เรื่อง: วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย
นาทีนี้คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเนื้อเพลงอย่าง “แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย…” หรือท่าเต้น ‘โอนิกิริ’ ที่เอามือประสานกันตรงหน้าอกเป็นท่าปั้นข้าวปั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie)’ BNK48 คือชื่อของไอดอลกรุ๊ปสัญชาติไทย เชื้อสายญี่ปุ่น วงที่มีเมมเบอร์หรือสมาชิกถึง 26 คน ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่แทบทุกคนและทุกสื่อต่างให้ความสนใจอยู่ ณ ตอนนี้
แน่นอนว่ากระแสเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาแค่ชั่วข้ามคืน นับตั้งแต่วงได้เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนปีที่แล้ว ทุกอย่างมีการสั่งสมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 7 เดือนกว่าๆ จากวงที่มีผู้ติดตามเพียงแค่กลุ่มคนที่ชอบเสพป๊อปคัลเจอร์แบบญี่ปุ่นหรือติดตามวงรุ่นพี่อย่าง AKB48 มาก่อนเท่านั้น สู่การเป็นวงที่มีคนรู้จักกันทั้งประเทศใครๆ ก็ร้องเพลงได้ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณของ ‘โอตะ’ หรือแฟนคลับของวงเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ
หากมองในแง่ธุรกิจ ต้องยอมรับว่าบางส่วนเกิดขึ้นจากโมเดลที่เคยใช้สำเร็จในญี่ปุ่นรวมไปถึงประเทศอื่นๆ มาก่อน แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้น คือปัจจัยของกระแสต่างๆ ที่คาดเดาไม่ได้เกิดขึ้นมากมาย ลองไปดูกันว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ใครๆ ก็รู้จักและหลงรัก BNK48
คาแรกเตอร์หลากหลาย ให้เลือกโอชิตามชอบ
มีใครหลายคนเคยบอกว่า ประตูแรกสู่การทำความรู้จัก BNK48 คือ เฌอปราง อารีย์กุล เมมเบอร์หลักของวงที่เป็นถึงกัปตันหรือหัวหน้าวง ด้วยคาแรกเตอร์ที่เพียบพร้อมทุกด้านทั้งหน้าตาและความสามารถ จึงไม่แปลกที่เฌอปรางจะเป็นเมมเบอร์ที่เป็นเหมือนไอคอนของวงไปแล้ว ส่วนสำคัญที่ต้องยกเครดิตให้คือการออดิชันที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่มีผู้สมัครเข้ามากว่าพันคน ก่อนจะคัดให้เหลือเพียง 29 คนในที่สุด และมีเมมเบอร์ที่ย้ายมาจาก AKB48 เพิ่มอีก 1 คน
ในสมาชิกจำนวนทั้งหมด 30 คนนี้ (ปัจจุบันเหลือ 26 คน ออกจากวงไป 4 คน) ด้วยคาแรกเตอร์ของแต่ละคนที่หลากหลายและแทบไม่ใกล้เคียงกันเลย หลายคนอาจมีปัญหาในการจำชื่อของเมมเบอร์แต่ละคนในช่วงแรก แต่เชื่อว่าหลักจากที่ได้ทำความรู้จักแล้ว เสน่ห์ของน้องๆ แต่ละคนจะช่วยให้สามารถจดจำได้เอง ซึ่งนี่ก็เป็นโมเดลที่เรียกได้ว่ามองขาดมาตั้งแต่ AKB48 แล้ว เพราะรสนิยมของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ก็ทำให้มีเหตุผลที่ทำให้แฟนคลับเลือก ‘โอชิ’ หรือเลือกเมมเบอร์ที่ชอบได้ไม่เหมือนกัน อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีสักคนที่ชอบอย่างแน่นอน ถ้าชอบแบบเป๊ะครบเพอร์เฟกต์ก็ต้อง เฌอปราง ถ้าชอบแบบแก่นกวนน่ารักก็ต้อง ปัญ ถ้าชอบแบบนุ่มนิ่มน่าทะนุถนอมก็ต้อง เนย หรือจะเป็นแบบสวยขี้อ้อนก็ต้อง อร เป็นต้น
และเหตุผลหนึ่งของการที่มีคาแรกเตอร์หลากหลายทำให้กระแสหรือข่าวถูกกระจายไปในหลายรูปแบบ ทั้งในแง่ดีและไม่ดี ซึ่งภาพลักษณ์ของเมมเบอร์ที่สามารถแบ่งเวลาทั้งเรื่องเรียนและการทำงานได้ดี ก็เป็นตัวอย่างไอดอลที่ทำให้เด็กๆ ที่มีความฝันอยากจะทำตาม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวด้านไม่ดีของเมมเบอร์บางคนที่ปรากฏขึ้นมาก่อนหน้า จนมีการประกาศลงโทษจากทางค่าย ก็ทำให้คนนอกหันมาสนใจ BNK48 มากขึ้นเช่นเดียวกัน
เพลงติดหู ครบสูตรความป๊อป
ว่ากันว่าปรากฏการณ์ของเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie)’ ทำให้วงการเพลงไทยที่กำลังเงียบเหงากลับมาคึกคักกันอีกครั้ง ถ้าหากวิเคราะห์กันที่บทเพลง เพลงนี้เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่โด่งดังมากๆ ตั้งแต่เวอร์ชันต้นฉบับของ AKB48 ที่ปล่อยมาเมื่อปี 2013 แล้ว ด้วยเมโลดี้ที่ไพเราะ เนื้อหาที่น่ารัก ฟังได้ทุกโอกาส จนกลายเป็นภาวะ earworm ที่หลอนติดหูกันทั้งบ้านทั้งเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยกเครดิตให้กับ ตนุภพ โนทยานนท์ หรือ แมน วงละอองฟองที่ปรับเนื้อร้องใหม่เป็นภาษาไทยได้อย่างลงตัว บวกกับท่าเต้นโอนิกิริ หรือท่าปั้นข้าวปั้นที่ใครๆ ก็สามารถเต้นตามได้ง่ายๆ เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่ครบสูตรความป๊อปเลยทีเดียว
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นาน เคยมีแคมเปญที่ให้บรรดาโอตะส่งคลิปเต้นเพลงนี้เข้ามาร่วมสนุก ซึ่งคลิปไหนที่ถูกใจทีมงานก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทำ MV นี้กับน้องๆ ที่สวนสยาม ซึ่งคราวนั้นก็สามารถสร้างกระแสไวรัลเล็กๆ ให้เกิดขึ้นได้ประมาณหนึ่ง นอกจากนั้นอีกหนึ่งเพลงในซิงเกิลนี้อย่างเพลง ‘BNK48’ ที่เป็นการนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาประกอบเข้ากันเป็นเนื้อเพลง จนเกิดเป็นกระแสท่อนร้องยอดฮิตอย่าง “หัวลำโพง หน้าวัดสุทัศน์มีเสาชิงช้า” มาแล้ว
และหากย้อนกลับไปอีก ซิงเกิลแรกที่มีเพลงอย่าง ‘Aitakatta (อยากจะได้พบเธอ)’ ที่ถูกเลือกเป็นเพลงประกอบซีรีส์ ‘Shoot! I Love You ปิ้ว! ยิงปิ๊งเธอ’ ของค่าย GDH ที่มีฐานแฟนเป็นวัยรุ่นอยู่แล้ว ก็ยิ่งช่วยส่งเสริมให้วงเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงแรกได้อย่างเห็นผล แต่ด้วยตัวเพลงที่มีกลิ่นอายความป๊อปสไตล์ญี่ปุ่นอยู่สูงจึงอาจไม่ได้ทำให้รู้จักในวงกว้างมากนัก การปล่อยเพลง ‘Koisuru Fortune Cookie คุกกี้เสี่ยงทาย’ จึงเป็นการมาในช่วงที่วงกำลังเริ่มได้รับความนิยม ถือเป็นจังหวะที่ลงตัวพอดีอย่างมาก
ทุกอย่างมีมูลค่า ความพิเศษที่ดีต่อใจ
แม้ว่ารูปแบบของวงใน 48 กรุ๊ปที่มีต้นฉบับจากญี่ปุ่นจะมีคอนเซปต์คือ “ไอดอลที่สามารถไปพบได้” คือไม่ว่าขยายวงน้องสาวไปยังประเทศไหนก็ใช้คอนเซปต์เดียวกัน แต่ในความที่เป็นไอดอลที่พบได้กลับแฝงไปด้วยกฎเกณฑ์บางอย่างที่ถือว่าใหม่มากสำหรับเมืองไทย ที่ปกติการถ่ายรูปคู่กับศิลปินหรือการขอลายเซ็นคือเรื่องปกติที่บรรดาแฟนคลับสามารถทำได้ แต่สำหรับ 48 กรุ๊ปกลับเป็นข้อห้ามสำคัญเลยทีเดียว
เพราะเบื้องหลังคือมูลค่าอันมหาศาลของการเข้าถึงตัวศิลปินที่จะมาในรูปแบบของ ‘งานจับมือ’ หรืองานที่เปิดโอกาสให้แฟนคลับสามารถจับมือกับเมมเบอร์พร้อมพูดคุยได้ มีการขายบัตรจับมือพร้อมกับซีดีซิงเกิล โดยบัตร 1 ใบสามารถจับมือได้เพียง 8 วินาที นั่นหมายความว่าถ้าอยากจะจับมือและพูดคุยมากกว่านั้นก็ต้องซื้อซีดีจำนวนมากขึ้น เป็นกลยุทธหนึ่งที่ทำให้ซิงเกิลแรกของ BNK48 สามารถขายซีดีไปได้มากกว่า 13,500 แผ่นและซิงเกิลที่สองกว่า 30,000 แผ่น ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายซีดีที่สูงมากๆ ในยุคที่ใครๆ ก็เลิกซื้อแผ่นซีดีแล้วนั่นเอง นอกจากนั้นคือการถ่ายภาพคู่กับเมมเบอร์ก็เป็นสิ่งที่มีมูลค่ามากๆ ถ้าไม่นับในช่วงแรกที่มีการสุ่มได้ถ่ายรูปพร้อมกับการซื้อรูปภาพโฟโต้เซ็ต เพราะล่าสุดเหล่าโอตะต้องซื้อบัตร Founder Member หรือบัตรสนับสนุนวงที่มาพร้อมกับบัตรชมการแสดง ของที่ระลึก รูปพร้อมลายเซ็น และสิทธิ์ในการถ่ายภาพคู่ สนนราคากว่า 20,000 บาท! โดยก่อนหน้านั้นมีการขายสินค้าเป็นรูปภาพโฟโต้เซ็ตภาพถ่ายของเมมเบอร์ในคอนเซปต์ต่างๆ ที่ปัจจุบันมีออกมาถึง 8 เซ็ตเข้าไปแล้ว แต่ความพิเศษคือเซ็ตแรกมีการสุ่มภาพที่มีลายเซ็นของเมมเบอร์เข้าไปจำนวนจำกัด หรือที่เรียกกันว่าภาพ SSR ซึ่งได้กลายเป็นของหายากแบบสุดๆ มีการประมูลกันเองในหมู่โอตะ โดยเฉพาะภาพของเฌอปรางและปูเป้ที่ประมูลกันไปในหลักเกือบแสนเลยทีเดียว
แต่ด้วยความยากในการเข้าถึงและมีราคาที่ต้องจ่ายเหล่านี้ กลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้อีเวนต์งานจับมือหรือแม้กระทั่งกิจกรรมที่ Digital Live Studio หรือตู้ปลา (พื้นที่ที่ให้เหล่าเมมเบอร์มาพูดคุยหรือทำอะไรสนุกๆ ร่วมกัน ตั้งอยู่ที่เอ็มควอเทียร์) กลายเป็นกิจกรรมที่มีมูลค่าทางจิตใจต่อเหล่าโอตะอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่ได้พบเจอกับน้องๆ นั่นหมายถึงโอกาสสุดพิเศษ ที่เปรียบเหมือนการแลกเปลี่ยนพลังงานบวกทางใจซึ่งกันและกัน จึงไม่แปลกที่หลายคนพอได้ไปงานจับมือครั้งแรกถึงกับต้องเสียน้ำตาเพราะความสุขมาแล้ว
พลังโอตะ ผู้ปิดทองหลังพระตัวจริง
พลังของแฟนคลับนั้นมีส่วนสำคัญต่อศิลปินเสมอ เพราะเป็นส่วนที่จะคอยสนับสนุนให้ศิลปินประสบความสำเร็จได้ และพลังของเหล่าโอตะของ BNK48 เองก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน นับได้จากแฟนเพจที่เหล่าโอตะสร้างสรรค์คอนเทนต์หลากหลายรูปแบบขึ้นมาเอง ทั้งเพจโพสต์รูปภาพ ให้เกร็ดความรู้ อัพเดตข่าวสาร รวมไปถึงแนะนำเมมเบอร์ ก็นับไม่ถ้วนกว่าร้อยเพจเข้าไปแล้ว มีให้เลือกเสพกันไม่หมดเลยทีเดียว ซึ่งข้อดีของแฟนเพจที่โอตะสร้างกันเองเหล่านี้ คือทีมแอดมินทุกคนต่างทำด้วยใจ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนเป็นค่าจ้างใดๆ เพียงเพื่ออยากทำให้น้องๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น แถมยังไม่ได้มาแบบธรรมดา มีการทำกราฟิกสวยงาม เนื้อหาที่แน่นปึ้ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ข้อมูลที่ตรงตามความจริง ปราศจากอคติ และอัพเดตไวกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำ
หนึ่งในผลงานของฝีมือโอตะที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก คงหนีไม่พ้น Fan Cam คุณภาพที่สามารถดึงเสน่ห์ของเมมเบอร์แต่ละคนออกมาได้อย่างหมดจด ทั้งการร้องและการเต้น OPV หรือ MV ที่ตัดต่อขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงมีมตลกๆ ที่ทำออกมาก็ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสกับ BNK48 มาก่อน ‘โดนตก’ หรือถูกทำให้ชอบไปตามๆ กัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น เพราะลำพังแค่ MV ที่มาจาก official หรือรายการต่างๆ เพียงอย่างเดียวก็คงไม่มีพลังมากพอ
และผลงานล่าสุดที่ต้องนับถือในความสามารถของเหล่าโอตะคือ Fan Song หรือเพลงที่แต่งขึ้นเพราะความรักที่มีต่อเมมเบอร์คนนั้นๆ โดยดึงเอาเสน่ห์บางอย่างมาถ่ายทอดเป็นบทเพลงได้อย่างไพเราะ จนถึงขั้นไปติดชาร์ตเพลงร่วมกับศิลปินอาชีพนับสิบเพลงพร้อมๆ กันเลยทีเดียว อย่างเช่นเพลง ‘คนเกรี้ยวกราด’ ของ แมวหิมะ ที่แต่งให้กับปูเป้ หรือเพลง ‘แคปเฌอ (Capture)’ ของ markmywords. ที่แต่งให้กับเฌอปราง โดยเข้าไปติดชาร์ตของ Fungjai อันดับหนึ่งมาแล้ว นี่ยังไม่ได้รวมถึงการสนับสนุนซื้อสินค้าจาก official การเหมาซื้อซีดีเพื่อสนับสนุนน้องๆ ด้วยบัตรจับมือ หรือแม้กระทั่งการซื้อป้ายโฆษณาแฮปปี้เบิร์ธเดย์ตามสถานีรถไฟฟ้า และอีกหลายวิธีสนับสนุนน้องๆ ในทุกๆ รูปแบบ จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระของ BNK48 ตัวจริง
คนดังช่วยโหมกระแส สื่อก็ให้ความสนใจ
หลังจากที่กระแสของ BNK48 เริ่มกระจายสู่วงกว้าง คงได้เห็นเหล่าดาราคนดังที่ประกาศตัวว่าเป็นโอตะกันมากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ชมพู่ อารยา, โอ๊ต ปราโมทย์, โอม Cocktail, โย่ง อาร์มแชร์, แนป Retrospect, แทน-คัตโตะ ลิปตา, แสตมป์ อภิวัชร์ ฯลฯ ซึ่งคนดังเหล่านี้ต่างมีฐานแฟนคลับในระดับแมสอยู่แล้ว เมื่อมีการกล่าวถึงน้องๆ BNK48 ในช่องทางของตนเอง จึงไม่ต่างอะไรกับการพีอาร์ให้วงทางอ้อม คนที่ติดตามคนดังเหล่านี้อยู่แล้วจึงสงสัยและเริ่มหาข้อมูลว่าเป็นใคร ทำไมคนดังระดับนี้ยังต้องพูดถึง ก่อนที่จะโดนน้องๆ ตกและกลายเป็นโอตะเหมือนกันในที่สุด
นอกจากนั้นคือกระแสของเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie)’ ที่ฮิตแบบสุดๆ ยังส่งผลให้มีการโคฟเวอร์ในเวอร์ชันต่างๆ จากทั้งศิลปินดังและมือสมัครเล่นเองมากมาย และล่าสุดแม้กระทั่งขวัญใจมหาชนอย่าง พี่ตูน Bodyslam เอง แม้ยังไม่ถึงขั้นประกาศตัวว่าเป็นโอตะ แต่ก็มีการเผยแพร่คลิปที่พี่ตูนทำท่าเต้นโอนิกิริบนเวทีคอนเสิร์ตของตัวเอง เรียกเสียงฮือฮาจากโซเชียลได้เป็นอย่างมาก
และสุดท้ายส่วนสำคัญที่ช่วยให้ BNK48 เป็นที่รู้จักมากขึ้น นั่นก็คือสื่อหลักและสื่อรองที่พร้อมใจกันจับกระแสนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งสถานีโทรทัศน์หลักๆ ไปจนถึงเพจ influencer ต่างๆ ตั้งแต่วันแรกที่วงยังไม่เป็นที่รู้จัก การจะออกข่าวแต่ละครั้งต้องมีการอธิบายที่มาที่ไปของวงอยู่เยอะพอสมควร จนมาถึงจุดที่คำว่า BNK48 ปรากฏชื่อขึ้นมาครั้งใดก็ต้องได้รับความสนใจเสมอ พอสื่อเริ่มสนใจมากขึ้น ก็เป็นไปตามกลไกของวงการบันเทิง ที่น้องๆ จะมีงานเข้ามา ทั้งงานโชว์ตัว อีเวนต์ รายการสัมภาษณ์ เกมโชว์ต่างๆ ทั้งทางทีวีและออนไลน์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากวงไอดอลกรุ๊ปที่มีความเป็นนิชอยู่สูง จนกลายเป็นวงแมสระดับประเทศในที่สุด