เรื่อง: N. Watcharasin
ภาพ: วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย
เสียงตะโกน “Gay Power!” ดังกึกก้องไปทั่วกรีนวิช วิลเลจ แห่งนิวยอร์ค ในเช้าตรู่ของวันที่ 28 มิถุนายนปี 1969 ทั่วท้องถนนตรงหน้าบาร์ “Stonewall Inn” เต็มไปด้วยชาวเกย์และชาวรักร่วมเพศที่มารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ หลังความตึงเครียดของการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับฝูงชน ก่อนที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืนถึงการก้าวออกมาสู่แสงสว่างอย่างสง่างาม พอกันทีกับชีวิตที่ต้องหลบซ่อนและการปกปิดตัวตน พอกันทีกับการอดทนต่อคำเย้ยหยันและการกลั่นแกล้ง ถึงเวลาแล้วที่ทั้งหมดนั้นต้องสิ้นสุดลงในคืนนี้ คืนที่ชาวสีรุ้งรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิมนุษยชนจนได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า “เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์” (Stonewall Riots)
ทุกปีในเดือนมิถุนายนกลุ่ม LGBT ทั่วทั้งอเมริกาจะรวมตัวกันแสดงพลังของพวกเขา ผ่านกิจกรรม Pride Parade บนท้องถนน เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปและประเทศอื่นๆ ส่วนที่เมืองไทย “Bangkok Pride” จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2560 ท่ามกลางกลุ่ม LGBT ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มารวมตัวกันภายใต้ธงสีรุ้ง ทว่าการต่อสู้กับการกีดกันทางเพศและอคติยังคงปรากฏให้เห็นในหลายๆ วงการ โดยเฉพาะกับโลกของการทำงานดังเช่นที่ “โต๊ด” ณภัทร พูนน้อย เคยประสบมาก่อน
ปัจจุบัน “โต๊ด” ทำงานอยู่ในบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังของเมืองไทย ในฐานะของสาวประเภทสองที่ผ่านการศัลยกรรมหน้าอก จนทำให้โต๊ดมั่นใจในการอวดเรือนร่างในชุดบิกินี่ แม้เพียงมองเผินในเฟซบุ๊คเราอาจรู้สึกว่า เธอก็ไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงร่าเริงและมั่นใจในตัวเอง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้โต๊ดก็ต้องเผชิญช่วงเวลายากลำบากในการเปิดเผยตัวตน โดยเฉพาะกับ “แม่” ที่ไม่อาจยอมรับการตัดสินใจข้ามเพศของลูกชายคนโต
รู้ตัวว่าไม่ใช่ผู้ชายแท้ตั้งแต่เมื่อไหร่?
“ตั้งแต่เรียนอนุบาล 3 ค่ะ เวลาเล่นกับเด็กผู้ชายแล้วรู้สึกดีและมีความสุข บวกกับโตมาในครอบครัวที่เป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ พ่อไปทำงานต่างจังหวัด เราก็เริ่มซึมซับความเป็นผู้หญิงโดยไม่รู้ตัว ถึงโต๊ดจะเป็นลูกชายคนโตและมีน้องชายอีกหนึ่งคน ซึ่งน้องชายก็เป็นผู้ชายแท้ๆ นะ แต่เราสนิทกับลูกพี่ลูกน้องที่เป็นผู้หญิงมากกว่า พี่เลี้ยงก็เป็นผู้หญิง ตอนนั้นเราก็เลยคิดว่าอยากเป็นผู้หญิง”
มาเริ่มแต่งตัวเป็นผู้หญิงตอนไหน?
“สมัยเรียนมหาวิทยาลัยค่ะ คือตอนเรียนมัธยมเรามีเพื่อนที่เป็นเพศที่สามไม่ค่อยเยอะ เลยไม่ถึงกับต้องแต่งหญิง แล้วเราก็ไม่มั่นใจด้วยล่ะเพราะหัวเกรียน (หัวเราะ) ตอนนั้นมีทอมมาแอบชอบด้วยนะ เคยถามตัวเองเหมือนกันว่า เราจะชอบผู้หญิงได้มั้ย แต่คิดไปคิดมาก็มั่นใจว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะลึกๆ แล้วในจิตใจของเราก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ทีนี้พอเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เราก็ได้พบกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เปิดโลกของเราให้กล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะแต่งหญิง และเราก็มั่นใจมากขึ้น
“จุดพีคมาเกิดตอนงานคณะฯ ที่เราต้องแต่งหญิงเป็นครั้งแรกในชีวิต รู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขมาก ทั้งที่ตอนนั้นเราแต่งแล้วดูน่าเกลียดมากนะ (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรากล้าที่จะเปิดเผยตัวตนมากขึ้น แถมมีผู้ชายมาชมด้วยนะคะ ทั้งที่พอย้อนกลับไปดูรูปตัวเองแล้วคือแบบว่า กล้าชมได้ไงคะ” (หัวเราะ)
หลังจากวันนั้นเราเปิดตัวกับที่บ้านเลยมั้ย?
“พอจบคืนนั้นแม่ก็เริ่มสังเกตเห็นคิ้วของเรา จริงๆ ที่บ้านไม่ถึงขนาดยอมรับแต่ก็ไม่ปฏิเสธค่ะ เขาแค่ไม่อยากให้เราแต่งหญิงมากกว่า ตอนนั้นพ่อยังไม่ได้กลับมาอยู่บ้าน เลยจะเป็นแม่ที่ไม่ยอมรับ เขาก็ขอให้เราแต่งตัวเป็นผู้ชายหรืออยากให้ลูกเป็นเกย์มากกว่า โต๊ดเชื่อว่าที่บ้านรู้อยู่แล้วล่ะว่าเราเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับการยอมรับของพ่อ-แม่ แต่นับจากการเปิดเผยตัวตนของเราคืนนั้น เราก็กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
“พอขึ้นปีสองเราก็เริ่มเทคยาคุมฯ เพราะเรามีเพื่อนแต่งหญิงที่ไว้ผมยาว ทีนี้เราก็เริ่มศึกษาวิธีการดูแลตัวเองจากเพื่อนๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกหลังเทคยาคุมผิวจะนุ่มเนียนขึ้น บวกกับเราเริ่มฉีดวิตามินเลยทำให้ผิวดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล และเริ่มไว้ผมยาว สุดท้ายก็คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแต่งหญิง จนถึงวันที่รู้สึกมั่นใจและพร้อมแล้วเราก็เปิดเผยตัวตนครั้งแรก ด้วยการแต่งหญิงเดินออกจากบ้านมาเฉยๆ เลยค่ะ”
คนที่บ้านมีปฏิกิริยายังไงบ้าง?
“พ่อก็มองค่ะ แต่ทุกคนก็ไม่ได้ว่าอะไร คงเพราะใกล้เรียนจบแล้วด้วย เขาเลยคิดว่า ปล่อยให้เราเป็นตัวของตัวเองดีกว่า เราโตแล้วรับผิดชอบตัวเองได้ น้องชายก็ไม่ได้พูดอะไร เราต่างคนต่างใช้ชีวิต สุดท้ายทุกคนก็รับได้นะ”
เพราะอะไรถึงตัดสินใจเสริมหน้าอก?
“หน้าอกเป็นสิ่งที่คิดไว้ในใจเสมอว่าอยากทำมาตลอด เพราะรู้สึกไม่มั่นใจเวลาแต่งหญิง อย่างด้านล่างเรายังมีวิธีอำพราง แต่การเสริมหน้าอกทำให้เรารู้สึกว่าสวยขึ้น เป็นผู้หญิงมากขึ้น เวลาไปทะเลสามารถใส่บิกินี่ได้อย่างมั่นใจและมีความสุข”
ตั้งแต่เสริมหน้าอก ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมั้ย
“มีผู้ชายเข้ามาคุยมาจีบเหมือนกัน แต่ไม่มีใครกล้าลวนลามหรือถึงเนื้อถึงตัวกับเรานะ จากสมัยเด็กอาจจะเคยโดนเพื่อนผู้ชายแกล้งบีบก้นบีบนู่นนี่บ้าง แต่พอแต่งหญิงเสริมหน้าอกมาก็ไม่มีใครมาถูกเนื้อต้องตัวเราอีกเลยค่ะ ผู้คนรอบข้างก็เหมือนจะเปลี่ยนมุมมองที่มีกับเราไปบ้างเล็กน้อย แม้จะไม่ได้แสดงออกชัดเจน แต่โต๊ดรู้สึกได้ว่าการกระทำหรือคำพูดของเขาจะเปลี่ยนไป มองเราเป็นผู้หญิงมากขึ้น”
ตั้งแต่มีกระแส LGBT เข้ามาในเมืองไทย มีการเปลี่ยนแปลงยังไงที่เราสัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน
“จริงๆ เรื่องสิทธิในการทำงานยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก บางที่ก็ไม่รับคนที่เป็นเพศที่สามหรือสาวประเภทสอง โต๊ดเคยโดนมากับตัวเลยค่ะ ทั้งๆ ที่ในเรซูเม่ก็ระบุแล้วว่าเราเป็นสาวประเภทสอง แต่พอไปสัมภาษณ์จริงๆ กลับปฏิเสธว่ายังไม่มีนโยบายรับคนกลุ่มนี้ รุ่นน้องก็เจอแบบเดียวกัน คงเพราะอาจจะมีสาวประเภทสองบางคนไปแสดงภาพลักษณ์หรือทำตัวไม่ดี ทำให้บางองค์กรรู้สึกขยาดหรือกลัวอารมณ์ของพวกเรา ทั้งที่จริงๆ เราก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันเหมือนผู้หญิงหรือผู้ชาย เพียงแต่เพศที่สามบางคนอาจจะมีอารมณ์รุนแรงกว่า ยิ่งคนที่ Conservative หรือคนที่ไม่มีเพื่อนเป็นเพศที่สามก็ยิ่งไม่เข้าใจ
“เรื่องอารมณ์เหวี่ยงวีนเกรี้ยวกราดเพศไหนก็มีนะ บางคนโทษว่า เป็นเพราะเราเทคยาคุมซึ่งจริงๆ ไม่เกี่ยวเลย คนเรามีอารมณ์กันเป็นธรรมดาค่ะ แต่อย่าเหมารวมว่าเพศที่สามต้องเหวี่ยงวีนไปหมด มีเพื่อนบางคนที่เคยแต่งหญิงแล้วกลับไปเป็นผู้ชาย คงเพราะหน้าที่การงานด้วยค่ะ เราเชื่อว่ามีหลายคนที่เป็นเหมือนกันแต่ไม่กล้าแสดงออกในที่ทำงาน เพราะองค์กรนั้นอาจไม่ยอมรับ แต่เราก็ไม่รู้นะว่าจิตใจเขาจะกลับไปเป็นผู้ชายจริงๆ หรือเปล่า เพราะมีเพื่อนผู้ชายหลายคนที่เป็นเพศที่สามแล้วกลับไปเป็นผู้ชายแท้ก็มี แต่เราค้นพบทางของเราแล้ว”
แล้วส่วนไหนในจิตใจของเราที่ยังมีความเป็นผู้ชายเหลืออยู่
“คงเป็นความสตรองค่ะ ถ้าเป็นทางกายภาพก็คงไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนแอที่ทำอะไรไม่ได้เลย ในเรื่องของจิตใจก็สตรองระดับหนึ่งเลยนะ แต่อย่าเอาไปเปรียบเทียบกับผู้หญิงเลยค่ะ เพราะผู้หญิงบางคนยังสตรองกว่ากระเทยอีกนะ สุดท้ายเราก็มีนิสัยใจคอบางส่วนที่ยังเป็นผู้ชาย แบบขี้รำคาญ ชอบคบกันผู้ชายหรือผู้หญิงนิสัยกระเทยมากกว่า คือชอบคนที่มีความแมนๆ ไม่ชอบง้องแง้ง ไม่เอาสายแบ๊วสายคิกขุ”
ที่ผ่านมาความรักของเราเป็นยังไงบ้าง
“มีทั้งคนที่รับเราได้และรับไม่ได้ค่ะ อย่างผู้ชายบางคนเข้ามาจีบ พอรู้ว่าเราเป็นเพศที่สามก็เฟดตัวออกไปเลย ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยค่ะ ฝรั่งก็มีเหมือนกันที่รับไม่ได้ ทีนี้เวลาใครเข้ามาจีบเราจะบอกตรงๆ เลยว่า เราเป็นเพศไหนจะได้ไม่เสียเวลากัน เพราะทั้งเราและเขาต่างก็มีสิทธิ์เลือก และเราก็ไม่อยากให้เขาไปด่าลับหลังว่าหลอกลวง คงเพราะความรักไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับโต๊ดตอนนี้ด้วยมั้ง ไม่ได้รู้สึกโหยหาหรือแสวงหามากมาย รักตัวเองมากกว่า”
บทเรียนความรักในแต่ละครั้งให้อะไรกับเรา
“ยิ่งโตเราก็ยิ่งเข้าใจโลกมากขึ้นค่ะ ไว้ใจคนยากขึ้น เริ่มมองคนลึกขึ้นและหลายมุมมากขึ้น เพราะเราเจ็บมาเยอะ โดนทำร้ายมาเยอะทั้งในเรื่องของเพื่อนและความรัก ความเจ็บปวดมันทำให้เรารักตัวเองมากขึ้น และเมื่อไหร่ที่มีความรัก เราจะไม่บอกใครอีกแล้ว เพราะเคยมีคนมาแอบชอบและเราก็รู้สึกดีกับเขาเหมือนกัน สุดท้ายเราโดนเพื่อนสนิทที่เป็นผู้หญิงแท้ๆ แย่งไปกิน คือต้องยอมรับด้วยล่ะว่า เราไม่ใช่คนสวยก็เลยพยายามเอาตัวเองให้รอด ไม่ crazy เรื่องความรัก อยากสร้างความมั่นคงให้ตัวเองก่อน เพราะยังไงโต๊ดก็ท้องไม่ได้อยู่แล้ว เลยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนหาคู่แต่งงาน ใช้เวลาศึกษาดูใจกันไปเรื่อยๆ นี่แหละดีที่สุดแล้ว”
ถ้าเรียกร้องสิทธิเพื่อกลุ่มของเราได้ อยากจะเรียกร้องเรื่องอะไรในสังคมไทย
“เรื่องงานนี่แหละค่ะ แม้ประเทศไทยจะหยิบยกประเด็นเพศที่สามหรือ LGBT มาพูดกันมากในปัจจุบัน แต่เอาจริงๆ นะ การกระทำหลายอย่างยังไม่ชัดเจนขนาดนั้น เหมือนการยอมรับแค่เพียงลมปากว่า เรามีคนกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทย ขนาดประเทศเพื่อนบ้านยังแต่งงานได้ เปลี่ยนคำนำหน้าได้ แต่หันกลับมาดูบ้านเราสิคะ ทั้งๆ ที่ประเทศเรามีกลุ่ม LGBT มารวมตัวกันเยอะมาก (ลากเสียง) หลายคนมาเมืองไทยแล้วแฮปปี้ แต่คนกลุ่มนี้บางคนในประเทศกลับไม่ได้รู้สึกแฮปปี้จริงๆ
“โอ.เค.ถ้าคุณเป็นเกย์ยังมีทางเลือกในชีวิตเยอะกว่า แต่ถ้าเป็นสาวประเภทสองอย่างโต๊ดนี่ยากมากเลยนะ หลายคนไปสมัครงานในบริษัทดีๆ แต่เขาไม่รับ เขาก็เลยไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากไปทำงานในร้านนวด ยิ่งคนที่มีการศึกษาน้อยยิ่งลำบากเข้าไปอีก โต๊ดอยากให้คนไทยเปิดใจยอมรับเพศที่สามจากใจจริงค่ะ เพราะสุดท้ายโอกาสในหน้าที่การงานของพวกเราก็ยังริบหรี่กว่าผู้หญิงหรือผู้ชายทั่วไป
“แม้แต่งาน BA เดี๋ยวนี้บางแบรนด์ยังไม่รับสาวประเภทสองเลยค่ะ ต้องยอมรับว่าแบรนด์ก็เจออิทธิฤทธิ์ของสาวประเภทสองบางคนเข้าไป ทำให้เข็ดขยาดไม่กล้ารับคนแบบเราเข้าทำงานอีก โต๊ดอยากบอกว่า เพศที่สามอย่างพวกเราก็ต้องระมัดระวังด้วยเหมือนกัน ในวันที่คุณได้รับโอกาสที่ดีในชีวิต ขอให้คุณทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด เหมือนอย่างโต๊ดก็ต้องพิสูจน์ให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่า ถึงแม้เราจะเป็นสาวประเภทสองแต่เราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เรายอมทำงานหนักกว่าคนอื่นเพื่อให้เขายอมรับในความสามารถของเรา แม้จะเหนื่อยมากแต่ก็ต้องอดทนค่ะ
“โต๊ดหวังว่า วันหนึ่งสังคมจะยอมรับในความสามารถและศักยภาพของพวกเรา มากกว่าการโดนพิพากษาหรือตัดสินจากเพศสภาพที่เราเป็น”