รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง! “หวาน มัน เค็ม”
ให้ชีวิตดีๆ เริ่มง่ายๆ กับ “ทางเลือกสุขภาพ”
อาหาร “หวาน มัน เค็ม” 3 รสชาติของความอร่อยที่หลายๆ คนยังไม่รู้ว่า การกินอาหารที่รสชาติจัดจ้านมากเกินไปก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคร้าย ที่เรียกว่า “NCDs” (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ในปัจจุบัน กลุ่มโรคเหล่านี้คือสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย
ตัวการหลักๆ ในอาหารแสนอร่อยที่ก่อให้เกิดโรค NCDs นั้น ไม่ว่าจะเป็นในอาหารแปรรูป ขนม หรือเครื่องดื่มต่างๆ ก็คือน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรค “NCDs” ลง เริ่มง่ายๆ โดยลดเจ้า 3 ตัวร้าย “หวาน มัน เค็ม” ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจว่า หวาน มัน เค็ม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง และปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่ร่างกายควรได้รับอย่างเหมาะสมในแต่ละวัน มันคือเท่าไรกันแน่
หวาน – ไม่ได้นับแค่ปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติในอาหาร แต่รวมถึงน้ำตาลที่อยู่ในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ การกินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้อ้วนง่ายขึ้น เพราะโดยปกติแล้ว ร่างกายจะนำพลังงานจากน้ำตาลมาใช้ในกระบวนการเผาผลาญ หากกินมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลส่วนเกินเป็นไขมันสะสม ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน การกินหวานที่เหมาะสมนั้น ผู้ใหญ่ควรบริโภคน้ำตาลที่เติมลงในอาหารหรือเครื่องดื่มไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 24 กรัม) ส่วนเด็กไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 16 กรัม) โดย 1 ช้อนชาเท่ากับ 4 กรัม เพราะนอกจากน้ำตาลจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคแล้ว ยังทำให้แก่เร็วอีกด้วย เนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินไปจะเข้าไปทำลายคอลลาเจนในผิวหนัง
มัน – หมายถึงศัตรูตัวร้ายหากได้รับมากเกินไปอย่าง “ไขมัน” นั่นเอง ซึ่งมาจากปริมาณน้ำมันในการประกอบอาหาร รวมถึงไขมันที่อยู่ในขนมขบเคี้ยวแสนอร่อยทั้งหลาย อาหารประเภททอด และอาหารแปรรูปต่างๆ ที่มีไขมันแฝงตัวอยู่ อาทิ ไส้กรอก ทูน่ากระป๋อง ขนมเค้ก ของหวานน้ำกะทิ เบเกอรี่ เป็นต้น ปริมาณไขมันที่สูงเกินไปจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและความดันโลหิตสูง ควรบริโภคไขมันไม่เกิน 65 กรัมต่อวัน หรือใช้น้ำมันประกอบอาหารไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
เค็ม – โซเดียม คืออีกหนึ่งภัยอันตรายต่อสุขภาพ การกินเค็มมากเกินไปทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไต ควรบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 2,000 มิลลิกรัม) นอกจากต้องระวังเรื่องของเกลือแล้ว ต้องไม่ลืมว่าแหล่งที่มาของโซเดียม ไม่ใช่แค่เกลืออย่างเดียว แต่ยังรวมถึงโซเดียมแฝงในอาหาร อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปขนมขบเคี้ยว อาหารหมักดอง และที่สำคัญ คือ เครื่องปรุงรสนานาชนิดที่เรานิยมใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหารให้อร่อย ดังนั้น เราจึงควรชิมก่อนปรุง และปรุงรสชาติอาหารแต่พอเหมาะ
อย่างไรก็ตาม ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่และสังคมเมืองที่ขยายตัว มีชีวิตที่เร่งรีบในแต่ละวัน รวมทั้งช่วงวันหยุดที่หลายคนก็ยังคงใช้ชีวิตกินดื่มเที่ยวกันอย่างเต็มที่ เราจึงอาจเพลิดเพลินกับรสชาติความอร่อยของอาหารรสจัดจ้านที่มีภัย “หวาน มัน เค็ม” แฝงตัวอยู่ วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เรามีพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ การเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ไม่เกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และอาจารย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานทางการศึกษาที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางวิชาการร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้สัญลักษณ์โภชนาการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลโภชนาการที่ลดความซับซ้อนลงให้กับผู้บริโภค ซึ่งจากเดิมข้อมูลทางโภชนาการจะอยู่ด้านหลังผลิตภัณฑ์ มีความซับซ้อน และสังเกตเห็นได้ยาก ทำให้ผู้บริโภคอาจไม่มีเวลาอ่านฉลาก สัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ด้านหน้าของผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้มีโภชนาการเหมาะสม และเกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค ทำให้มีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพมากขึ้น การที่ผู้บริโภคเกิดความตระหนักหันมาใส่ใจสุขภาพ จะเกิดความสนใจหาความรู้ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ลดการบริโภคอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ทำอาหารผัดและทอดน้อยลง และเพิ่มการบริโภคผักผลไม้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน
นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “เนสท์เล่รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทยที่ใส่ใจด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพ เรามุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและอร่อยถูกใจ จนมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์และได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” มากที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2561 ถึง 44 รายการ (ข้อมูลจากโครงการสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561) เช่น ผลิตภัณฑ์ เนสกาแฟ อเมริกาโน่ เนสกาแฟ แบล็ค ไอซ์ ไมโล ทรีอินวัน สูตรน้ำตาลน้อย เนสวิต้า นมตราหมี ยูเอชทีรสจืด รวมถึง 14 ผลิตภัณฑ์ของไอศกรีมเนสท์เล่ภายใต้แบรนด์เอสกิโม ไมโล และลาฟรุ๊ตต้า ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคไทยอย่างดีเยี่ยม เนสท์เล่จะเดินหน้าในการพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ (Nestlé Purpose) ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคต (Enhancing quality of life and contributing to a healthier future) ให้กับผู้บริโภคไทยอย่างไม่หยุดยั้ง”
นอกจากความสมดุลในการกินอาหาร การเลือกกินหวาน มัน เค็มอย่างรอบคอบและชาญฉลาดด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพให้ห่างไกลโรคแล้ว เพื่อให้สุขภาพดีอย่างสมบูรณ์แบบ เราควรออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำสะอาดมากๆ ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และตรวจเช็คสุขภาพประจำปีเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว