เรื่องและภาพ : ขาว-ดำ

                ชื่อเล่นของเด็กหนุ่มวัย 25 คือ ‘รอด’ และเป็นก้อนความสุขที่นั่งอยู่ตรงหน้า สนทนากับเรา

                เขาสำเร็จการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมดภาระเรื่องเรียนแล้วเขาก็ไปบวชอยู่ประมาณ 7 เดือน ก่อนมาสมัครงานในสถานที่เคยศึกษา ได้ตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ นับถึงปัจจุบันก็ผ่านมากว่าหนึ่งปี

                รอดเติบโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อ แม่ และพี่ชาย ที่พร้อมยอมรับกับสภาพของเขาตั้งแต่แรกเกิด “ผมเป็นมะเร็งตับตั้งแต่อายุสามเดือน ต้องรักษาด้วยการให้คีโม และนอนไม่ได้พลิกตัวเลยจนกล้ามเนื้อยึด แล้วมีผลให้สายตาสั้นด้วยครับ” เขาบอก รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินและการพูด

                อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับของครอบครัวเช่นกันคือ เพศสภาพ รอดเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์

                “ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่อบอุ่นมากๆ บอกเลย เวลาไปไหนเรามักจะไปพร้อมกันทั้งหมดสี่คน น้อยครั้งมากที่จะไปแยกกัน เพราะปะป๊าขับรถคนเดียวไม่ได้ ต้องมีแม่มีลูกๆ นั่งไปด้วยกัน เราผูกพันกันมาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก ทุกคนทรีตผมเหมือนคนปกติ”

                รอดพูดเล่าเรื่องราวด้วยสีหน้า-แววตาเปื้อนยิ้มตลอดเวลา จนเรามองเห็นเขาเป็นก้อนความสุขอย่างที่บอก

งานประชาสัมพันธ์ที่ทำอยู่ยากไหม

                เป็นงานที่แอบท้าทายเหมือนกันครับ เพราะว่าเป็นงานต้องเจอกับคนจำนวนมาก ต้องหาเด็กจากโรงเรียนต่างๆ มาเรียนวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ให้มากที่สุดตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้

ยุทธศาสตร์เป็นอย่างไร

                ต้องมีกระบวนการต่างๆ เช่น คณะนี้เป็นคณะอินเตอร์ฯ ไม่เหมือนคณะอื่น เป็นหลักสูตรใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกัน อาจจะพรีเซนต์ยากหน่อย แต่เราก็นำอาจารย์ที่มีความรู้ด้านนี้ไปพูดให้นักเรียนฟัง เพื่อให้เขาเข้าใจหลักสูตรมากขึ้นครับ

รู้สึกชอบงานที่ทำอยู่ไหม

                ถามว่าชอบไหม ผมก็ชอบนะครับ เพียงแต่ว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่ชอบที่สุด ผมอยากหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ

ตอนที่เลือกเรียนวารสารฯ ในใจเคยคิดไหมว่าเรียนจบแล้วอยากทำอะไร

                ผมเรียนเบื้องหน้ามาด้วยครับ (ยิ้ม) เรียนวิทยุ-โทรทัศน์ ตอนฝึกงานก็ฝึกงานนักข่าว จริงๆ อยากทำนะครับ แต่มีอุปสรรคบางอย่างให้ทำไม่ได้ เรื่องร่างกายหนึ่ง และเรื่องการพูด ทำให้ไปอยู่เบื้องหน้าไม่ได้ แต่ที่ผมเรียนมาก็ไม่เสียเปล่านะครับ เพราะงานที่ทำอยู่ตอนนี้ก็เอาความรู้จากวารสารฯ เหมือนกัน ผมเรียนด้านพีอาร์มาด้วย ก็เอามาประยุกต์ได้

ตอนนี้รอดยังมีอาการอะไรอย่างไรบ้าง

                อาการเกร็งของสภาพร่างกาย เวลาพูด เดิน หรือทำอะไรบางอย่างครับ แต่บางอย่างก็ไม่เกร็ง ซึ่งผมกำหนดไม่ได้ มันเป็นของมันเอง จากภาวการณ์ทำงานกล้ามเนื้อ ทุกวันนี้ผมแค่ไปตรวจร่างกายกับหมอปีละครั้ง

มีอะไรอีกบ้างที่รอดทำไม่ได้

                การเขียนหนังสือ หรือการยกของบางอย่างที่ไม่สะดวก อย่างเช่นน้ำที่เต็มๆ แก้ว

ระหว่างที่ใช้ชีวิตวัยเรียน เคยรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบเพื่อนๆ ร่วมชั้นบ้างไหม

                ไม่เลยครับ รู้สึกว่าผมจะเอาเปรียบเพื่อนมากกว่า (หัวเราะ) คือผมเขียนไม่ได้ ต้องใช้วิธีพิมพ์ เวลาส่งงานก็จะช้ากว่าคนอื่น เพราะผมต้องกลับไปพิมพ์งานที่หอ แล้วส่งงานวันรุ่งขึ้น แต่เพื่อนต้องส่งเดี๋ยวนั้นเลย แต่นั่นเพราะอาจารย์เข้าใจเรามากกว่า

การเรียนของเราตอนนั้นเป็นอย่างไร

                พอใช้ครับ ไม่ได้ดีมาก (หัวเราะ) ระดับปานกลาง

อะไรคือความสามารถพิเศษของรอด

                ผมชอบรำโขน ตีกลองยาว เล่นหนังใหญ่ ทุกอย่างที่เป็นไทยๆ เคยฝึกโขนมาประมาณหกปี ก็รำได้พอสมควร ความจริงที่ผมเรียนเพราะมันเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง มันทำให้สมาธิดีขึ้น

รอดคิดอย่างไรเกี่ยวกับข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีคนพิการทุบลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

                ผมว่าสังคมไทยน่าจะทำเรื่องการดูแลคนพิการให้มันจบเป็นเรื่องเป็นราวเสียทีนะ ถ้าจะอำนวยความสะดวกให้คนพิการก็ควรทำให้พร้อมทุกที่ที่ควรมี ไม่ใช่บางที่มีบางที่ไม่มี มันทำให้เกิดความไม่สะดวกจริง

                อย่างผมมีสิทธิ์ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสฟรีก็จริง แต่ผมต้องไปแลกบัตรกับพนักงานขายตั๋วก่อน ซึ่งพนักงานบางคนมักจะแสดงปฏิกิริยาไม่ดีใส่เรา ชักสีหน้าใส่ หรือเราสัมผัสได้ว่าเขาไม่เต็มใจบริการเรา ผมว่าสังคมไทยเป็นคล้ายกันนะ ไม่ได้ใส่ใจดูแลคนพิการจริงๆ แต่ทำเพราะต้องทำ   

เรื่องที่ตัวเองเป็นเกย์ เริ่มรู้และยอมรับตัวเองมาตั้งแต่เมื่อไหร่

                ตั้งแต่โตมาผมก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ชายอยู่แล้ว เหตุผลหนึ่งคือ ด้วยสภาพร่างผมคิดว่าคงไม่มีผู้หญิงมาชอบเราหรอก แล้วเราก็ไม่ชอบผู้หญิงด้วย มันสองอย่างเลย (หัวเราะ) ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เมื่อก่อนที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มีอาม่า อากง อาอี๊อยู่ด้วย ก็จะมีเฮียคนหนึ่งที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง เป็นเหมือนกัน สนิทกัน ก็เลยเป็นคู่กันมา

ตอนเด็กๆ มีไอดอลบ้างไหม

                ไม่มีครับ ผมไม่ค่อยเสพสื่ออะครับ เอาจริงๆ ตอนที่รู้ว่าตัวเองเป็นแน่ๆ คือตอนเข้ามัธยมฯ ก็ไปเจอเพื่อนที่เป็นอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ ก็สนุกดี ไม่เครียด ที่บ้านก็ไม่เคยปิดกั้น ไม่เคยบอกว่าห้ามเป็น จะมีครั้งแรกเท่านั้นเอง ที่แม่เห็นตอนเราแต่งหน้าแล้วตกใจ คือตกใจเพราะเราอาจเป็นหนักกว่าที่แม่คิด (ยิ้ม) แต่แม่ก็ไม่ได้ห้าม ที่บ้านสนับสนุนด้วยซ้ำ ปะป๊ายังพาไปตัดชุดราตรีเลย (หัวเราะ)

แต่งตัวเป็นผู้หญิงบ่อยไหม

                แล้วแต่โอกาสมากกว่าครับ (ยิ้ม) อย่างงานธีมของคณะ หรือไปออกรายการที่เขารีไควร์ว่าขอให้แต่งเป็นผู้หญิง จริงๆ ผมก็ไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง แต่งหญิง อาจจะมีความกระตุ้งกระติ้งบ้างเวลาที่อยู่กับเพื่อนที่เป็นด้วยกัน แต่เวลาอยู่กับคนทั่วไปผมก็ปกติ ไม่ได้แสดงกิริยาที่มันบ่งบอกว่าเราเป็น

แต่งหญิงแล้วรู้สึกอายหรือเปล่า

                ไม่ครับ ไม่อายเลย (หัวเราะ) ก็แต่งด้วยความสนุกทำไมต้องอายด้วยละ

ทำไมถึงชอบล่ะ

                ก็สนุกดี ได้เปลี่ยนตัวเองไปเป็นอีกคนหนึ่ง (หัวเราะ) แต่ผมก็ไม่ได้อยากแต่งเป็นผู้หญิงตลอดเวลานะครับ จริงๆ แต่งทีหนึ่งก็เหนื่อย เป็นผู้หญิงนี่ลำบาก มันยากตรงที่ต้องควบคุมร่างกายไม่ให้เป็นผู้ชาย (หัวเราะ) การเดิน การพูด จะต้อง keep look นิดหนึ่ง

รอดเรียนรู้อะไรบ้างในเรื่องที่เกี่ยวกับเกย์

                ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเรายั่งยืนแน่ๆ สมมติว่าเรามีแฟน สักวันหนึ่งถ้าไม่เลิกกันก็ต้องจากกัน สิ่งที่เราควรเรียนรู้ก็คือความปลง

ศึกษาอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างไหม

                ผมอ่านเกี่ยวกับโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะว่าก็แอบกลัวคนในสังคมสมัยนี้ ที่เรารู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ ผมคิดว่าเราควรป้องกันตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ผมก็ไม่ได้ไปมีอะไรกับใครนะครับ แค่อ่านเป็นความรู้

รอดคิดอย่างไรเกี่ยวกับความรักแบบเกย์

                จริงๆ ผมว่าความรักเป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่จะว่าไปผมก็ยังไม่เคยรักใครแบบจริงๆ นะ (ยิ้ม) ผมไม่แน่ใจว่าความรักแบบเป็นแฟนกันมันเป็นอย่างไร

คำว่าแฟนของผม ไม่ได้หมายถึงเรื่องเซ็กซ์อย่างเดียว แต่หมายถึงการดูแลกัน การให้คำปรึกษา ความเข้าใจกันมากกว่า ไม่ถึงกับต้องอยู่ด้วยกัน แต่ต่างคนต่างรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ แค่นั้นเอง

บรรยายภาพได้ไหมว่ารอดเป็นคนอย่างไร

                ผมเป็นคนตลกครับ ชอบทำให้เพื่อนๆ หัวเราะ อารมณ์ดี เวลาเพื่อนด่าหรือแซวผมก็ไม่โกรธนะ เพราะรู้ว่าเพื่อนแซวเพราะความตลกเฮฮาของเรา ผมชอบสร้างเสียงหัวเราะ รอยยิ้มให้คนอื่น ผมเป็นคนอารมณ์ดี ชอบร้องเล่นเต้นรำ ในชีวิตผมไม่ค่อยมีทุกข์นะ เรื่องที่ต้องกังวลก็ไม่มี เพราะผมเรียนจบแล้ว พ่อแม่ก็สบายแล้ว ถ้าจะห่วงก็เรื่องอนาคตของตัวเองว่าจะเดินไปทางไหนมากกว่า

แล้วคิดเอาไว้หรือยัง

                ยังครับ (ยิ้ม) ก็อยากทำงานไปเรื่อยๆ ก่อน อยากหางานที่มั่นคง แล้วอาจจะหางานเสริมสักอย่าง

                อีกอย่างที่สนใจ คือผมเคยไปพูดให้กำลังใจน้องๆ ที่พิการ ที่ธรรมศาสตร์ เป็นโครงการ ‘คนพิการทำงานได้’ ผมพูดแล้วเห็นน้องๆ ยิ้มและสนใจ ผมเลยคิดว่า เรื่องนี้ถ้ามีโอกาสผมก็อยากทำต่อไป อยากไปพูดให้คนที่พิการด้วยกัน หรือคนที่หาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตฟัง

                เวลาอยู่กับคนพิการด้วยกันแล้ว มันเหมือนเขาเข้าใจเรา เราเข้าใจเขา

ว่ากันว่า คนเราอยู่ได้ด้วยความหวัง รอดมีความหวังอะไรบ้าง

                หนึ่ง-คือเปิดโรงเรียนสอนโขน ที่อยากทำแน่ๆ สอง-อาจจะมีเพื่อนในชีวิตที่ดีคนหนึ่ง อาจจะไม่ต้องเป็นแฟน แต่เป็นคนที่คุยได้ทุกเรื่อง เข้าใจกัน และเดินไปด้วยกัน และอีกอย่างคือ อยากให้พ่อแม่สบายกว่านี้ มีทุกอย่างที่อยากมี

ความสุขในชีวิตของรอดคืออะไร

                ผมว่าผมมีครอบครัวที่ดี มันเลยทำให้ผมมีความสุข ถ้าเราอยู่ในครอบครัวที่แตกแยกหรือว่าไม่มีความสุข เราก็จะไม่มีความสุขไปด้วย มันไม่มีเรื่องต้องเครียดหรือต้องห่วง

จำครั้งที่ตัวเองมีความสุขที่สุดได้ไหม

                (คิด) ตอนสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ ตอนนั้นผมมีความสุขมากเหมือนกัน เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะได้มาเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีแบบนี้ คือผมเป็นแค่เด็กเรียนปานกลาง ไม่ได้เก่ง

                เรื่องของเรื่อง พอดีแม่ไปอ่านเจอข่าวว่า ธรรมศาสตร์เปิดรับนักศึกษาพิการ ซึ่งผมเองไม่เคยมีบัตรคนพิการตั้งแต่เกิด แม่ไม่อยากไปทำ เพราะกลัวว่าผมจะมีปมด้อย แต่พอธรรมศาสตร์รีไควร์ว่าต้องมีบัตรคนพิการ ผมเลยต้องกลับไปหาหมอ ให้หมอช่วยเซ็นรับรองเพื่อทำบัตรคนพิการ

ก่อนหน้านี้รอดไม่เคยใช้สิทธิ์ของคนพิการเลยหรือ

                ไม่เคยมาตั้งแต่เกิดเลยครับ เพิ่งมามีตอนอายุ 18 อะครับ

คนพิการทุกคนควรมีบัตรไหม

                ควรมีครับ เพราะมันเป็นบัตรคุ้มครองตัวเอง ความจริงมันมีสิทธิ์หลายอย่างมากที่คนพิการส่วนใหญ่ไม่รู้ อย่างเช่น ซื้อตั๋วเครื่องบินลดครึ่งราคา อะไรแบบนี้ ผมคิดว่าคนพิการส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ออกมาข้างนอก เพราะครอบครัวนี่แหละที่ครอบงำเขาอยู่ คิดว่าถ้าออกมาแล้วเขาจะทำตัวเป็นภาระต่อสังคม เขาก็เลยไม่กล้าออกมา คนพิการส่วนใหญ่จึงอยู่แต่ในบ้าน ไม่กล้าออกมาเจอสังคมข้างนอก

แต่ครอบครัวของรอดเลี้ยงมาอีกแบบหนึ่ง

                ใช่ครับ

รอดเคยรู้สึกกลัวไหมตอนที่ออกมา

                ผมไม่เคยกลัวเลยครับ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่แอบโกรธแม่ตอนที่แม่เล่าให้คนอื่นฟังว่าลูกไม่แข็งแรง แต่ตอนหลังมานึกอีกที แม่คงภูมิใจในตัวเรา

อาการกล้ามเนื้อยึดของรอดมีโอกาสจะหายเป็นปกติไหม

                อาจจะดีขึ้นครับ แต่หายขาดคงจะไม่ แต่ผมก็แฮปปี้กับแบบนี้นะ ไม่ได้ลำบากอะไรกับชีวิตมาก สามารถใช้ชีวิตปกติได้

มีอะไรอยากฝากถึงคนไม่แข็งแรงคนอื่นๆ บ้าง

                คนที่ไม่แข็งแรง ผมว่าหนึ่งคือ เขาไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสังคม บางคนอาจจะมองว่าสังคมโหดร้าย ซึ่งมันก็เรื่องจริงนะ แต่มันก็มีสังคมบางส่วนที่ไม่ได้โหดร้ายอย่างที่คิด อย่างผมทำงานอยู่ที่นี่ ผมมีสังคมที่ดีมากๆ เลย สภาพแวดล้อมอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการแทบทุกอย่าง อยากบอกว่าขอให้กล้าออกจากที่ที่คุณอยู่ โลกข้างนอกมีอะไรเยอะมากที่ดีกว่าอยู่แต่ในบ้าน ลองกล้าก้าวออกมาดู

                จริงๆ คนพิการไม่อยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นภาระ ผมเชื่อว่าคนพิการทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้ และอยากให้คนปกติมองกลับไปที่คนพิการด้วยว่า เขาไม่ได้เป็นภาระของคุณ และคุณไม่ต้องช่วยเหลือหรือดูแลคนพิการเพราะว่าคุณต้องทำ คืออย่าทำเพราะต้องทำ

                ซึ่งคนพิการก็จะมองเรื่องนี้เหมือนกันว่า ถ้าคุณทำโดยที่ไม่เต็มใจ ก็อย่าทำดีกว่า เขาดูแลตัวเองได้  

Facebook Comments Box