เรื่อง : ขาว-ดำ / ภาพ : วรรณกร โฉมวัย
ช่วงกลางปี 2558 ที่ความสั่นคลอนของแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มปรากฏ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปิดดีลขายสื่อสิ่งพิมพ์อันประกอบด้วยนิตยสาร 6 เล่ม อิมเมจ, มาดาม ฟิกาโร, แม็กซิม, แอตติจูด, เฮอร์ เวิลด์ และอิน แมกกาซีน ให้กับบริษัท ซี ทรู จำกัด ไม่กี่เดือนถัดจากนั้นได้มีการถ่ายโอนสื่อทั้งหมดให้มาอยู่ในความดูแลของบริษัท ทรีแดนซ์ พับลิชชิ่ง จำกัด โดยมี “โจ” วิโรจน์ วชิรเดชกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททำหน้าที่บริหารในตำแหน่ง CEO
สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารทั้ง 6 เล่ม ฝ่ามรสุม “ขาลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์” มาถึงจุดที่ต้องยุติการพิมพ์ของนิตยสาร “อิมเมจ” ช่วงกลางปี 2559 ต่อมาก็ถึงคิวของนิตยสาร “เฮอร์ เวิลด์” และ “อิน แมกกาซีน” ในช่วงปลายของปีเดียวกัน นับว่าเป็นภารกิจที่หนักหน่วงสำหรับคนที่อยู่ในตำแหน่งบริหาร
“ผมค่อนข้างที่จะใช้เวลากับมันเยอะมาก อย่างแรกคือผมต้องมาเรียนรู้ว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์คืออะไร แต่เรียนรู้แล้วไม่ได้หมายถึงจะทำให้มันดีขึ้นนะ เพราะสิ่งพิมพ์ตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง” โจ ผู้บริหารวัย 51 ย่าง 52 ปีบอก
กูรูการตลาดและหุ้น
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกาแล้ว โจ-วิโรจน์กลับมาเริ่มงานแรกฝ่ายการตลาดที่ Cadbury Adams “ผมเคยร่วมงานกับโจ-ธรรศพลฐ์ (แบเลเว็ลด์) ทำลูกอมฮอลส์ด้วยกัน แผนกการตลาดเหมือนกัน นั่งโต๊ะติดกัน อยู่ด้วยกันมาสี่-ห้าปี” เขาเล่า เขาใช้เวลากับงานแรกอยู่ประมาณ 12 ปี ก่อนออกไปอยู่ฝ่ายการตลาดของค่าย “มิชลิน” อีก 4 ปี ต่อด้วยตำแหน่ง Country Manager ที่บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
“คอนติเนนทอลเป็นบริษัทค้ายางรถยนต์เหมือนมิชลิน แต่ที่นั่นผมเป็นคนไทยคนแรกที่เซ็ตอัพบริษัทคอนติเนนทอล ไทยแลนด์ ผมดูทุกอย่าง ทุกแผนก เริ่มต้นจากศูนย์เลย ยอมรับว่าเหนื่อยมาก”
ครบ 4 ปี โจเปลี่ยนเส้นทางจากการตลาด การขาย เข้าสู่โหมดการเทรดหุ้น ในตำแหน่ง CEO ของบมจ. ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) “ในชีวิตผมทำงานกับบริษัทต่างชาติมา 20 กว่าปี พอวันหนึ่งมาทำงานกับทีเอสเอฟ ก็เจอกับอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ต้องระมัดระวังอะไรหลายอย่าง เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีกฎกติกามารยาทไม่เหมือนที่อื่น” หลังจากผ่านการทำงานที่นี่ประมาณ 2 ปี เขาก็มาเซ็ตอัพบริษัท ทรี แดนซ์ พับลิชชิ่ง จำกัด รับช่วงสื่อนิตยสารทั้ง 6 เล่มมาบริหารจัดการ
ภาวะ “ขาลง”
“ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ค่อนข้างแตกต่างจากอย่างอื่นที่ผมเคยทำมาค่อนข้างเยอะ แต่โชคดีที่ผมดูการตลาด การขาย เซ็ตอัพธุรกิจมาก่อน” โจเล่า “ผมใช้เวลาอยู่ประมาณ 4-5 เดือนเพื่อหาวิธีนำคอนเทนต์ หรือสิ่งที่อยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์มาใช้ประโยชน์ เรียกว่าเป็นการทรานซ์ฟอร์มบางอย่าง จากพริ้นติ้งมาเป็นดิจิตอล”
“ทุกวันนี้ ทีมดิจิตอลของเราค่อนข้างจะแข็งแรงขึ้น คือเมื่อก่อนพนักงาน 100 เปอร์เซ็นต์จะทำในส่วนของพริ้นติ้งราว 99 แต่วันนี้คนที่ดูด้านดิจิตอลของเรามีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว เราจัดตั้งทีมดิจิตอลใหม่ทั้งหมด ฝ่ายขาย ฝ่ายทำคอนเทนต์ ฝ่ายครีเอทีฟ ฝ่ายกราฟิก ทุกอย่างตอนนี้มุ่งไปทางดิจิตอล ไม่ใช่พริ้นติ้งแล้ว” เขาพูดติดตลก “สมัยก่อน ย้อนกลับไปประมาณปีกว่าๆ ซื้อสื่อสิ่งพิมพ์แถมดิจิตอล แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า ซื้อดิจิตอลแถมสื่อสิ่งพิมพ์”
ปัจจุบันนิตยสารบางเล่มในเครือของทรี แดนซ์ปิดไปเฉพาะพริ้นติ้ง ทว่านิตยสารเหล่านั้นยังอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด “ยกตัวอย่างอิมเมจ แม้ว่าจะหยุดพริ้นติ้งไปแล้ว แต่ในโลกออนไลน์ ตัวเลขผู้ติดตามยังไม่ลดลงนะ มีฟอลโลเวอร์ในเฟซบุ๊กอยู่ประมาณล้านกว่า และทุกหัวที่อยู่ในโลกดิจิตอลก็มียอดขึ้นหมด เพราะคอนเทนต์ที่มันอยู่ในนิตยสารแต่ละเล่มนั้น เราเอามาปัดฝุ่นใหม่ สร้างเป็นคอนเทนต์ใหม่”
“ปกติพริ้นติ้งมีกำหนดออกมาเดือนละครั้ง ซึ่งค่อนข้างช้า ต่างกับโลกออนไลน์ หรือโซเซียลมีเดีย ที่เราอัพโหลดทุกวัน วันละ 4-5 ครั้ง ทุกอย่างฉับไวกว่า เราต้องปรับตัว เมื่อก่อนทำนิตยสาร ปิดเล่มแล้วอาทิตย์แรกคนทำงานอาจจะพักผ่อน แต่ตอนนี้ทุกคนต้องทำงานทุกวันแล้ว”
“ยอดฟอลโลเวอร์ในโซเซียลมีเดียของเราสูงขึ้นทุกวัน เราคอยดูสถิติทุกวันจันทร์ ดูตัวเลข วิเคราะห์กันว่าคอนเทนต์ไหนที่โพสต์แล้วคนติดตามเยอะ วิดีโอไหนโพสต์แล้วยอด reach หรือ engagement มีสถิติดี เราก็มาวิเคราะห์ปรับเปลี่ยน เรามีทีมงานหลังบ้านคอยวิเคราะห์ แล้วคอยบอกทีมดิจิตอลและกองบรรณาธิการว่า คอนเทนต์แบบไหนโพสต์แล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก นี่คือการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม”
“นิตยสารแต่ละเล่มมีคาแรกเตอร์ของมัน ฉะนั้นคอนเทนต์ของแต่ละหัวจะไม่เหมือนกัน อย่างแม็กซิมนี่ชัดเจน 80 เปอร์เซ็นต์เป็นภาพเกี่ยวกับสาวแม็กซิม เป็นเรื่องราวชีวิตของเขาว่าวันนี้เขาไปทำอะไร หรือเรื่องรถ เรื่องไวน์ เรื่องไลฟ์สไตล์ประกอบ เพื่อให้คนเสพคอนเทนต์ได้เห็น”
“เฮอร์ เวิลด์ เป็นไลฟ์สไตล์และฮาวทูต่างๆ อิมเมจก็มีเนื้อหาคละกันหลายๆ แบบ ส่วนมาดาม ฟิกาโรเป็นแฟชั่น อิน แมกกาซีนก็ดารา แต่ละหัวจะมีคาแรกเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน เราไม่ได้เปลี่ยนหัวหนังสือในโลกดิจิตอล เพียงแต่เราทำให้มันดีขึ้น มีคอนเทนต์มากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น”
ธุรกิจต่อยอด
ย้อนกลับไปที่ประเด็น “พริ้นติ้งช่วงขาลง” โจบอกว่าไม่แน่ใจว่ามันลงลึกถึงก้นบึ้ง และพร้อมที่จะเทิร์นกลับมาเหมือนเก่าหรือยัง แต่ที่เขาแน่ใจคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว
“น้อยคนมากที่จะซื้อนิตยสารมาเปิดอ่าน พริ้นติ้งที่ขายได้ทุกวันนี้ บางส่วนเป็นเพราะคนชอบอ่านหนังสือ ไม่อยากใช้สายตาอยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ หรือพริ้นติ้งที่เป็นแนวเฉพาะ อย่างเช่นเรื่องการเมืองหรืออะไร หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เมื่อก่อนเคยจองหน้าโฆษณากันล่วงหน้า 3-6 เดือน วันนี้โฆษณาแทบไม่มีเลย เม็ดเงินที่มีเข้าพริ้นติ้งหายไป มันเป็นช่วงขาลง ทั้งเทรนด์ ทั้งเม็ดเงิน ทั้ง viewer”
“พูดถึงเรื่องพริ้นติ้ง เราโชคดีอยู่ที่ยังมีมาดาม ฟิกาโรบนไฟลท์สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งมีผู้โดยสารเดือนละล้านกว่าคน และบนเครื่องบินของแอร์เอเชียเขาไม่มีโทรทัศน์หรือวิทยุให้ คนเลยหยิบหนังสืออ่าน มาดาม ฟิกาโรของเราตอนนี้ขายโฆษณาได้เต็มทุกเดือนนะ เป็นหัวเดียวที่ยอดจองโฆษณาเต็มตลอด ซึ่งก็สะท้อนว่ามันก็ยังมีบางจุดบางมุมที่ขายได้อยู่”
“แต่สุดท้ายแล้วการปรับปรุงบริษัทจะอาศัยพริ้นติ้งอย่างเดียวไม่ได้ เราก็มองเรื่อง digital platform การบริหารโซเซียลมีเดีย เพื่อดึงโฆษณาเข้ามาในเว็บเพจ และเว็บแมกกาซีนสาของเรา และตอนนี้เรากำลังพัฒนา Maxim Channel ใครอยากจะดูเรื่องราวของแม็กซิมก็สามารถเข้าไปดูในยูทูบได้ ขณะเดียวกันเราก็จะมีคล้าย Video Contents ในโซเซียลมีเดียของเรา”
“นอกจากนั้นเรายังเริ่มพัฒนาบริการดูแลโซเซียลมีเดียให้กับลูกค้าบางราย ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าอินเตอร์ เป็นลูกค้าระดับกลาง ที่ไม่สามารถหาทีมงาน 3-4 คนมานั่งดูโซเซียลมีเดียให้ เราก็มีบริการนี้ไปเสนอเขา ตอนนี้เราบริหารโซเซียลมีเดียให้กับลูกค้าหลายรายแล้วเหมือนกัน ผลตอบรับก็ออกมาดี อีกเดือนหรือสองเดือนเราจะปรับโครงสร้างอีกรอบหนึ่ง เพื่อรับบุคลากรด้านนี้มาเพิ่มเติม”
ไม่เพียงแค่นั้น เขายังเล่าถึงแผนธุรกิจใหม่อีกอย่างเกี่ยวกับอาหารเสริม “เราจับมือกับโรงงาน จดลิขสิทธิ์ชื่อ Maxim Fit เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จัดจำหน่ายผ่านสาวแม็กซิม คนที่ประกวดมาแล้วก็จะมีรายได้ทางอ้อมจากการเป็นตัวแทนขายอาหารเสริม ตัวแรกชื่อ Maxi by Maxim Fit ตัวที่สองชื่อ Flip by Maxim Fit”
รวมถึงการทำแอพลิเคชั่น Live Chat ที่จะมีสาวแม็กซิม หนุ่มสเตรท กาย สาวเฮอร์ เวิลด์ มาแช็ตกับกลุ่มเป้าหมาย “และเรายังจะเน้นหนักเรื่องอีเวนต์มากขึ้น จัดใหญ่ขึ้น”
อย่าเรียกผมว่า “ป๋า”
เรื่องดื่ม “ผมชอบดื่มไวน์ และชอบสะสมไวน์ ตัวไหนชอบ ตัวไหนดีผมก็ซื้อเก็บไว้ ดื่มเองบ้าง ให้ใครๆ บ้าง ผมมีตู้เก็บที่ออฟฟิศ ที่บ้าน คิดว่าอีกเดือนหรือสองเดือนจะปรับปรุงบ้าน อาจจะต้องทำห้องเก็บไวน์ให้ใหญ่ขึ้น เพราะตอนนี้เริ่มมีเยอะมาก เรื่องไวน์น่าจะเป็นสิ่งที่ผมฟุ่มเฟือยที่สุดในชีวิตแล้วนะ แต่ผมก็ไม่ได้ดื่มไวน์แพงตลอดนะ ผมชอบเสาะหาไวน์ที่ value for money มากกว่า”
เรื่องรถ “ผมไม่ใช่คนเล่นรถ แต่ผมชอบขับรถ ผมสัมผัสซูเปอร์คาร์มาเยอะมาก และขับในสนามด้วยนะ ถามว่าชอบไหม ผมชอบมาก แต่จะให้ซื้อรถคันละ 20-30 ล้านแล้วไม่ค่อยได้ใช้ ผมไม่เอา ถ้าผมอยากขับจริงๆ ผมก็มีพรรคพวกให้ผมใช้เยอะ อีกอย่างผมอายุขนาดนี้แล้ว ไม่รู้ว่าจะสะสมรถไปทำไม ที่บ้านก็ไม่มีที่จอดด้วย”
เรื่องผู้หญิง “พอมาคุมแม็กซิม ก็มีคนชอบถามผมว่า แฮปปี้ไหม ผมบอกเลยว่า โดยธรรมชาติเวลาอยู่ใกล้ๆ ผู้หญิงสาวสวย ผมคิดว่า พอผมต้องเข้ามาบริหารจัดการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปวดหัวสำหรับผมมาก ถ้าคุณต้องมาดูแลผู้หญิง 40-50 คน และมีเรื่องให้แก้ปัญหาทุกวัน ผมว่ามันกลายเป็นเรื่องเจ้านายกับลูกน้อง การไปยุ่งอะไรกับเขาเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เด็กบางคนเรียกผมคุณอาบ้าง เรียกนายบ้าง บางทีก็เรียกพี่ เรียกป๋านี่ยังไม่มี เขาคงรู้ว่าผมไม่ชอบให้ใครมาเรียก “ป๋า” เดี๋ยวมันดัง”
พันธะและภารกิจก่อนเกษียณ
เมื่อถามถึงสิ่งบ่งชี้ความสำเร็จ ผู้บริหารวัยกลางคนนิยามความเห็นส่วนตัวให้ฟัง “สำหรับธุรกิจของทรี แดนซ์ พับลิชชิ่ง ความสำเร็จหมายถึงว่าผมต้องเปลี่ยนจากภาวะขาดทุนเป็นเท่าทุนหรือเป็นกำไรให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี นี่คือสิ่งที่ผมให้คำสัญญากับเพื่อนร่วมธุรกิจไว้ ผมว่ามันน่าจะเป็นงานสำคัญชิ้นสุดท้ายก่อนผมเกษียณก็ได้ แม้ว่าองค์ประกอบเยอะมากในการทำธุรกิจ แถมยังอยู่ในช่วงขาลงด้วย”
“ปีนี้ผมพยายามจะทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด ปีที่แล้วผมพยายามเคลียร์ทุกอย่าง อะไรที่ใช่เก็บไว้ หรืออะไรไม่ใช่เอาออก ปีนี้เป็นการเสริมทัพในส่วนของดิจิตอลที่เราเลือก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ลูกค้าเห็นว่า เรา go digital ปีหน้าเป็นปีที่คิดว่าเราน่าจะมีกำไร และเมื่อมีกำไรแล้ว สเต็ปต่อไปผมคิดว่า ผมจะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์”
ความสุขในชีวิต
โจแบ่งสรรความสุขของตนเองเป็น 2 ส่วน ความสุขจากการทำงาน และความสุขจากครอบครัว
“ความสุขจากการทำงาน คือ การทำอะไรที่สามารถบรรลุผลตามที่คิดไว้ได้ ซึ่งแค่นั้นผมก็แฮปปี้แล้ว เหมือนอย่างการจัดงานครบรอบ 6 ปีของแอตติจูดเมื่อสัปดาห์ก่อน (21 มีนาคม) ผมเห็นคนมาร่วมงานล้นห้องเกินคาด เมื่อก่อนนี้ผมยังเคยคิดว่า งานแอตติจูดคงเป็นงานที่ไม่มีใครอยากมา เป็นงานของชาว LGBT แต่ภาพมันเปลี่ยนไปแล้ว ผลลัพธ์ออกมาดี ผมก็มีความสุข”
“ความสุขอีกส่วนหนึ่งคือความสุขจากครอบครัว ผมโชคดีที่ครอบครัวผมเข้าใจว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ภรรยาผมเข้าใจ ผมทำงานหนัก บางครั้งมีงานเลี้ยงต้องกลับบ้านดึก ลูกสองคนของผมก็เข้าใจ ขนาดรูปโปรไฟล์ในไลน์ ผมถ่ายกับสาวแม็กซิม 5 คน ผมเคยเอารูปนี้ไปให้ลูกดู ถามว่าถ้าพ่อเอารูปนี้ขึ้นเป็นรูปโปรไฟล์ ลูกว่าอย่างไร ลูกบอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลย งานของคุณพ่อ ให้ภรรยาดู เขาก็บอกว่า เออ…สาวๆ น่ารักดี นี่คือส่วนสำคัญที่จะผลักดันเรา คนบางคนไม่กล้าแม้แต่จะเอารูปที่ตัวเองถ่ายกับผู้หญิงอื่นมาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ แต่สำหรับผม ผมคิดว่าครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่คุยกันรู้เรื่อง ความสุขของผมคือ การที่คนสำคัญในชีวิตเขารักเรา เขาเข้าใจเรา แค่นั้นละ”
แผนความสุขอีกอย่างเพิ่มเติม คือการปรับแต่งบ้าน โจเล่าให้ฟังในตอนท้ายของบทสนทนา เขามีบ้านหลังเก่าในบริเวณที่อยากจะปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องจัดเลี้ยงเล็กๆ ไว้คอยต้อนรับเพื่อนฝูง “เพื่อนผมชอบสูบซิการ์ ผมก็จะทำห้องเล็กๆ ไว้เป็นห้องสูบซิการ์ แล้วมีห้องเก็บไวน์ ห้องออกกำลังกาย ห้องครัว ห้องนอนที่ชั้นล่าง
“อีกหน่อยอายุมากแล้วผมคงไม่อยากไปไหนเยอะ อาจจะอยู่บ้าน” เขาบอก ใบหน้ายิ้ม “คิดถึงตรงนี้ผมก็อยากเกษียณแล้วละ”