Site icon Spotlight Daily

รักน้องมาเรียมต้องชม! “ศิลปะของฆาตกรแห่งท้องทะเล”

รักน้องมาเรียมต้องชม! “ศิลปะของฆาตกรแห่งท้องทะเล”
ผ่านผลงาน นักศึกษา สถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมอันแสนเจ็บปวด

            “ฆาตกรแห่งห้วงสมุทร” (Ocean Killer) ผลงานชิ้นเอกที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ กับการปล่อยภาพ 4 ภาพแรก ก่อนจะนำเสนอในนิทรรศการศิลปนิพนธ์ประจำปี 2562 นี้ ฆาตกรแห่งห้วงสมุทร (Ocean Killer) เป็นผลงานการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ไม่ทิ้งขยะในทะเล โดยเล่าเรื่องผ่านภาพทั้งหมด 6 ภาพ ที่บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดผ่านสัตว์นักล่าอย่าง “ฉลาม” ยังต้องยอมสยบให้กับฆาตรกรไร้ชีวิตอย่าง “ขยะพาสติก”

             พีรพัฒน์ ประสานพานิช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เจ้าของผลงาน “ฆาตกรแห่งห้วงสมุทร” หรือ Ocean Killer หนึ่งใน 42 ผลงานศิลปนิพนธ์ ของภาควิชานิเทศศิลป์ สจล. ที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการจบบริบูรณ์ของนักศึกษา โดยผลงานศิลปนิพนธ์เหล่านี้ล้วนบอกเล่าเรื่องราวและแง่มุมต่างๆ ที่สะท้อนมุมมองของสังคม และพูดถึงหนทางสู่วันข้างหน้าที่ดีกว่าผ่านงานออกแบบสร้างสรรค์

“ผมเกิดและเติบโตในพื้นที่ที่มีทะเล ได้เห็นพัฒนาการของทะเลในห้วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ความเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จากการใช้ประโยชน์อย่างไม่ระมัดระวังและไม่ได้คิดถึงอนาคต สู่การเริ่มต้นการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านภาพ เพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความรุนแรงจากขยะที่มีต่อท้องทะเล”

            ทะเลไทยถูกจัดอันดับให้เป็นทะเลที่มีขยะมากที่สุดในโลก อันดับที่ 6 จากตัวเลขของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยขยะที่พบมากที่สุดในทะเลไทยคือ ถุงพลาสติก 18% แก้วหรือขวดพลาสติก 17% โฟมหรือ ภาชนะใส่อาหาร 9% หลอด 7% เศษเชือกหรือเศษอวน 5% และกระป๋องน้ำ 4% ซึ่งที่มาของขยะกว่า 80% มาจากแหล่งทิ้งขยะบนฝั่งบริเวณท่าเรือ หรือชุมชนริมทะเล รวมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวและการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทะเล นิทรรศการจบบริบูรณ์ของนักศึกษา จะพาไปเปิดความหมาย 3 ภาพ หยุดความรู้สึก กับความเจ็บปวดของสัตว์ทะเลจากฆาตกรแห่งห้วงสมุทร

            มัจจุราชพลาสติก  “ฉลาม” สัตว์ที่ถูกยกให้เป็นนักล่าแห่งท้องทะเล ถูกนำมาประกอบในภาพนิทรรศการในครั้งนี้ โดยบอกเล่าผ่านความเจ็บปวดของนักล่าที่ถูกคุกคามจากฆาตกรไร้วิญญาณ อย่างขวดน้ำหรือแก้วน้ำพาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล จากพฤติกรรมมักง่ายของมนุษย์ ซึ่งขวดน้ำพาสติกเหล่านี้ต้องการเวลา สำหรับย่อยสลายตัวเองยาวนานถึง 450 ปี หรือกว่า 4 เท่าของชีวิตคนหนึ่งคน และสัตว์ทะเลมักเข้าใจผิดว่าขยะเป็นอาหารของพวกเขา แต่แท้จริงแล้วคือมัจจุราชที่จะมาปิดชีวิตไปตลอดกาล

            หญ้าทะเลไร้ชีวิต หลอด กับ เต่าทะเล ถูกรณรงค์คู่กันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ผ่านทั้ง ภาพ เสียง วิดีโอ เรื่องเล่า ฯลฯ ถึงมหันตภัยที่มักจะกลืนกินชีวิตจากแสนยาวนานของเต่าทะเล ให้สั้นลงชั่วข้ามคืน ข่าวความสูญเสียของเต่ากับหลอดเราพบเห็นได้ตลอดเวลา แม้ปัจจุบันจะมีการรณรงค์อย่างจริงจัง ในการห้ามการใช้หลอดพาสติกบริเวณริมทะเลและชายหาด ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่า ความยากลำบากในการใช้ชีวิตของเต่าทะเล ที่สุดท้ายหลอดกับหญ้าทะเลเต่าเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกได้ แล้วมนุษย์อย่างเราจะหยิบยื่นหลอดให้เต่ากินได้ลงคอหรือ

            โซ่ตรวนตัดชีวิต จากการสำรวจพบว่า “แมวน้ำ” เสียชีวิตจากเศษซากอวนและเชือกจากการทำประมงของมนุษย์สูงที่สุด ภาพนี้ถูกสื่อสารให้เห็นถึงความรุนแรง ที่สัตว์เหล่านี้ถูกกระทำจากการใช้ชีวิตปกติของพวกเขา ความรุนแรงเหล่านี้มาจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์ แต่ได้ทำลายชีวิตของสัตว์ไปนับไม่ถ้วน ภาพเหล่านี้จึงถูกใช้เป็นส่วนหนึ่ง ในการถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวด จากฆาตกรเลือดเย็นแทนสัตว์ทะเลเหล่านี้

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้ออกแบบการเรียนการสอน ให้นักศึกษาเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ในสิ่งที่แต่ละบุคคลสนใจ และความถนัดที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาแสดงความสามารถและถ่ายทอดสิ่งที่เรียนมาสร้างประโยชน์สู่สังคมโลก การถ่ายทอดข้อความใดๆ ก็ตามสักหนึ่งข้อความ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การเขียน หรือการเล่าแบบออกเสียง “ภาพ” ถูกนำมาใช้ในการสื่อความหมายเช่นเดียวกัน หัวใจหลักของการออกแบบสารหรือข้อความ เพื่อสื่อสารกับสังคมนั้น คือการออกแบบให้เข้าถึงและกุมความรู้สึกของผู้รับสาร ภาพเหล่านี้ถูกนำเสนอแทนเสียงร้องของสัตว์ทะเล ต่อการคุกคามและหยิบยื่นความแต่แก่พวกเขา โดยมนุษย์ผู้ไร้ความรับผิดชอบ

            ทั้งนี้ สจล. ต้องการสร้างบัณฑิตที่สมบูรณ์แบบ ไม่เพียงแค่การมีวิชาความรู้ติดตัวไปสู่โลกแห่งการทำงาน แต่นิทรรศการจบบริบูรณ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตย์ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้หล่อหลอมให้พวกเขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติ ตั้งคำถามและออกแบบสร้างสรรค์สังคมตามความถนัดของพวกเขา คิดค้นและพัฒนาสิ่งต่างๆ รอบตัวและใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของการเป็นสถาบันฯ รากฐานนวัตกรรมเพื่อสังคม จากฝีมือคนไทย ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวทิ้งท้าย

            สำหรับผู้ที่พลาดการชมผลงานในปีนี้สามารถชมได้ใหม่ในช่วงมิถุนายน 2020 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทาง www.facebook.com/archkmitl สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111

Facebook Comments Box
Exit mobile version