เรื่อง : อูน

               กระสุนนัดนั้นทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความเปลี่ยนแปลง ปี 1968 คนผิวขาวเหยียดสีผิวลงมือสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ไม่ช้าหลังจากนั้น เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพก็ได้รับการยกย่องเชิดชู แม้ไม่ใช่เทวดา แต่ก็ถึงขั้น “โมเสส” ที่มีผิวสีดำ

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ระหว่างปราศรัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม

                เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมมฟิส บาทหลวงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ออกเดินทางไปยังรัฐเทนเนสซี ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เพื่อไปให้การสนับสนุนกลุ่มแรงงานเก็บขยะในเมมฟิส ที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ วันนั้นเป็นวันที่ 4 เมษายน ปี 1968 เวลาหกโมงเย็นกว่าๆ ผู้นำองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ‘Southern Christian Leadership Conference’ ออกมายืนที่ระเบียงด้านหน้าของลอร์เรน โมเต็ล ที่เขาพักอยู่ห้องหมายเลข 306 พูดคุยอยู่กับเพื่อนร่วมงาน แอนดรูว์ ยัง และเจสซี แจ็กสัน รวมทั้งนักเป่าแซกโซโฟน เบน บรันช์ เกี่ยวกับการวางแผนงานในตอนค่ำ

บาทหลวงราล์ฟ อาเบอร์แนธี (ขวา) และบิชอฟจูเลียน สมิธ (ซ้าย) ร่วมขบวนประท้วงกับมาร์ติน ลูเธอร์ คิงในเมมฟิส เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 1968

                “เบน ยังไงคุณก็ช่วยเล่นเพลง ‘Precious Lord, take my hand’ ในที่ชุมนุมคืนนี้ด้วยนะ” คิงเอ่ยปากขอร้อง “เล่นให้เจ๋งๆ เลยนะ” ชั่วขณะนั้นเองกระสุนปืนก็ตรงเข้าปะทะศีรษะของเขา กระสุนถูกยิงจากลำกล้องปืนล่าสัตว์ 20 นาทีต่อมา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนระดับหัวแถวของอเมริกา-ที่เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้นเคยโด่งดังจากถ้อยปราศรัย ‘I have a dream’ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1964-ก็สิ้นชีวิต

                คิงอายุเพียง 39 ปี ระหว่างพิธีฝังศพเขาที่สุสานเซาธ์วิว ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย นอกจากรองประธานาธิบดี ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ จะให้เกียรติไปร่วมในงานพิธีแล้ว ในเวลาต่อมาประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน พร้อมทั้ง โรเบิร์ต เคนเนดี้ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็ไปร่วมงานด้วย และน่าเศร้าที่สองเดือนหลังจากคิงเสียชีวิต น้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ก็ถูกลอบสังหารเช่นกัน

หลังจากเรียนจบด้านศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน คิงปฏิเสธข้อเสนองานด้านวิชาการ แต่กลับแต่งงาน และโยกย้ายกลับไปใช้ชีวิตอยู่ทางใต้ เป็นบาทหลวงอยู่ในมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบามา

กลับสู่ดินแดนใต้ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง

                มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มีพื้นเพมาจากครอบครัวบาทหลวง ทั้งรุ่นปู่และรุ่นพ่อ เขาเกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1929 ในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ศึกษาด้านสังคมศาสตร์ แต่ก็ต้องเปลี่ยนมาเรียนด้านศาสนศาสตร์ เพราะแรงกดดันจากศาสตราจารย์และครอบครัว และแม้จะได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ให้พักอยู่ที่นิวอิงแลนด์ และทำงานด้านวิชาการต่อไป ทว่าในปี 1954 หลังจากแต่งงาน เขาก็เดินทางกลับลงใต้ ไปทำหน้าที่เป็นบาทหลวงในมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบามา

โรซา พาร์กส์ ช่างเย็บเสื้อผิวดำ ปฏิเสธที่จะสละที่นั่งบนรถประจำทางให้คนผิวขาว จนต้องถูกจับกุมไปดำเนินคดี

                ในเมืองนี้เอง มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 1955 ซึ่งไม่เพียงทำให้ชีวิตของคิงเปลี่ยนแปลงไป หากยังทำให้สังคมชาติอเมริกา โดยเฉพาะชาวอเมริกันผิวสี เปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อช่างเย็บผ้าผิวดำวัย 42 ปีชื่อ โรซา พาร์กส์ ปฏิเสธที่จะลุกจากที่นั่งของตนในรถโดยสารประจำทางให้กับคนผิวขาว พนักงานขับรถจึงแจ้งตำรวจทันที และพาร์กส์ถูกจับกุมตัวไป

                คนผิวดำในมอนต์โกเมอรีพากันรวมตัวบอยคอตรถโดยสารประจำทาง คิง-ในฐานะบาทหลวงและสาวกของมหาตมะคานธี-เรียกฝูงชนเข้าร่วมประท้วงอย่างสงบ นานกว่าหนึ่งปีที่กลุ่มคนผิวดำ ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกตัวเองว่า “นิโกร” ร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้นและสีผิว ท้ายที่สุดศาลสูงสุดตัดสินให้การแบ่งแยกที่นั่งโดยสารบนรถประจำทางสาธารณะเป็นเรื่องขัดต่อกฎหมาย

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง สาวกมหาตมะ คานธี เขาเลือกใช้วิธีประท้วงอย่างสันติมาโดยตลอด และในปี 1964 คิงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

คำปราศรัยครั้งสำคัญในชีวิต

               หลังจากประสบความสำเร็จในการต่อสู้ครั้งนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิงเริ่มกลายเป็นนักเทศน์เคลื่อนที่และผู้นำชนคนกลุ่มน้อยผิวดำ เขาสามารถชนะใจใครต่อใครได้ง่ายๆ ด้วยเสน่ห์และสุ้มเสียงที่อบอุ่นของเขา

               ปลายเดือนสิงหาคม 1963 มีฝูงชนจำนวนราว 250,000 คนพากันเดินขบวนไปยังวอชิงตัน “เพื่องานและเสรีภาพ” ครั้งนั้นมี บ๊อบ ดีแลน นักดนตรีโฟล์กที่ยังไม่มีชื่อเสียง ร่วมร้องเพลงในขบวนด้วย ส่วนคิง ขึ้นปราศรัยครั้งสำคัญในชีวิตของเขา ที่บริเวณด้านล่างอนุสาวรีย์อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีผู้ปลดปล่อยทาส “I have a dream” คือคำกล่าวซ้ำครั้ง

               “ข้าพเจ้ามีความฝัน” คิงป่าวร้อง “ว่าสักวันหนึ่งลูกหลานของอดีตทาส และลูกหลานของอดีตผู้ครอบครองทาส จะมีโอกาสมานั่งร่วมโต๊ะฉันพี่น้องบนเนินเขาสีแดงแห่งรัฐจอร์เจียร่วมกัน” จากนั้นเขาสืบต่อ “ข้าพเจ้ามีความฝัน ว่าสักวันหนึ่งลูกๆ ทั้งสี่คนของข้าพเจ้าจะได้ใช้ชีวิตในประเทศ ที่พวกเขาไม่ถูกตัดสินที่สีผิว แต่หากตัดสินที่การกระทำ”

การชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 1968 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลาย หลังจากนั้นเกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับวัยรุ่นผิวดำ

ครอบครองรางวัลโนเบลขณะยังเยาว์วัย

              ในเดือนธันวาคม 1964 มาร์ติน ลูเธอร์ คิงเดินทางไปยังกรุงสต็อกโฮล์ม เพื่อรับมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการต่อสู้อย่างสันติเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของชาวอเมริกันผิวดำ ด้วยวัยเพียง 35 ปีทำให้คิงกลายเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น

              หลังจากนั้น เขาไม่เพียงต่อสู้เพื่อต่อต้านทุกการกระทำที่เป็นการดูถูกเหยียดหยามคนผิวดำเท่านั้น หากยังต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของชนชั้นในสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย การที่เงินนับพันล้านดอลลาร์ถูกผลาญไปอย่างไม่เป็นธรรมในสงครามเวียดนาม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาอดรนทนไม่ไหว แต่บทวิพากษ์วิจารณ์ของคิงเกี่ยวกับสงครามเวียดนามกลับทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม รวมถึงฝ่ายเสรีนิยมบางคนในสหรัฐอเมริกามองเขาเป็นคนทรยศชาติ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ หัวหน้าเอฟบีไอ กล่าวหาเขาถึงขั้นเป็น “จอมโกหกระดับหัวแถวของประเทศ” นักล่าคอมมิวนิสต์คอยเฝ้าจับตาคิงตลอด 6 ปีสุดท้ายในชีวิตของเขายังไม่พอ หลังจากคิงเสียชีวิตแล้ว คอเร็ตตา ภรรยาม่ายของเขายังถูกตามประกบไม่แล้วไม่เลิก

ภาพถ่ายของเจมส์ เอิร์ล เรย์ ซึ่งถูกบันทึกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังถูกจับข้อหาปล้นทรัพย์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1959

“ข้าพเจ้าเคยยืนบนจุดสูงสุดของยอดเขามาแล้ว”

              ช่วงปีสุดท้ายในชีวิตของผู้นำคนผิวดำในอเมริกาเต็มไปด้วยความกดดัน และความหนักหน่วง คิงถูกรังควาญต่างๆ นานา ทั้งเสียงด่าทอ ขว้างปาก้อนหิน ข่มขู่ด้วยมีด ด้วยระเบิด และอาวุธปืน คิงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวมากกว่า 30 ครั้ง เขาบินไปที่นั่นที่นี่ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ไปปราศรัยตามที่ต่างๆ บางครั้งหลายงานในหนึ่งวัน และดูเหมือนเขาจะรับรู้ได้ถึงลางร้าย วันก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิต คิงจบคำปราศรัยของเขาด้วยประโยคว่า “ช่วงเวลาของความยากลำบากยังรอเราอยู่ที่ข้างหน้า แต่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกเกรงกลัวอะไร เพราะข้าพเจ้าเคยยืนบนจุดสูงสุดของยอดเขามาแล้ว”

ผู้หญิงคนหนึ่งร้องไห้ที่ข้างหีบศพของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง พิธีฝังศพของเขาจัดขึ้นในวันที่ 9 เมษายน 1968 ในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย

              การลอบสังหารคิง สำหรับชาวอเมริกันผิวดำแล้วเป็นเรื่องช็อกอย่างรุนแรง หลายคนยอมรับไม่ได้ ที่จู่ๆ มีคนผิวขาวมายิงผู้นำซึ่งเปรียบเสมือนพระเจ้าของพวกเขา ราวกับยิงสุนัขเกเร จากความรู้สึกท้อแท้หมดหวัง คนผิวดำเริ่มเปลี่ยนเป็นโกรธแค้นและเย็นชา “ขณะที่วิทยุและโทรทัศน์กระจายข่าวสะเทือนขวัญ นิโกรตามสลัมทั่วอเมริกาเริ่มก่อตัวกัน” สื่อมวลชนรายงานข่าวในตอนนั้น เมืองหลวงวอชิงตันลุกเป็นไฟอย่างรวดเร็ว และใน 110 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกาเกิดเหตุการณ์จลาจล มีผู้คนล้มตาย 32 คน บาดเจ็บ 2,135 คน และถูกจับกุม 13,428 คน เพื่อปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบทั่วประเทศ รัฐบาลต้องส่งทหารกว่า 20,000 นาย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยราว 44,000 คนไปจัดการ

              2 เดือนหลังจากคิงถูกลอบสังหาร เจมส์ เอิร์ล เรย์ ฆาตกรเหยียดสีผิวก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษจับกุมตัวได้ที่กรุงลอนดอน ระหว่างกำลังจะหลบหนีไปโรเดเซีย (แอฟริกาใต้) เรย์รับสารภาพ และถูกตัดสินโทษจำคุก 99 ปี มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เรย์มีแรงจูงใจทางการเมืองขนาดลงมือก่อฆาตกรรมตามลำพังคนเดียว หรือมีใครสมคบอยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจเป็นเอฟบีไอ หรือซีไอเอ ทว่าไม่มีหลักฐานปรากฏให้สามารถเชื่อมโยงถึงใครได้เลย

               เรย์รับโทษในคุกอยู่นาน 30 ปี ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1988

พิธีแห่ศพแบบง่ายๆ หีบศพไม้มะฮอกกานีบนรถเทียมม้า ผ่านเมืองแอตแลนตาไปยังสุสาน

ป้ายอนุสรณ์ที่ห้องหมายเลข 306 ของลอร์เรน โมเต็ล ในเมมฟิส ห้องที่คิงพักค้างและเสียชีวิต

เครดิต : www.spiegel.de

Facebook Comments Box