Site icon Spotlight Daily

‘เด็กอ้วน’ เสี่ยงเป็นเบาหวาน ถ้าไม่แอกทีฟ กินตามใจปาก

เรื่อง : หมอมา

               การเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน มีแนวโน้มจะทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งจากการกินอยู่แบบตามใจ ขาดการดูแล โภชนาการ และการออกกำลังกาย ทุกวันนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 3 ล้านคน ในส่วนของเด็กและเยาวชน ร้อยละ 56 ตรวจพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในเด็กที่อ้วน ผิวหนังต้นคอหนาดำ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติ

               อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและวัยรุ่นไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงกว่า 10-20 ปีที่ผ่านมา และพบแม้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เนื่องจากเด็กมีภาวะอ้วนมากขึ้น

               เบาหวานในเด็ก คือ ภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ  ซึ่งในเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากฮอร์โมนอินซูลินที่มีพอเพียงแต่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเซลล์ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน

                ส่วนลักษณะบ่งชี้ของเด็กป่วยเบาหวานชนิดที่  2 มักพบในเด็กที่อ้วน ผิวหนังต้นคอ หนา ดำ  เรียกว่า ‘อะแคนโทสิส’ (Acanthosisnegrican) มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานหลายคน จะมีอาการร่วมคือ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก ทางออกการรักษาเบื้องต้นคือ ให้ยารับประทานเพื่อกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน และที่สำคัญคือ การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย

              โรคเบาหวานในเด็ก หากปล่อยไว้จะเกิดผลกระทบคือ ในภาวะฉุกเฉิน ทำให้เลือดเป็นกรด อ่อนเพลีย ซึม หายใจหอบลึก ขาดสารน้ำ เกลือแร่ในร่างกาย และในระยะยาว น้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้ไตเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดหัวใจตีบในอนาคตได้

 

2 พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในเด็กอ้วน

​               ช่วงปิดเทอมของเด็กหลังยุคมิลเลนเนียม และการคืบคลานของนวัตกรรมไอที ลูกหลานของเรานั่งเฝ้ายูทูบ เกมส์ และทีวี ในมือมีป๊อปคอน แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด โดนัท น้ำอัดลม และน้ำหวานปรุงแต่งที่เติมน้ำตาลมหาศาลลงไป ทั้งหมดล้วนแต่เป็นอาหารหาซื้อง่าย แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ หนำซ้ำยังหยิบยื่นน้ำตาล ไขมัน ตัวการสำคัญของความอ้วนและเบาหวาน

               อันที่จริงทุกโรคที่คืบคลานสู่ชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ การขาดความกระฉับกระเฉง หรือไม่ออกกำลังกายนั่นเอง ภาวะเด็กอ้วนนั้นสร้างปัจจัยสนับสนุนโดยตรงกับการสะสมของไขมันและน้ำตาล ยิ่งไม่แอกทีฟ ไม่เดิน-วิ่งออกกำลังกาย ไม่เข้ายิม หรือไม่เล่นกีฬา ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่เบาหวานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาตั้งแต่อายุยังน้อย

ป้องกันก่อนเบาหวานถามหา

               วิธีป้องกันอย่างยั่งยืน คือ สร้างสุขลักษณะและนิสัยกินอาหาร 5 หมู่ที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย

               1) ออกกำลังกาย-ออกไปสัมผัสแดด เมื่อเด็กๆ ออกแรงและออกกำลัง จะทำให้กล้ามเนื้อต้องใช้พลังงานมากขึ้น กล้ามเนื้อจะย่อยสลายแป้งที่สะสมไว้ และดึงน้ำตาลจากเลือดเป็นแหล่งพลังงาน ป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทางที่ดีมากๆ คือ ให้ออกแรง-ออกกำลัง ซึ่งได้ประโยชน์หลายทาง พร้อมรับแสงแดดอ่อนๆ ไปด้วย

              2) อย่าปล่อยอ้วน-น้ำหนักเกิน คีบหนังหน้าท้องของลูกหลานดูว่า หนาเกิน 1 นิ้วหรือไม่ (ซึ่งไม่ควรเกิน) การลดอ้วนลงได้จำเป็นต้องใช้วิธีออกกำลัง ทางดีที่สุดคือ คาร์ดิโอ หรือแอโรบิก เช่น เดินเร็ว เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส ปั่นจักรยาน ฯลฯ สลับกับการออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก เพิ่มมวลกล้ามเนื้อและลดการสะสมของไขมัน ปลูกฝังนิสัยและวินัยของพวกเขาว่า แม้จะอ้วนก็เป็นเด็กอ้วนที่ฟิต เพื่อที่วันหนึ่งจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง หุ่นดี ปลอดโรค ข้อสำคัญระวังอย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และถ้าเพิ่มเมื่อไรให้รู้จักควบคุมและลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ถูกต้อง

             3) คิดก่อนกินเสมอ เด็กๆ เป็นวัยที่ยังต้องการการเจริญเติบโต และอาหารครบหมู่ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากผู้ใหญ่ ให้เน้นว่าวันไหนที่ไม่ได้ออกแรง-ออกกำลังมาก ให้ลดแป้งขัดสี เช่น ข้าวขาว อาหารทำจากแป้ง ฯลฯ และน้ำตาลลง รวมถึงลดน้ำตาลในรูปเครื่องดื่มทุกประเภท วิธีที่ดีคือ เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง และเปลี่ยนขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีต อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ลดปริมาณอาหารสะดวกซื้อ และฟาสต์ฟู้ดยอดฮิตทั้งหลายแหล่ และเพิ่มผัก ผลไม้ และถั่วมากขึ้น

               รู้ทันและปฏิบัติตามวิธีที่ถูกต้องแล้ว เท่ากับป้องกันโรคร้ายไม่ให้มาเยือนลูกหลานได้

เครดิต : ข้อมูลจาก พญ. นวลผ่อง เหรียญมณี กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคต่อมไร้ท่อ เบาหวาน และการเจริญเติบโต ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2

Facebook Comments Box
Exit mobile version