เรื่อง : อูน
โคคา-โคล่าเป็นที่คุ้นเคยและชื่นชอบของชาวอเมริกันมาช้านาน แม้ความสดชื่นจะมากมายด้วยน้ำตาล
แต่ไม่มีอะไรเคยขัดขวางความกระหายอยากดื่มน้ำดำนี้ วันนี้โลกเปลี่ยน
หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนตามไปด้วย
โคโค-โคล่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอเมริกัน หากพูดถึงว่า ชาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติอังกฤษ เบียร์เป็นเครื่องดื่มปะจำชาติเยอรมนีแล้วละก็ น้ำดำโคคา-โคล่าคือเครื่องดื่มประจำชาติอเมริกา…อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะยามนี้ดูเหมือนชาวอเมริกันเริ่มหมดความกระหายอยากดื่มมันเสียแล้ว ล่าสุด Wall Street Journal รายงานสถิติการดื่มน้ำของประชากรในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า น้ำแร่มาแรงแซงเครื่องดื่มโคคา-โคล่าเรียบร้อย
ในปี 2016 ชาวอเมริกันดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ย 146 ลิตรต่อคน ในขณะที่ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น 149 ลิตรต่อคน ต่างจากเมื่อราวสิบปีก่อน ที่เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมยังติดอันดับ 1 คือราว 185 ลิตรต่อคน ส่วนน้ำดื่มมีคนบริโภคเพียง 105 ลิตรต่อคน
สำหรับบริษัทผู้ผลิตโคคา-โคล่าแล้วนับเป็นข่าวร้าย แต่อย่างไรก็ดี บริษัทนี้ยังทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริ๊งก์อยู่ร้อยละ 73 และมีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทว่าโคคา-โคล่าซึ่งเป็นสินค้าทำเงินหลักมียอดจำหน่ายแค่ราว 46 เปอร์เซ็นต์ในประเทศของตนเองเท่านั้น
โคคา-โคล่าไม่ได้มีเพียงน้ำดำจำหน่ายเท่านั้น หากยังมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำแร่ ตราบถึงทุกวันนี้น้ำแร่ของบริษัท Nestle ยังเป็นผู้นำตลาดในสหรัฐอเมริกา ยี่ห้อที่ติดอันดับขายดีคือ Nestle Pure Life และ Poland Spring ส่วนโคคา-โคล่าผลิตน้ำดื่มยี่ห้อ Dasani, Glauceau หรือ Smartwater ออกมาปันส่วนแบ่งราว 18 เปอร์เซ็นต์ของตลาด การตลาดของโคคา-โคล่ายังสามารถเติบโต เนื่องจากปัจจุบันผู้คนนิยมดื่มน้ำแร่มากขึ้น และดื่มน้ำจากก๊อกที่บ้านน้อยลง
แต่ปัญหาของโคคา-โคล่ายังคงไม่หายไปไหน เพราะแม้จะมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำแร่ ทว่ายังทำกำไรได้เพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับน้ำอัดลม น้ำดำสามารถทำเงินเข้าบริษัทได้ราว 40 ล้านดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่น้ำดื่มสร้างยอดได้เพียง 21 ล้านดอลลาร์
ข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความนิยมในเครื่องดื่มน้ำอัดลมเสื่อมถอย ภายในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา อัตราคนอ้วนเพิ่มสูงขึ้นถึงเท่าตัว มีการคาดเดาว่าประชากรชาวอเมริกันมีน้ำหนักตัวมากทางการแพทย์ร้อยละ 30 และน้ำหนักตัวเยอะเกินปกติร้อยละ 65 ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เพราะ 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันบริโภคเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริ๊งก์ทุกวัน โดยเฉพาะ “โรคอ้วน” ในเด็กและเยาวชนกำลังมีสัญญาณเตือน
และเพราะน้ำดื่มช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวได้ บรรดานักวิจัยจึงยื่นข้อเสนอ ขอให้มีการติดตั้งเครื่องทำน้ำดื่มแจกฟรีให้กับโรงเรียนทุกแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา