Site icon Spotlight Daily

Black & White Ball ปาร์ตี้แห่งศตวรรษของทรูแมน คาโปตี้

เรื่อง: ขาว-ดำ

เมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่ทรูแมน คาโปตี้กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังและประสบความสำเร็จกับงานเขียน เขาเริ่มจัดงาน ‘Black & White Ball’ ขึ้นในนครนิวยอร์ก มันคือปาร์ตี้ที่เรียกได้ว่า เป็นระดับแม่ของบรรดาปาร์ตี้ทั้งมวล

                หน้ากาก พัด และชุดราตรีหรือสโมคกิ้งสีดำหรือขาว “ผมอยากให้ปาร์ตี้ดูเป็นหนึ่งเดียวกันคล้ายภาพเขียน” ทรูแมน คาโปตี้ให้เหตุผลเรื่องกฎเกณฑ์การแต่งกายสำหรับงาน ‘Black & White Ball’ อันเป็นตำนานของเขา งานปาร์ตี้ที่นักเขียนเกย์อเมริกันจัดขึ้นในคืนวันจันทร์ (28 พฤศจิกายน) เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่โรงแรมพลาซา ในนครนิวยอร์ก ยังนับเป็น ‘ปาร์ตี้แห่งศตวรรษที่ 20’ ตราบถึงปัจจุบัน

                วันนั้นเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน 1966 และทรูแมน คาโปตี้กำลังอยู่ในจุดสูงสุดของความสำเร็จ เขาสั่งสมงานด้านวรรณกรรมมานานถึง 20 ปี และมีชื่อเสียงขจรไปทั่วโลกกับนิยายเรื่อง ‘Breakfast at Tiffany’ ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่มีออเดรย์ เฮปเบิร์นรับบทนำ เป็นสาวปาร์ตี้-ฮอลลี โกไลต์ลีย์ ในปี 1966 ‘In Cold Blood’ นิยายเรื่องใหม่ของเขาเพิ่งตีพิมพ์ออกมา ก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงในแง่ดีงาม

                คาโปตี้ปรารถนาจะใช้ประโยชน์จากกระแสความสำเร็จ ทว่าเขาจำเป็นต้องหยุดพักการเขียนชั่วขณะ จึงหันมาสนใจปาร์ตี้ “ตั้งแต่เด็กแล้ว ผมไม่เคยได้ไปงานเลี้ยงสวมหน้ากากอีกเลย ดังนั้นผมจึงอยากจัดงานแบบนี้ขึ้นมา” นิตยสาร Vanity Fair บันทึกคำบอกเล่าของเขาในภายหลัง เขาใช้เวลานานนับเดือนหมกมุ่นอยู่กับการเตรียมงาน และโดยเฉพาะกับรายชื่อแขกรับเชิญ เขาเขียนรายชื่อไว้ในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ รวบรวมเป็นลิสต์ ถามความเห็นจากเพื่อนฝูง ลบชื่อแล้วเขียนใหม่ เจอรัลด์ คลาร์ก-นักเขียนร่วมสมัย เขียนถึงงานบอลล์ว่าเป็น ‘ผลผลิตของสมองวรรณกรรม’

                ทรูแมน คาโปตี้รวมพลคนไฮโซฯ

                เหตุเพราะไม่อยากออกตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงให้ตนเอง คาโปตี้จึงยกปาร์ตี้นี้ให้กับแคเธอรีน แกรแฮม บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Washington Post และ Newsweek ซึ่งนับเป็นผู้หญิงผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา “ทรูแมนโทร.มาหาฉันวันหนึ่งในฤดูร้อน บอกว่าอยากจะจัดปาร์ตี้ให้ฉันสักครั้งเพื่อเอาใจ” แกรแฮมทวนความจำในเวลาต่อมา “ฉันเลยบอกเขาไปว่า ไม่เห็นต้องเอาใจฉันขนาดนั้น ตอนแรกฉันไม่ได้คิดว่าเขาจะจริงจังอะไร ฉันเชื่อว่าเขาแค่อยากจัดปาร์ตี้ที่โรงแรมพลาซาเท่านั้นเอง แล้วคิดหาเหตุผล ฉันเดาเอาว่า ที่เขาเลือกฉันก็เพราะว่าฉันไม่มีเรื่องขัดแย้งอะไรกับบรรดาสาวไฮโซที่เขารู้จัก”

                นักเขียนเกย์เรียกบรรดาสาวไฮโซฯ ของเขาว่า ‘นางหงส์’ อย่างเช่น เบบ พาลีย์, สลิม คีธ, กลอเรีย กินเนสส์, มาเรลลา อักเนลลี หรือลี ราดซิวิลล์-น้องสาวของแจ็คเกอลีน เคนเนดี้ พวกเธอทั้งหมดได้รับเชิญ ส่วนคนอื่นๆ อีกหลายคนเขาปล่อยให้คลางแคลงใจอยู่นาน “บางทีผมอาจจะชวนคุณ บางทีก็อาจจะไม่ชวน” นั่นเพราะว่า “มันเป็นแค่ปาร์ตี้ สำหรับคนที่ผมชอบ”

                แต่ข่าวเรื่องงานเลี้ยงสวมหน้ากากแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนที่รู้ข่าวต่างปรารถนาจะไปร่วมงานด้วย “แทบไม่น่าเชื่อเลยว่างานสังคมแค่งานหนึ่งจะสำคัญอะไรขนาดนี้” นักข่าวของ New York Times รำลึกถึงความหลังครั้งนั้น

                เวลาเที่ยงคืน – ได้เวลาถอดหน้ากาก

                แขกคนสำคัญอย่างแคเธอรีน แกรแฮมยังจดจำได้ดีว่า ในค่ำคืนนั้นมี ‘รังสีของความบ้าคลั่ง’ อบอวลอยู่ภายในงาน ท้ายที่สุดมีแขกรับเชิญไปร่วมงานมากกว่า 500 คน ในจำนวนนั้นมีแฟรงค์ สินาตร้า, นอร์แมน เมเลอร์ และลอเรน เบคอลล์ รวมถึงอดีตครูของคาโปตี้ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอาคารที่เขาพักอาศัยอยู่

                “ผมเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา” คาโปตี้พูดเล่าครั้งหนึ่งในนิตยสาร Esquire “ในแทบทุกสถานการณ์ มักจะมีคนประเภทเดียวกันเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน อย่างเช่นมหาเศรษฐี มักจะขลุกอยู่กับมหาเศรษฐี คนดังต่างชาติก็จะอยู่ในกลุ่มคนดังต่างชาติ นักเขียนอยู่กับนักเขียน ศิลปินอยู่กับศิลปิน ผมคิดเรื่องนี้มานานหลายปีแล้วว่า มันคงน่าตื่นเต้นไม่น้อยที่จะรวบรวมคนเหล่านี้มาอยู่ด้วยกัน และเฝ้าดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

                เริ่มแรกบรรดาแขกเหรื่อต่างเดินทางมาที่งานอย่างที่คาโปตี้เตรียมการ ด้วยชุดราตรีและสโมคกิ้ง แล้วมาพบปะกันที่โรงแรมพลาซา จากนั้นกิน ดื่ม และเต้นรำอย่างครื้นเครง ตอนเริ่มแรกทุกคนสวมหน้ากาก แต่พอเวลาล่วงถึงเที่ยงคืน พวกเขาต้องเผยตัวตน ปาร์ตี้ครั้งนี้คาโปตี้ต้องควักกระเป๋าจ่ายไปราว 16,000 ดอลลาร์

                ช่วงขาลงของนักเขียนใหญ่

                หลังจากนั้นไม่นาน ดาวของนักเขียนใหญ่ก็ตกวูบ ‘In Cold Blood’ เป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์เล่มสุดท้ายของคาโปตี้ ที่เขาเขียนขึ้นจากเรื่องจริง ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฟาร์มแห่งหนึ่งทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ในปี 1959 ครอบครัวคลัตเตอร์ถูกฆ่าตายอย่างเหี้ยมโหด ฆาตกรซึ่งเป็นขโมยถูกจับกุมตัว ถูกตัดสินโทษประหาร และเสียชีวิตในปี 1965 คาโปตี้ตามนักโทษทั้งสองอยู่นานหลายเดือนก่อนถึงวันประหาร และใช้เวลานานเกือบ 6 ปีกว่าจะรวบรวมเรื่องราวเขียนเป็นนิยาย ‘In Cold Blood’

                ทรูแมน คาโปตี้ไม่ได้ใช้กระแสความมีชื่อเสียงและความสำเร็จให้เกิดประโยชน์ ภายหลังงาน ‘Black & White Ball’ ที่ยิ่งใหญ่ผ่านไป อาชีพการงานและสุขภาพของเขาเริ่มตกดิ่ง ทั้งเหล้าและยาเสพติดระยะเวลานานเป็นปีฉุดชีวิตของเขาลงต่ำ เขาเขียนงานน้อยลง สติแตก และมีอาการประสาทหลอน ต้องโทษติดคุกบ่อยครั้ง และใช้เวลานานหลายปีรักษาตัวอยู่ในคลินิก กระทั่งในวันที่ 25 สิงหาคม 1984 ทรูแมน คาโปตี้เสียชีวิตลงที่ลอส แองเจลีส

                ความสุขในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต คาโปตี้หมกมุ่นกับการนั่งดูภาพถ่ายจากงาน ‘Black & White Ball’ จำนวนนับสิบอัลบั้ม ปีเตอร์ ดัชชิน-นักเปียโน บรรยายถึงปาร์ตี้ครั้งนั้นใน Vanity Fair ว่าเป็นจุดสูงสุด และจุดเปลี่ยนในหลายกรณี ไม่เพียงแต่สำหรับคาโปตี้เอง หากงานบอลล์นั้นสะท้อนถึง “ยุคฟุ้งเฟ้อของสังคมชั้นสูง และยุคบ้าคลั่งของสื่อซุบซิบ ที่ตอนนี้เรายังใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับมัน” 

Facebook Comments Box
Exit mobile version