เรื่อง : อูน
ภาพ : Olivier Martel Savoie
สถาปัตยกรรมสะท้อนถึงวัฒนธรรมและอารยธรรม พูดให้ง่าย สถาปัตยกรรมสะท้อนถึงรสนิยมของสังคมนั้นๆ ว่าดีงาม หรือต่ำทราม-ในทางตรงข้าม แค่ไหน
ช่างภาพชาวแคนาเดียน โอลิวิเยร์ มาร์เตล ซาวัว เดินทางท่องไปในโลกแห่งสถาปัตยกรรมพร้อมกับสมาร์ตโฟน เพื่อตามหาห้องสมุด แหล่งรวมความรู้ของมนุษยชาติ ที่น่าหลงใหล เขาบันทึกภาพแล้วอวดภาพงามของห้องสมุดแต่ละแห่งหนที่เขาเดินทางไปลงในอินสตาแกรม @olive_libraries
ภาพถ่ายจากห้องสมุดของเขาสะท้อนให้เห็นว่า การเรียนรู้และการอ่านนั้นช่างงดงามแค่ไหน ภาพของเขาเชิญชวนให้เราเกิดความรู้สึกอยากเข้าไปสัมผัสบรรยากาศ ไปนั่งอยู่ท่ามกลางความสงบเงียบ ในห้องที่เต็มไปด้วยความรู้ ความน่าค้นหา
นี่คือตัวอย่างภาพสวยๆ จากอินสตาแกรมของเขา…
- ห้องสมุด FU Berlin (Freie Universität Berlin) ที่เซอร์ นอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกออกแบบ และเปิดใช้ในปี 2005 ช่างภาพโอลิวิเยร์ มาร์เตล ซาวัวถ่ายภาพนี้ด้วยโทรศัพท์มือถือ iPhone
- ห้องสมุดสาธารณะเมืองบอสตัน เปิดให้สาธารณชนเข้าใช้บริการ อ่านหรือยืมหนังสือ มาตั้งแต่ปี 1854 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
- ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์ไรค์ส (Rijksmuseums) ในอัมสเตอร์ดัม จัดเป็นห้องสมุดสำหรับวิจัยงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ส
- ห้องสมุดของไทรนิตี คอลเลจ (Trinity College) ในเมืองหลวงดับลิน ชวนให้นึกถึงบรรยากาศในหนังแฮร์รี พ็อตเตอร์ สร้างมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดในปี 1592 และนับเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่สุดของไอร์แลนด์
- ห้องสมุดเมืองชตุตการ์ต เยอรมนี ออกแบบสร้างขึ้นใหม่โดยสถาปนิกชาวเกาหลีชื่อ อึน ยัง ยี (Eun Young Yi)
- โถงอ่านหนังสือเก่าแก่ในหอสมุดแห่งชาติเชก ในกรุงปราก
- ห้องสมุดสาธารณะในกรุงสต็อกโฮล์ม พื้นล่างเป็นหนังสือ ด้านบนเป็นดีไซน์ชัดเจนแบบสแกนดิเนเวีย
- ห้องสมุดในบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ที่โถงอ่านหนังสือคล้ายบรรยากาศในโบสถ์
- หอสมุดแห่งชาติในกรุงปารีส อดีตเคยเป็นหอสมุดของราชสำนักมาก่อน และตอนนี้เป็นหอสมุดที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
- หอสมุดมหาวิทยาลัยในกรุงเฮลซิงกิ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหอสมุดที่ใหญ่สุดในฟินแลนด์ ออกแบบสร้างขึ้นใหม่ในปี 2012 สภาพใหม่ และสว่างกว่าเดิม
- หอสมุดแห่งชาติในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ดีไซน์ทันสมัย และมีแสงสว่างทั่วถึง
- ห้องสมุดเมืองเควแบ็ก แคนาดา หน้าต่างบานสูงชวนให้นึกถึงหน้าต่างโบสถ์คริสตจักร บันไดกลางห้องก็ชวนให้นึกภาพเป็นธรรมาสน์