Site icon Spotlight Daily

‘พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์’ ย่านบันเทิงยามราตรีแห่งนี้มีตำนาน

                พัฒน์พงศ์ นับเป็นย่านที่จัดจ้านและน่าค้นหามากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของธุรกิจ ที่การจราจรมักคับคั่งทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งโลกีย์ รวมทั้งแหล่งช้อปปิ้งสินค้าก๊อปปี้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

                วันนี้พัฒน์พงศ์กำลังถูกภัยโควิด-19 คุกคาม ภาพชีวิตยามราตรีที่เคยพลุกพล่าน คับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวจางหายไป ผับบาร์ที่เคยส่งเสียงและสาดสีสันพากันปิดเงียบตามมาตรการล็อกดาวน์ แทบกลายสภาพเป็นถนนร้างในยามค่ำคืน

                อาคารหลังเก่าที่ก่อนเคยเป็นบาร์ในซอยพัฒน์พงศ์ 2 ได้รับการดัดแปลงให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์’ มีพื้นที่ 300 ตารางเมตร จัดแสดงเอกสารและสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุคสมัยสงครามเย็น ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตรัสเซียและจีนเป็นแกนนำ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับย่านพัฒน์พงศ์ จากอดีตตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเป็นศูนย์กลางพาณิชย์ จนกระทั่งถึงยุคเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นโลกียสถาน

                ‘พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์’ ก่อตั้งโดยไมเคิล เมสเนอร์ (Michael Messer) ชาวออสเตรียน ที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่พ่อเป็นศิลปิน และเคยดูแลพิพิธภัณฑ์ที่บ้านเกิด ก่อนที่โชคชะตาจะพาเขามาที่ประเทศไทย พบรัก และแต่งงานสาวไทย กระทั่งตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ และเริ่มประกอบธุรกิจร้านอาหารในย่านพัฒน์พงศ์

                ตลอดเวลาที่คลุกคลีอยู่กับย่านนี้ เขาได้สัมผัสประสบการณ์จากลูกค้าขาประจำที่ล้วนมีเรื่องเล่าไม่ธรรมดา และมีจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นทหารผ่านศึกจากช่วงสงครามเวียดนาม บ้างเคยเป็นสายสืบให้กับซีไอเอ บ้างก็เป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในละแวก เขาจึงเริ่มมีไอเดียในการสะสมร่องรอยประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 ปี รวมถึงเกร็ดประวัติ ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับถนนพัฒน์พงศ์ ย่านบันเทิงยามราตรีเก่าแก่และมีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมีความผูกพันในเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างชาวไทยและอเมริกัน

                ภายในพิพิธภัณฑ์จัดสรรพื้นที่จัดแสดงเป็นโซนต่างๆ บอกเล่าตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของพื้นที่และเจ้าของพื้นที่ – หลวงพัฒน์พงศ์พานิช (ตุ้น แซ่ผู่) ชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาเมืองไทย สู้ชีวิตด้วยการตรากตรำทำงานหนัก จนได้รับสัมปทานทำเหมืองดินขาวส่งให้ปูนซิเมนต์ไทย

                ไล่เรียงมาจนถึงรุ่นลูก-อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ผู้ริเริ่มพัฒนาที่ดินของครอบครัว ตัดถนนผ่ากลางที่ดินของตนเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ และตั้งชื่อว่า ‘ซอยพัฒน์พงศ์’ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มของการเข้ามาของธุรกิจจากต่างชาติ ไม่ว่าบริษัท IBM บริษัทน้ำมัน หรือสายการบินจากทั่วโลก ที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านนี้ ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนพ้องที่เป็นเจ้าหน้าที่ของซีไอเอ

                สำนักงานของซีไอเอแฝงตัวอยู่ในอาคารพาณิชย์ใจกลางย่าน ในยุครัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซง เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ให้ตกไปอยู่ในอุ้งมือของฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎี ‘โดมิโน’ ที่พวกเขาเชื่อว่า ถ้าหมากตัวหนึ่งล้มมันจะกระทบต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน

                ก่อนจะมาถึงยุคบันเทิงยามราตรี อันเป็นจุดเปลี่ยนของย่านพัฒน์พงศ์ในช่วงกลางทศวรรษ ’70 และต้นยุค ’80 เมื่อบริษัทต่างชาติเริ่มย้ายออกจากพื้นที่ เช่นตอนที่ IBM ย้ายไปก็มีไนต์คลับ Superstar Disco ผุดขึ้นมาแทน และมีบาร์อะโกโก้แห่งแรกในเมืองไทยเกิดขึ้นที่นี่

ในอีกโซนหนึ่งมีห้องจำลองบาร์ในอดีต ที่สามารถสั่งเครื่องดื่มและนั่งดื่มได้ ถัดไปมีการจัดแสดงชุดภาพถ่ายของพนักงานบริการ Sex Toy วิดีโอปิงปองโชว์ และโชว์พิสดารอื่นๆ ในตำนาน (มีเครื่องยิงปิงปองอัตโนมัติให้ผู้เข้าชมได้ฝึกการรับลูกปิงปองด้วย!)

                นอกเหนือจากสิ่งของ ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวที่หาดูได้ยากแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีกิจกรรมให้เล่นสนุกๆ อย่างเช่น Wall of Fame ที่ให้ผู้เข้าชมใช้แท็บเล็ตส่องภาพเงาบนผนัง เพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติมของคนดังในอดีตที่เคยแวะเวียนเข้ามาในย่านพัฒน์พงศ์ ชมคลิปวิดีโอหายาก เมื่อครั้งที่เดวิด โบวีมาถ่ายทำเอ็มวีที่ย่านนี้ และยอมให้พ่อหมอชื่อดังเป่าน้ำมนต์ หรือหนังสารคดี-ในห้องฉายหนัง-เล่าเรื่อง ‘สงครามลับ’ เป็นภารกิจของซีไอเอเข้าไปแทรกแซงในลาว

                ในช่วงทศวรรษ ’90 พัฒน์พงศ์เปลี่ยนโฉมจากย่านบันเทิงยามราตรีมาเป็น ‘ไนท์มาร์เก็ต’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อย่านพัฒน์พงศ์ หลายคนมองว่านี่เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้พัฒน์พงศ์มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลายขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น การเข้ามาของไนท์มาร์เก็ตก็ทำให้บรรยากาศเดิมๆ ของย่านนี้เปลี่ยนไป บาร์ที่เคยอยู่มานานเริ่มทยอยปิดตัวลง หรือย้ายออกจากพื้นที่ มีบาร์อะโกโก้ผุดขึ้นมาแทนที่ อย่างที่เคยเห็นกันล่าสุดก่อนการมาเยือนของโควิด-19

                 ในวันพรุ่งนี้พัฒน์พงศ์อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีกครั้ง เพราะคงอีกนานกว่านักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าหลักของย่านจะหวนกลับมาเยือน ที่นี่อาจจะกลายเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมใหม่ก็ได้

                  อย่างไรก็ตาม พัฒน์พงศ์ยังคงเป็นถนนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน น่าค้นหา และเนืองแน่นไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลายจากทุกมุมโลก และยังคงเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ในอนาคตข้างหน้า…อีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์

ตั้งอยู่ในพัฒน์พงศ์ ซอย 2 ฝั่งตรงข้ามฟู้ดแลนด์

อัตราค่าเข้าชม 350 บาท/คน (ไม่รวมเครื่องดื่มอื่นๆ ที่บาร์ของพิพิธภัณฑ์)

โปรโมชั่น ซื้อบัตรเข้าชม 1 ใบ แถม 1 ใบ พร้อมรับเครื่องดื่มชาหรือกาแฟ ฟรี

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-20.00 น.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.facebook.com/patpongmuseum

พิกัด: Patpong Museum

Facebook Comments Box
Exit mobile version