Site icon Spotlight Daily

พุฒิ ภูมิจิต กับพื้นที่ตรงกลางของวัยกลางคน

เรื่องและภาพ: วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย

               พอพูดถึงคำว่า Midlife หลายคนอาจนึกถึงคำว่า Midlife Crisis หรือ วิกฤตวัยกลางคน หากแต่อัลบั้มใหม่ของ ‘ภูมิจิต’ วงอินดี้ร็อก เจ้าของเพลงดังอย่าง ‘ตัวเราของเรา’ และ ‘ลุมพินี’ ที่กลับมาออกอัลบั้มใหม่ในรอบ 7 ปี โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า ‘Midlife’ กลับเลือกที่จะขยายขอบเขตนิยามคำนี้ไปมากกว่านั้น
               ‘ชีพจร’ คือเพลงแรกในอัลบั้มใหม่ที่พวกเขาเพิ่งปล่อยมาให้ฟังหมาดๆ ทำหน้าที่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของคอนเซปต์อัลบั้มที่เล่าถึงชีวิตคนเราที่ต้องอยู่ครึ่งๆ กลางๆ ของทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย ความจริงกับความฝัน สิ่งที่ต้องทำกับสิ่งที่อยากทำ  
               มาลองฟัง พุฒิ – พุฒิยศ ผลชีวิน นักร้องนำและคนเขียนเพลงของวงอธิบายถึงที่มาที่ไปของอัลบั้มนี้ รวมไปถึงความรู้สึกของสถานะการอยู่ตรงกลาง ทั้งในความเป็นศิลปินและสถานะของชีวิตแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่ทุกคนต้องพบเจอเช่นกัน

จุดเริ่มต้นของอัลบั้ม Midlife เกิดขึ้นได้อย่างไร  

               ตอนแรกเราตีความคำว่า Midlife เป็นแค่ปัญหาวัยกลางคนที่ต้องเจอ แต่มาพบว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่วัยกลางคนเท่านั้นที่เจอ มันเป็นปัญหาของคนที่อยู่ระหว่างความจริงกับความฝัน หรือระหว่างทางที่ต้องเลือกอะไรสักอย่าง ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมด ไม่รู้จะใช้ชีวิตไปทางไหน เราไม่ได้อยากบอกว่าจะให้ไปทางไหน แต่เราเป็นเพื่อนกับนาย เราจะไปด้วยกัน จริงๆ วงภูมิจิตเราหาเงินไม่ได้เยอะหรอก เราจึงต้องเอาเงินที่ได้จากการทำงานอื่นมาให้สิ่งที่ตนเองต้องการ ปัญหาคือคนรุ่นเราไม่เลิกเล่นดนตรีไปแล้วก็ดังไปเลย มันไม่มีใครที่อยู่จุดเดียวกับเรา ความครึ่งๆ กลางๆ ตรงนี้เลยเป็นจุดที่มีความน่าสนใจมาก

เนื้อหาในอัลบั้มมาจากชีวิตจริงเลยไหม

             เหมือนตอนแรกเราพยายามเขียนเพลงให้เป็นเชิงสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แต่มารู้สึกว่ามันฉลาดเกินความรู้เราไปหน่อย สุดท้ายเรากลับมาเล่าเรื่องง่ายๆ คือชายวัยกลางคนต้องเจอปัญหาต่างๆ แต่ก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ บางทีชีวิตเหมือนการเล่นจักกลิ้งสี่ห้าลูกพร้อมกัน พอพลาดลูกเดียวก็มีโอกาสที่จะล้มทั้งหมดได้ เรารู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะนี้ เพื่อนหลายคนก็อาจอยู่ในสภาวะนี้ ซึ่งบางคนก็อาจทิ้งบางลูกไปแล้ว มันคือชุดความรู้ที่เราได้เจอได้เรียนรู้มา และพยายามถ่ายทอดประสบการเหล่านี้ออกไป เพราะมีคนจำนวนมากที่เจอเรื่องเหล่านี้แล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เคยจินตนาการเห็นหน้าคนฟังไหม ว่าเป็นประมาณไหน

              เราเห็นหน้าหลายคน เราชอบนึกถึง พี่หนุ่ม The Money Coach (จักรพงษ์ เมษพันธุ์ โค้ชการเงินชื่อดัง) คือตอนที่เขาเล่าว่าเป็นหนี้ที่บ้านแล้วต้องหาทางปลดหนี้ แล้วรู้สึกว่าการพยายามหาทางออกเพื่อปลดหนี้เป็นโมเมนต์สำคัญที่คล้ายๆ กับในอัลบั้มนี้มาก บ้านก็ต้องดูแล เมียก็มี เงินก็ต้องหา ความฝันที่อยากรวยก็มี ทุกอย่างทับซ้อนกันไปหมด แล้วจะแพ้บ้างไม่ได้เหรอ ต้องชนะให้หมดเหรอ ฟังแล้วเหมือนกับสิ่งที่เราเจอในช่วงนี้ เพียงแต่ว่าเราอยากทำวงให้ประสบความสำเร็จ และคิดว่ามีเพื่อนเราอีกหลายคนที่ทิ้งความฝันไปหมดแล้ว เพราะมีครอบครัวมีลูกแล้ว ทำให้ไม่กล้าทำสิ่งที่เคยฝันไว้มานานแล้ว

              เราหวังว่าอัลบั้มเราจะช่วยให้เขาคิดว่า ถ้าทำตามความฝันไม่ได้ เขาก็ยังรู้สึกว่ามีเพื่อนที่ทำบางอย่างได้อยู่ เพราะฉะนั้นคนที่ฟังอัลบั้มนี้ก็น่าจะเป็นช่วงอายุ 27-40 ประมาณนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังเปลี่ยนผ่านระหว่างความเป็นวัยรุ่นกับเป็นผู้ใหญ่ เหมือนหลายคนที่บอกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ทิ้งไฟแบบวัยรุ่นได้รึเปล่า แต่ขณะเดียวกันเด็กหลายคนก็บอกว่า จะเป็นวัยรุ่นตลอดไปได้ไหม โดยที่ไม่ต้องเป็นผู้ใหญ่ แต่เราอยากบอกว่ามันต้องเป็นทุกอย่างแหละ เหมือนทำอัลบั้มนี้มาไว้ตรงกลาง ถ้าเด็กๆ ได้ฟังตอนนี้อาจจะยังไม่คิดอะไร แต่ถ้าถึงวัยประมาณหนึ่งที่ได้เจอปัญหาประมาณนี้ อัลบั้มเราจะช่วยเหลือนายได้ เราหวังว่าจะเป็นชุดความรู้ตรงกลางบางอย่างที่ทำให้คนรุ่นต่อๆ ไปมีกำลังใจได้

แสดงว่าแฟนเพลงที่อายุยังไม่มากก็สามารถเข้าใจเนื้อหาได้

              เวลาที่หลายคนชอบพูดว่า “เด็กสมัยนี้” เมื่อก่อนเราเกลียดคำนี้มาก แต่ตอนนี้เราอายุ 35 เจอปัญหาคือเพื่อนรอบๆ ตัวเราพูดคำนี้หมดเลย เรารู้สึกว่าไม่อยากใช้คำนี้กับคนรุ่นต่อไป เพราะมันบล็อกทุกอย่างหมดเลย สมัยเด็กๆ พ่อแม่เราฟังสุนทราภรณ์ แต่เราฟังโมเดิร์นด็อก ก็จะเจอคำด่าว่า เพลงสมัยก่อนดีกว่า พอพูดแบบนั้นทำให้เราไม่ชอบสุนทราภรณ์ โดยที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แค่เขาอยู่คนละยุคกับเรา เราจึงไม่อยากให้เพลงแค่เล่าสิ่งที่เกิดในยุคของเรา แต่อยากให้เป็นชุดความรู้ที่ส่งต่อไปให้คนได้หลายๆ รุ่น เป็นการตั้งคำถามว่า เรากำลังเป็นวัยกลางคนอย่างที่เราฝันไว้รึเปล่า เป็นวัยที่ไม่ตัดสินคนรุ่นต่อไป แล้วเรามีดีพอไหมที่จะรับฟังคนที่เด็กกว่าเรา

             ถึงเพลงมันจะยาก แต่เราพยายามทำให้คนฟังรู้สึกผูกพันกับมันได้มากขึ้น เราไม่ใช่คนเขียนเนื้อยาก แต่บางทีเราเขียนเนื้อที่คนฟังอาจรู้สึกว่ามันจริงเกินไป ซึ่งมันเป็นปัญหา เพราะในหลายสิบปีที่ผ่านมา เราเล่าดนตรีในมโนภาพของความฝัน มันคือสิ่งที่เราพยายามจะบอกว่าเราเห็นอะไร มากกว่าจะบอกว่ามันเกิดอะไร เลยเป็นเรื่องที่ยากหน่อย ถ้าใครที่เกิดในยุคก่อนหน้านี้ เพลงต้องไปในทางรัก ถ้าไม่รักมันจะถูกตีไปในกลุ่มเพื่อชีวิตเลย หรือก่อนหน้านั้นเพลงไทยก็ไม่ได้มีเนื้อเพลง แต่เราถูกฟิลเตอร์บางอย่างให้จำเป็นต้องมีเนื้อเพลง เราแค่พยายามใช้วิธีหลากหลายเพื่อเล่าให้ได้ครบ

อยากให้เล่าที่มาของเพลง ‘ชีพจร’

            เพลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของอัลบั้มนี้ ตอนนั้น กานต์ (เกษม จรรยาวงศ์ มือกีตาร์) เพิ่งกลับมาจากอังกฤษ หลังจากไปอยู่ที่นั่นมา 2 ปี ก็ขับรถไปเที่ยวทองผาภูมิด้วยกัน ระหว่างทางที่ขับรถกลับก็คุยเรื่องชีวิตมาตลอดทาง และคุยอัลบั้มต่อไปว่าจะยังไงดี ด้วยความที่กานต์มันอยู่อังกฤษทำให้มันเอียนเพลงประเภท Topshop ร็อก ซึ่งเวลาเข้าร้าน Topshop จะมีเพลงของวงอินดี้อังกฤษเปิดหลากหลายมาก ซึ่งมู้ดเหมือนเป็นเพลงเดียวกันตลอด เราเลยไม่อยากทำแนวนั้น เราจึงเลือกใช้วัตถุดิบที่เรามีในประเทศนั่นแหละ ก็ดูว่าเราฟังอะไรกันบ้าง ในช่วงนั้นจะมีสองวงเราฟังตลอดคือวง The Who กับ อาจารย์ดนู ฮันตระกูล เราก็เลยได้เพลง ‘ชีพจรลงเท้า’ ของอาจารย์มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยใช้โครงสร้างคอร์ดของเพลงนั้นมาทำเป็นอินดี้ร็อก เติมเนื้อเติมหลายอย่างเข้าไปจนเป็นอย่างที่ได้ยินกัน

           เนื้อเพลงมีที่ฉากหลายๆ คนบอกว่ามันจริงมาก คือผู้ชายคนหนึ่งไปทำงาน แต่ตอนระหว่างทำงานก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามีความฝันที่ต้องทำอยู่รึเปล่า แล้วงานที่ทำอยู่ควรจะทำต่อไปไหมหรือควรจะทิ้งมันไป ถ้าเป็นในอัลบั้ม ‘Bangkok Fever’ อาจจะบอกว่าให้ทิ้งไปเถอะ แต่ถ้าในชุดนี้ เราจะไม่ตอบแบบเดิมแล้ว เราอายุมากเกินกว่าที่จะทำอะไรแบบวัยรุ่นได้แล้ว

เห็นว่ามีการทำรายการพอดแคสต์เพื่อมาช่วยเสริมเรื่องที่เล่าในอัลบั้มด้วย

            หลายคนชอบบอกเราว่า เวลาทำเพลงเสร็จก็ปล่อยให้เพลงทำหน้าที่ของมัน แต่เรารู้สึกว่าเพลงมันทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ถ้าเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่คลอดลูกคนหนึ่งมา เราคงไม่ปล่อยให้ลูกมีชีวิตเป็นของตัวเอง ต้องมีหลายๆ ส่วนที่ทำให้ลูกของเราไปในเส้นทางที่ควรไป ทำให้ลูกของเรามีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็เลยคิดเรื่องพีอาร์มานานมาก คิดว่ามีวิธีไหนที่เวิร์กแล้วคนรู้สึกผูกพันกับมันไปด้วย สุดท้าย ยู (กตัญญู สว่างศรี Stand Up Comedian รุ่นใหม่) ก็แนะนำว่าลองทำพอดแคสต์ไหม โดยเลือกใครสักคนมาคุยโดยที่ใช้หัวข้อเป็นเพลงในแต่ละเพลง ซึ่งเพลงนี้เป็นคอนเซปต์อัลบั้ม ซึ่งปกติคนทำเพลงเป็นอัลบั้มมันจะเหมือนหนังสือรวมเรื่องสั้น แต่ของเราเหมือนเขียนนวนิยายหนึ่งเรื่อง โดยทำเป็นพอดแคสต์ชื่อรายการ Midlife Podcast นี่แหละ อัลบั้มนี้ของเรามีทั้งหมด 4 องก์ เล่าตั้งแต่เปิดตัวละคร ไปจนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เจอ ซึ่งเราเล่าเรื่องแบบนี้มาตลอด ตั้งแต่อัลบั้ม ‘Found and Lost’ และ ‘Bangkok Fever’ แต่กลับไม่ค่อยมีคนมองว่าเป็นคอนเซปต์อัลบั้ม ซึ่งจริงๆ มันแข็งแรงมาก เราจึงอยากค่อยๆ เล่าและค่อยๆ ทำความเข้าใจ ใช้วิธีที่เล่าเรื่องโดยไม่เล่าเรื่อง

            และได้ บีเบนซ์ (พงศธร ธิติศรัณย์ อีกหนึ่ง Stand Up Comedian รุ่นใหม่) อีกคนมาเป็นพิธีกร ซึ่งอายุน้อยกว่าเรา 10 ปี เราเป็นวัยกลางคนแล้ว แต่เขาเพิ่งเป็นวัยเริ่มทำงาน มานั่งคุยกับแขกรับเชิญ เพื่อมาดูว่าคนรุ่นเรามีอะไรให้คนรุ่นต่อไปบ้าง ขณะเดียวกันคนรุ่นต่อไปเขามีอะไรหรือพร้อมจะรับอะไรจากเราบ้าง เลยกลายเป็นรูปแบบรายการที่ชวนแขกรับเชิญมาคุยกัน การมีบีเบนซ์ทำให้เราเห็นหลายอย่างที่เราลืมไปแล้วที่ว่าเคยเป็นแบบนี้มาก่อน

แล้วคนที่มาให้สัมภาษณ์ในรายการเป็นใครบ้าง

            อย่างเทปที่อัดไปล่าสุด เราสัมภาษณ์เพื่อนสมัยมัธยมคนหนึ่ง ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์เกี่ยวกับงานอนิเมะ ซึ่งหลายๆ คนมองว่าทำงานแบบนี้ชีวิตจะมั่นคงเหรอ รับงานเป็นจ็อบๆ ไปเรื่อยๆ แต่ชีวิตมันดูมีความสุขมาก และเอาตัวรอดได้ ทำให้เรารู้สึกว่าหน้าที่ที่ดีมันคืออะไร มันควรจะ formal หรือไม่ formal เป็นการคุยกับเพื่อนที่ไม่เคยคุยในเชิงลึกมาก่อนเลย เป็นการคุยแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงแต่ได้รู้จักเพื่อนมากกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาอีก เหมือนได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน

มองว่าศิลปินเหมือนเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนฟังกับเรื่องราวที่หยิบมาเล่ารึเปล่า

            เราคิดว่าคนที่ทำงานศิลปะจะมีงานแบบที่ตัวเองถนัดอยู่ อย่างอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ก็วาดรูป หรือถ้าเป็นแบบน้าชำ (ชำนิ ทิพย์มณี) ก็เล่าเรื่องด้วยการถ่ายรูป ซึ่งเราทำแบบนั้นไม่เก่ง แต่เราเขียนเพลงได้ เล่าเรื่องได้ เราก็เลยใช้เป็นหนึ่งในการเล่าเรื่องของเรา เพียงแต่ว่าคอนเทนต์ของเราอาจจะไม่ซ้ำแบบใคร ทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยาก เวลาเราไปดูดนตรีไทยหรือต่างประเทศ จริงๆ เขาซ่อนอะไรไว้มากเหมือนกัน อย่างวงออร์เคสตรา แต่ละคนเล่นคนละโน้ตคนละเครื่องดนตรี แต่รวมเป็นหนึ่งเพลงได้ แต่เราไปดูดนตรีไทยอย่าวงมโหรี ทุกเครื่องดนตรีเล่นโน้ตเดียวกัน เราก็เลยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมของเราอยู่แล้ว เราแค่เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วเราทำสิ่งเดียวกัน แต่ไม่ต้องทำเหมือนกันก็ได้ เพราะทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง

สุดท้ายมองว่าปลายทางของเพลงได้ชี้นำชีวิตคนฟังไหม

            จริงๆ แล้วเราไม่ได้ชี้นำขนาดนั้น แต่จะได้คำตอบว่าเราจะเหนื่อยไปเพราะอะไร เรามีเหตุผลที่เราเหนื่อยขนาดนี้ ตั้งใจทำงานขนาดนี้ เพราะเรามีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดที่เหนือกว่าทั้งหมด คือสุดท้ายคือเรากำลังทำบางอย่างเพื่อคนที่เรารัก เพื่อให้คนที่เรารักภูมิใจในตัวเรา และถ้าเราทำทุกอย่างได้ดีพอ ทำให้เรามีเวลาคุณภาพร่วมกัน เพื่อนสมาชิกในวงภูมิจิตมีลูกกันหมดแล้ว ยกเว้นเรา ทุกคนพยายามทำทุกอย่างเพื่ออยากให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี

            พอถึงวันหนึ่งเมื่อวันที่เราโตพอ ความเป็นตัวของตัวเองอาจจะไม่ได้มีค่ายิ่งใหญ่พอเท่ากับการที่เป็นตัวเราให้อะไรกับโลกใบนี้บ้าง มันเป็นเรื่องที่เราค้นพบตอนทำอัลบั้ม ‘Bangkok Fever’ มีแฟนเพลงหลายคนที่ชอบมาบอกเราว่า เพลง ‘Home Floor’ หรือ ‘ตัวเราของเรา’ ทำให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากๆ ซึ่งมันเปลี่ยนมุมคิดของเรามาก ทำให้รู้สึกว่าเพลงไม่ใช่เรื่องการเห็นแก่ตัวของเราแล้ว แต่มันคือการพยายามที่เราจะหาทางให้เพลงของเราสร้างคุณค่าให้ชีวิตอื่นๆ เพราะตอนแรกเราเขียนเพลงมาเพื่อบำบัดความทุกข์ของตัวเองล้วนๆ เลย

            “เมื่อก่อนเราอยากให้คนยอมรับเพลงของเรา ว่าเราฉลาดเราเก่ง แต่ปรากฏว่าคนยอมรับเพลงเราด้วยเหตุผลที่ดีกว่านั้น เพราะเพลงเราสามารถตอบโจทย์คุณค่าในชีวิตเขาได้ เราถึงชอบบอกว่าอัลบั้มนี้เป็นประสบการณ์ของส่วนตัวเรา แต่เรารู้ว่าเป็นเรื่องที่หลายๆ คนกำลังเจออยู่ และเราก็หวังว่าอัลบั้มนี้จะอยู่ข้างๆ พวกนายในช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต”

 

Facebook Comments Box
Exit mobile version