เรื่อง : หมอมา
ว่ากันว่า ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ความสมดุลของฮอร์โมนจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับพลังงานลดลงการเผาผลาญในร่างกายก็จะไม่มีประสิทธิภาพ หลายคนยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ สภาวะร่างกายก็ยิ่งเสื่อมโทรมและถดถอยลง เป็นเหตุให้หน้าเหี่ยว ผิวไม่เด้ง ร่างกายไม่ฟิต ไม่เป๊ะปังเหมือนวัยหนุ่มสาว
สัญญาณความร่วงโรย
- กระดูกและข้อเสื่อม เมื่อก่อนออกกำลังกายนิดหน่อยก็สบาย ทำกิจกรรมหนักเบาแค่ไหนก็ไม่ยี่หระ ไม่ปวดไม่เจ็บกล้ามเนื้อ แต่พอเวลาผ่านไป เริ่มมีอาการปวด มีเสียงกระดูกลั่น แม้กระทั่งจะนั่ง นอน ยืน หรือเดิน
- มองอะไรก็ไม่ชัด สมัยสาวๆ สายตาอาจเป็นปกติ แต่เมื่อมีการใช้สายตามาตลอด พอถึงวัยผู้ใหญ่บางรายสายตาจะสั้น บางรายสายตาจะยาว
- ผมร่วง ขาดง่าย ตื่นนอน อาบน้ำ หรือใช้ชีวิตประจำวัน ผมหลุดร่วงง่ายกว่าตอนอายุยังน้อย นี่คือสัญญาณว่าคุณเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว
- ผิวเหี่ยวย่น มีริ้วรอยไม่พึงประสงค์ปรากฏอยู่ทั้งบริเวณใบหน้าและร่างกาย สัมผัสผิวแล้วไม่นุ่ม ชุ่มชื้น และเปล่งปลั่งดังเดิม
- ไม่อึด ถึก ทนทาน เมื่อก่อนสภาพร่างกายสามารถทนทรหดต่อกิจกรรมต่างๆ ได้นานและถี่แม้พักผ่อนน้อย แต่ความเหนื่อยล้า อ่อนแรง เพลีย ง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม
- โกรธ โมโห เหวี่ยง อดทนต่อสิ่งแวดล้อม และผู้คนน้อยลง รู้สึกว่าทุกสิ่งอย่างมักไม่ได้ดั่งใจ และอารมณ์ร้อนอ่อนไหวเป็นที่สุด
เติมวิตามินกาย-ใจ
- ฝึกออกกำลังกาย ‘เรียกคืนระบบการเผาผลาญ’ มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิสซูรีบอกว่า วัยซีเนียร์ควรออกกำลังกาย ที่ได้ใช้พลังงานและการยืดตัวเยอะๆ อย่างเช่น ปั่นจักรยานในร่ม และพยายามฝึกตัวเอง บริหารทุกส่วนของร่างกายเป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น เข่า แขน และเอว
- จัดระเบียบอาหารการกิน ‘ลดการรับประทานหวาน มัน เค็ม’ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากสหรัฐอเมริกา เผยว่า อาหารที่เรารับประทานในแต่ละวัน ควรจำกัดโซเดียมให้ไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม และจำกัดคาเฟอีนที่ 200–300 มิลลิกรัม จะสามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ อย่างความดันโลหิตสูง
- ฝึกหายใจ เข้าออก นั่งสมาธิ ‘อยู่กับตัวเอง’ เราควรใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ด้วยความไม่ประมาท ไม่โกรธ หรือโมโห กับทุกๆ เรื่อง และควรปล่อยวางเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ให้จิตใจได้วิตามินฟื้นพลัง
- นอนให้พอ ควรหลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์ที่มีแสงจ้า หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เพราะเครื่องมือเหล่านี้ รบกวนการนอนหลับของเรา ทำให้หลับไม่สนิท อีกทั้งปัจจัยอื่นๆ อย่างการทำงานดึก เราควรกำหนดเวลาการนอนของเรา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราควรหลับอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง (ในช่วงเวลา 00 น.เป็นต้นไป ถ้าทำได้)
- ปรึกษาแพทย์เป็นกรณี ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้เราได้ทราบข้อมูลได้ง่ายขึ้น ว่าร่างกายเรายังต้องการวิตามินตัวใด ด้วยโปรแกรมการตรวจระดับสมดุลของสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ มีวิธีที่จะช่วยให้เราทราบ คือ การเจาะเลือดตรวจแบบพิเศษ จะสามารถทำให้เราทราบค่าพันธุกรรม ค่าเลือด และภาวะฮอร์โมนต่างๆ รวมไปถึงวิตามินหรือแร่ธาตุในร่างกาย ภายใต้การตรวจและติดตามอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป คือช่วงระยะเวลาสำคัญของร่างกายและสภาวะจิตใจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว หน้าที่และความรับผิดชอบทางการงานก็เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าละเลยที่จะดูแลตัวเอง
ข้อมูลจาก : แพทย์หญิงกอบกุลยา จึงประเสริฐศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 2