฟียอยู่เบื้องหลัง กลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นคนเชื้อชาติเยอรมันเอง ที่เหลือคนที่มีพื้นเพจากเลบานอน ตุรกี และซีเรีย

                ปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติเองก็เด่นชัดใน ‘Dogs of Berlin’ ซึ่งมีกลุ่มนีโอนาซี ‘สหายมาร์ซาห์น’ เป็นแรงขับ ในโลกความเป็นจริงก็มีกลุ่มคนประเภทนี้ในเยอรมนี เพียงแต่ไม่กร่างถึงขั้นยกพวกไปตีกับกลุ่มคนชาติพันธุ์อื่นเหมือนยุคสมัยก่อน เท่าที่พบเห็นได้ก็มีเข้าไปปะปนกับกลุ่มประท้วงประเด็นการเมือง อย่างล่าสุดก็เข้าไปแจมกับผู้เห็นต่างรัฐบาลเรื่องมาตรการล็อกดาวน์

                ความเกลียดชังสายพันธุ์ที่แตกต่างของกลุ่มนีโอนาซีนั้น เราสามารถเห็นได้จากสีหน้าและแววตาของตัวละครใน ‘Dogs of Berlin’ ระหว่างเชียร์บอลทีมชาติเยอรมนี ที่สมาชิกทีมเกือบครึ่งเป็นเชื้อชาติผสม ธงนำหน้าคือชัยชนะของชาติ แต่ความยินดีปรีดากลับถูกหักกลบด้วยความจริงที่ว่า ทีมชาติของพวกเขาไม่ใช่สายเลือดเยอรมันเต็มร้อย ใช่แล้ว มันผะอืดผะอม และถ้าทีมชาติของพวกเขาต้องพบกับความปราชัย ความผิดทั้งหมดจะถูกโยนไปที่ตัวผู้เล่นต่างเผ่าพันธุ์ เหมือนที่เคยเป็นข่าวว่า เมซูต เออซิลถูกทัวร์ชาวเยอรมันถล่ม หลังจากทีมชาติพ่ายแพ้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อปี 2018    

                ‘Dogs of Berlin’ ไม่ได้เป็นซีรีส์ยกระดับหนังอาชญากรรมของเยอรมนี สื่อดังหลายสำนักไม่ได้ยกนิ้วให้ จะมีก็เพียงหนังสือพิมพ์ Taz ซึ่งก็แมสส์อยู่ เขียนชมว่า “ไม่เหมือนจริง แต่ดี” แปลว่าก็ไม่เลว ส่วน IMDb ให้เรตที่ 7.6/10

                เน็ตฟลิกซ์เคยแจ้งข่าวว่า ‘Dogs of Berlin’ ซีซัน 2 จะสตรีมช่วงปลายปีนี้ แต่จะมาจริงหรือไม่ต้องตามข่าวกันอีกที

Facebook Comments Box