เรื่อง : กล่อมเกลา
ภาพ (การต่อสู้) : One Championship

                ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้า ริกะ อิชิเกะ ยืนอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย เธอจะมีความโดดเด่นกว่าใคร ด้วยรูปร่างและหน้าตางดงามแบบสาวเอเชียแท้ๆ

                 ริกะมีเสน่ห์ดึงดูดสายตาพอจะขึ้นปกนิตยสารแฟชั่นชั้นนำ เดินบนแคตวอล์กในชุดเสื้อผ้าแฟชั่น หรือเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามระดับไฮเอนด์ทางโทรทัศน์ได้สบายๆ แต่เส้นทางชีวิตของเธอไม่ได้ถูกกำหนดให้เดินไปในทิศทางความสวยความงาม หากเธอเลือกที่จะเป็นนักกีฬาศิลปะการต่อสู้ระดับมืออาชีพ

                 สาวงามคนนี้เป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ปัจจุบันอายุ 28 ปี เธอเกิดในครอบครัวที่หลงใหลในศิลปะการต่อสู้ พ่อของเธอซึ่งเสียไปแล้วเคยเป็นนักยูโด ส่วนพี่สาวเป็นอายุรแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนกีฬาเทควันโด

                 ริกะได้รับอิทธิพลมาจากพ่อของเธอมาอย่างเต็มๆ เธอจึงเริ่มฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวทั้งไอคิโด คาราเต้ และเทควันโดตั้งแต่อายุ 9 ขวบ “ตอนเป็นเด็กฉันคิดว่าต้องการท้าทายตนเอง จึงเริ่มฝึกคาราเต้ เทควันโด และไอคิโดไปพร้อมกัน” เธอเล่า แต่เธอก็เป็นเหมือนเด็กทั่วไป ที่เมื่อเติบโตขึ้นก็ต้องพักการฝึกศิลปะการต่อสู้ไว้ก่อน เพื่อให้ความสำคัญกับการศึกษาแทน

                  ถึงแม้เธอจะไม่สามารถให้เวลากับการฝึกซ้อมได้ แต่เธอก็ยังให้ความสนใจกับกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (Mixed Martial Arts หรือ MMA) ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจากการถ่ายทอดทางโทรทัศน์และเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เสน่ห์ของกีฬา MMA ที่เปี่ยมด้วยการแสดงเทคนิคอันน่าตื่นตาตื่นใจ และธรรมชาติของการแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้เธอหวนกลับมาฝึกฝนศิลปะการต่อสู้อีกครั้ง

                  เพียงแต่ว่า กีฬาคาราเต้และไอคิโดไม่สามารถตอบสนองต่อความกระหายในการเรียนรู้ที่เพิ่มสูงขึ้นของเธอได้อีกต่อไป เธอต้องการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ริกะฝึกปรือทักษะการเป็นนักศิลปะการต่อสู้ด้วยการผสมผสานรูปแบบการต่อสู้ที่แตกต่างกัน กระทั่งเข้าสู่สนามแห่งการต่อสู้แบบผสมผสานหรือ MMA อย่างเต็มตัว

                   ริกะที่มีสมญานามว่า ‘ตุ๊กตาตัวน้อย’ หรือ ‘Tiny Doll’ เนื่องจากมีรูปร่างเล็ก เธอกำลังเตรียมขึ้นเวทีต่อสู้เป็นครั้งที่ 3 ในการแข่งขันที่จัดโดย ONE Championship กับนักต่อสู้หน้าใหม่ชาวฟิลิปปินส์ที่มีชื่อว่า โจมารี ตอร์เรส ในรายการ ‘ONE: Kings & Conquerors’ ซึ่งจะระเบิดความมันในโคไท อารีน่า สนามกีฬาชื่อดังที่ตั้งอยู่ในโรงแรมเวเนเชียน มาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้

                  “นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน MMA ที่จัดโดยบริษัทโปรโมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่สุดในโลกอย่าง ONE Championship ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสนี้ ฉันจะทำให้ดีที่สุดเพื่อครอบครัว และเพื่อคนไทยทุกคนด้วย” ริกะบอก

                   ด้วยการสวมนวมขนาด 4 ออนซ์ของ MMA ขึ้นชก ริกะมองว่านี่คือเกียรติยศและความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าแข่งขัน ONE Championship ซึ่งได้รับการยกย่องในวงกว้างว่าเป็นองค์กรกีฬาชั้นนำของเอเชีย

                  “ตอนแรกฉันไม่รู้สึกถึงความกดดันแม้แต่น้อย ในฐานะที่เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ขึ้นชกในกรงบนเวที MMA เพราะฉันมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ฉันคิดว่าสามารถรับมือกับการต่อสู้ครั้งนี้ได้ แต่แล้วฉันกลับกลายเป็นที่สนใจอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถแสร้งทำเป็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างดูง่ายดายได้อีกแล้ว” เธอพูดติดตลก “ครอบครัวของฉันจะเดินทางไปชมด้วย คนไทยเกือบทั้งประเทศก็จะดูด้วยเช่นกัน การต่อสู้ไฟต์นี้จึงต้องชนะสถานเดียว แน่นอนว่าฉันจะทำให้ดีที่สุด”

                  ริกะไม่คิดว่าจะมีอุปสรรคใดๆ บนเส้นทางสู่โลกแห่งการต่อสู้แบบผสมผสานของ MMA เนื่องจากเธอเชื่อว่า เธอมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการปฏิบัติภารกิจตรงหน้า

                  “ฉันหลงใหลในศิลปะการต่อสู้ จึงมีความสุขอย่างมากเมื่อได้แบ่งปันและเรียนรู้สิ่งใหม่เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้กับคนอื่น ฉันได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างในการฝึกซ้อม ซึ่งทำให้ฉันเข้มแข็งมากขึ้น และมีความพร้อมสำหรับไฟต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้”

                  ถึงแม้เป้าหมายหลักของริกะจะอยู่ที่การคว้าชัยชนะครั้งที่ 3 ติดต่อกันในฐานะนักต่อสู้ระดับมืออาชีพ แต่เธอก็ยังต้องการเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยยกระดับพลังสตรี ด้วยการทะลายกำแพงที่แบ่งแยกเพศ

                  เธอเน้นย้ำว่า การต่อสู้ MMA ระดับมืออาชีพครั้งที่ 3 ของเธอน่าจะเป็นเหมือน ‘ก้าวกระโดด’ สำหรับผู้หญิงในการเข้าใจว่า พวกเธอสามารถทำอะไรก็ได้ ถ้ามีความมุ่งมั่นและความตั้งใจอย่างแท้จริง

                  “ศิลปะการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องของผู้ชายเท่านั้น มีผู้หญิงไทยอีกหลายคนที่ขึ้นเวทีต่อสู้หลากหลายรูปแบบในประเทศไทย ทั้งมวยไทย เทควันโด คาราเต้ และแขนงอื่นๆ ตัวฉันเองเป็นเหมือนตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถต่อสู้ได้” เธอว่า สังคมแห่งศิลปะการต่อสู้ให้การต้อนรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนตัวเล็กหรือตัวสูงใหญ่

                 “หลายคนไม่เข้าใจในศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน เขาคิดว่ามันไม่มีกฎกติกาและป่าเถื่อน” ริกะอธิบายเพิ่มเติม “ฉันต้องการแสดงให้ใครที่คิดแบบนั้นเห็นว่า เขาคิดผิด เพราะนี่คือกีฬาจริงๆ ฉันเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่สามารถต่อสู้บนเวทีที่จัดโดยองค์กรระดับโลกได้ การต่อสู้ไม่ใช่เรื่องโหดร้าย แต่อยู่ที่เทคนิค”

                 ริกะพูดเล่าถึงความตื่นเต้นส่วนตัว ที่ได้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักต่อสู้ชั้นนำอย่าง แองเจลา ลี เจ้าของฉายา ‘Unstoppable’ แชมป์โลกอะตอมเวตของ ONE Women, เม ‘V.V’ ยามากูชิ, อิสเตลา นูเนส, จีนา อิเนียง, เจนนา หวง และแอน ‘Athena’ ออสแมน ในวงการ MMA ของผู้หญิงที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย

                  “ปัจจุบัน นักต่อสู้ผู้หญิงในเอเชียมีเวทีมากมายให้เลือกแสดงทักษะและศักยภาพ ซึ่งจัดโดยองค์กรระดับโลกอย่าง ONE Championship แองเจลา, แอน และอีกหลายคนบุกเบิกเส้นทางสำหรับนักต่อสู้ผู้หญิงคนอื่นๆ อย่างตัวฉัน ซึ่งฉันมายืนอยู่ตรงจุดนี้เพื่อสานต่อสิ่งที่พวกเขาได้เริ่มต้นไว้”

                 ถึงแม้ว่าความเท่าเทียมทางเพศจะยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ริกะเชื่อว่า ศิลปะการต่อสู้คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยทะลายกำแพงดังกล่าวลง

                  ริกะมีความคิดว่า การได้เห็นผู้หญิงประสบความสำเร็จในแวดวงกีฬาที่ถูกมองว่าเป็นของผู้ชายในตลอด 20 ปีที่ผ่านมานั้น คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

                 “ฉันต้องการเดินหน้ารณรงค์เพื่อทุกคนที่ยังไม่เข้าใจในความสวยงามของกีฬาประเภทนี้ ศิลปะการต่อสู้ไม่ได้อยู่ที่การสู้กัน แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการสนับสนุนพลังของผู้ชายและผู้หญิง เราได้เห็นแล้วว่าผู้หญิงทำอะไรได้บ้างในการต่อสู้ในกรงบนเวที นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะปลดปล่อยศักยภาพของเราในกีฬาชนิดนี้อย่างเต็มที่”

                 ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การต่อสู้ MMA ของผู้หญิงเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการแข่งขันที่ไม่มีใครสนใจสู่การได้รับความนิยมสูงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งหลายคนอาจตามไม่ทันด้วยซ้ำไป

                  กีฬาที่เคยเป็นของนักต่อสู้ผู้ชายเท่านั้นต้องหลีกทางให้นักต่อสู้ผู้หญิงที่มีทักษะอันยอดเยี่ยมทัดเทียมกันด้วยลีลาที่กระตุ้นฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนให้พุ่งกระฉูด ซึ่งบางครั้งการต่อสู้ของผู้หญิงให้ความสนุกเร้าใจมากกว่าผู้ชายเสียอีก

                  หลายปีแล้วที่พวกเธอเคยถูกกล่าวถึงว่า “สู้ได้ไม่ดีเพียงพอ” หรือ “ไม่มีผู้หญิงมากพอที่จะมีเวทีการแข่งขันจริงจัง” แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญบนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของ MMA ได้แล้ว

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ชื่อเสียงด้านลบของผู้หญิงที่เข้าแข่งขันกีฬาการต่อสู้จะเริ่มลดลงไปทีละน้อย แต่ริกะชี้ว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อขจัดชื่อเสียงด้านลบดังกล่าวออกไปให้หมดอย่างสิ้นเชิง

                  “เราต้องเปิดโอกาสมากกว่านี้ ฉันคิดว่ามีผู้หญิงรุ่นใหม่หลายคนที่อาจมีความสนใจเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ เราต้องการการสนับสนุนทั้งจากผู้ชายและผู้หญิง เพื่อส่งเสริมให้พวกเธอเข้ารับการฝึกฝน”

                  ริกะไม่เพียงมีความมุ่งมั่นเปิดมุมมองใหม่ให้ผู้ที่สนใจ และนำเสนอโลกของศิลปะการต่อสู้เอเชียให้แก่คนที่ชื่นชอบอยู่แล้วเท่านั้น แต่เธอยังต้องการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจสูงสุดของผู้หญิงบนเวทีระดับโลกอย่าง ‘ONE: Kings & Conquerors’

                 “ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จคือ ความมั่นใจในตนเอง และกุญแจสู่ความมั่นใจในตนเองอยู่ที่การเตรียมความพร้อม และฉันพร้อมเต็มที่สำหรับไฟต์นี้ ถ้าฉันมีการเตรียมพร้อมที่ดีก็จะสามารถต่อสู้กับใครก็ได้ และแน่นอนว่าฉันสามารถก้าวลงจากเวทีพร้อมกับชัยชนะ”

                  วันที่ 5 สิงหาคมนี้ เราจะคอยติดตามและรับรู้ข่าวดีเกี่ยวกับสาวสวยนักสู้คนนี้…ริกะ อิชิเกะ

Facebook Comments Box