เรื่องและภาพ : นนทพัฒน์

                  บางคนสู้เพื่อตัวเอง บางคนสู้เพื่อคนอื่น บอย-คชภพ สงวนวงศ์ ผู้ชายนักคิด นักบริหาร และเอ็นเตอร์เทนเนอร์ เลือกสู้เพื่อทั้งสองอย่าง ด้วยทุกบทบาทการงานและกิจกรรมไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ชีวิต และพร้อมจัดการกับปัญหาทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามา วันนี้เขาจึงเป็นกรรมการผู้จัดการธุรกิจที่ปรึกษาด้านการสื่อสารการตลาดและออนไลน์ ในวัยเพียงสามสิบกว่า

เหยี่ยวข่าวหนุ่มน้อยสู่ท่านประธานกิจการ

                  คนแต่ละคนมีก้าวชีวิตที่ต่างกัน และด้วยนิสัยและความคิดบางอย่าง ทำให้ประสบการณ์ความสำเร็จของแต่ละคนต่างกัน ในส่วนของ บอย-คชภพนั้น เขาเป็นคนไม่อยู่นิ่ง หากแต่คิด เรียนรู้ และตั้งเป้าเสมอ ที่สำคัญนอกจากความเป็นผู้นำแล้ว ยังมีนิสัยนักถ่ายทอด ชอบส่งต่อประสบการณ์ ความรู้ และวิสัยทัศน์ไปยังคนอื่นๆ ด้วย

                “นิสัยผมคือมีเป้าหมายในการทำงานเสมอ สมัยเป็นนักข่าว ผมต้องเขียนข่าวให้เป็น สิ่งที่อยู่ในตำราเรียนมันง่ายไป ของจริงยากกว่าเยอะ อันดับแรกเลย ผมพยายามเขียนให้รู้เรื่องก่อน เป้าหมายแรก แล้วก็ต้องเรียนในเวลาที่จำกัด ไม่ใช่รอฟังคำสั่งอย่างเดียว ผมควรจะคิดให้ออกเองว่าเรื่องอะไรที่น่าติดตาม เรื่องอะไรที่นำเสนอแล้วคนจะติดตาม

                “สิ่งที่ได้จากงานนักข่าวตลอด 4 ปี คือการประมวลผล เรื่องนี้พอมันเกิดมาแล้ว ลำดับจะเป็นยังไงต่อ เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง หรือมันอาจจะไม่เกิด เพราะอะไร คือมันมองได้หลายมิติ เพราะตอนทำก็ต้องรับข้อมูลหลายๆ ด้าน เห็นแพตเทิร์นของข้อมูลข่าวสาร ผมก็เริ่มตกผลึกแล้วว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง อายุงานมากขึ้น อายุจริงมากขึ้นก็ตัดสินได้ตรงมากขึ้น

                “การเป็นนักข่าว เวลาฟังอะไรแล้วมันต้องเก็บให้ได้ นิสัยนี้เลยติดไปกับงานทุกงาน ฟังว่าเขาจะพูดอะไร ฟังแล้วเก็ตง่าย แล้วบางทีเวลาฟังคนพูดไม่รู้เรื่อง บางทีก็อยากบอกนะ ขอโทษครับ ช่วยเข้าประเด็นหน่อยเหอะ เหลาอะไรเยอะแยะ เชื่อว่านักฟังจับประเด็นหลายคนก็เป็น” (หัวเราะ)

                ด้วยความจำเป็นบางอย่างด้านครอบครัวเมื่อสิบกว่าปีก่อน คชภพต้องหันเหจากการเป็นนักข่าวเศรษฐกิจที่ทำมาสี่ปี มาทำงานด้านการสื่อสารการตลาด การประชาสัมพันธ์ที่บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่น

                “งานคนละโลกมากๆ อย่างแรกมันเยอะกว่า มันซับซ้อนกว่า สิ่งที่ผมยังต้องทำคือการสร้างประเด็นการเขียนข่าว แต่เปลี่ยนมาเป็นดูแลให้ลูกค้า มากไปกว่านั้นคือต้องมาคิดแผน เตรียมงาน รายละเอียดทุกอย่าง ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เฮ้ย…งานฝั่งเอเจนซี่มันวุ่นวายขนาดนี้ อันนั้นแค่ส่วนพีอาร์ แต่พออยู่ไปนานๆ ก็ได้ทำ communications มากกว่า คือมันกลายเป็นก่อนหน้านี้โลกบ้องแบ๊วมาก เพราะงานตรงนี้มีสื่อสารแบรนด์ สื่อสารการตลาด งานกับสื่อมวลชน มีงานสปอตโฆษณา ทำอีเวนต์ออแกไนซ์…

                “5 ปีที่ได้จากงานที่เอเจนซี่ระดับบริษัทมหาชนนี้ คือ งานทุกอย่างจะต้องมีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้าไป ผมรู้สึกว่าการที่องค์กรส่งใครก็ได้ออกไปเจอลูกค้า แล้วทุกคนก็เชื่อมั่น ประทับใจว่านี่คือคนจากเอเจนซี่ไหน ลูกค้ารู้สึกว่าพอทีมนี้เข้ามาทำงานให้ งานต้องออกมาปังแน่ๆ งานจะมีคุณภาพ สิ่งที่เล่าต้องถึงกลุ่มเป้าหมาย ตรงนี้มันเป็นเรื่องที่สร้างได้ไม่ง่ายเลยนะครับ

                 “จากวันที่คิดว่าต้องออกมาลุยเองแล้ว ก็รวมตัวกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง แรกๆ คิดว่าไม่ต้องมีทีมงาน ไม่ต้องมีลูกค้าเยอะหรอก เราก็ทำเท่าที่เราทำไหว แต่พอทำจริงๆ เฮ้ย…มันไม่ได้ การที่เราจะตอบสนองความต้องการหลายๆ อย่างของลูกค้า การไม่มีทีมมันไม่โอเคสุดๆ ใครบอกว่าบริษัทสมัยนี้เป็นองค์กรเล็กๆ ใช้ฟรีแลนซ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ฟรีแลนซ์ที่ได้มาตรฐานและชัวร์ๆ นั้นหายากมาก แล้วการที่บอกว่าจะมีลูกค้า 2-3 รายแล้วองค์กรจะไปรอดมันเป็นเรื่องที่ผิดมากๆ”

                ในช่วงปีแรกๆ ของเวิร์คลิงค์ ดา เอเจนซี่ (Work Link da Agency) แม่ทัพมีวิชาแล้ว มีแผนงานแนวทางการดำเนินธุรกิจ มีคอนเน็กชั่นแล้ว แต่การมีทีมและสร้างทีมให้แข็งแกร่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่คชภพตระหนัก

                “ผมต้องมีทีมงานเพิ่ม และต้องฝึกคนให้เก่ง ช่วงปีแรกๆ ภาพมันชัดแล้วว่าผมอยู่แค่นี้ไม่ได้ จะมีทีมแค่ 4-5 คนไม่ได้ มันจะโตไม่ได้ และทำงานใหญ่ไม่ได้แน่นอน เพราะในการแข่งขันบางทีผมก็อยากให้มันวิ่งเร็วกว่านี้ มุมหนึ่งการที่ผมสร้างทีมงานถึงแม้บางคนจะไม่อยู่มาถึงตอนนี้ เขาก็มีคุณภาพพอไปร่วมงานกับคนอื่น มันก็ดีกับตัวเขาและเป็นเครดิตเราประมาณหนึ่ง

                “ปีแรกๆ อาจจะเพ้อเจอมากหน่อย คิดว่าเราจะใหญ่โต ลูกค้ามี แถมได้โปรเจ็กต์รัฐอีก โคตรคูลเลย แต่เราไม่ดูระบบการเงิน บัญชี จัดการไม่ดี ก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหากระแสเงินสดอีก พอเป็นรูปเป็นร่างลงตัวจริงๆ ปีที่ 4 มีสติ เริ่มนิ่งว่าผมจะต้องดีลทุกอย่างอย่างรอบคอบ ศักยภาพของตัวเรา คน และเงินทุน คิดแบบนี้เลยให้ครบทุกมิติ ไม่เพ้อเจ้ออะไรแล้ว ทำสิ่งที่ผมถนัด แล้วค่อยๆ ขยายทีมให้รู้งาน แข็งแรงก่อน อาจจะใช้เวลานานกว่าคนอื่นๆ ในบริษัทประเภทเดียวกัน แต่เราต้องการดีเทลแน่น”

                “ถามว่าคนของผมจะลึกซึ้งไปกับการเรียนรู้เต็มร้อยเสมอไหม คือผมไม่ได้อยากให้เขาเรียนรู้งานเร็วเพื่อจะให้จากไปไหน เพราะเรากำลังลงทุนกับเขาอยู่ แต่เขาจะเพอร์เฟ็กต์อย่างที่เราคาดหวังหรือเปล่า มันก็คงเป็นไปไม่ได้ แค่ดีขึ้นในบางส่วนก็พอแล้ว คือผมชอบความพยายามของคน ถ้าคนเราพยายามขึ้น แล้วโฟกัสถูก มันจะไม่รู้ตัวหรอกว่ามันเก่งขึ้นพอเขาถูกพัฒนาขึ้น เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งให้เขาหันกลับไปมองตัวเอง โห…เขาไม่เคยคิดได้แบบนี้มาก่อน จากที่ทำอะไรได้น้อยมาก ตอนนี้ทำได้เยอะมาก ฉะนั้นถึงเวลาที่บริษัทผมประเมิน คะแนนความพยายามจะเยอะที่สุดเลยด้วยซ้ำ”            

9 ปี แห่งบททดสอบและรางวัลความสำเร็จ

                 เวิร์คลิงค์ ดา เอเจนซี่ โลดแล่นอยู่ในแวดวงการประชาสัมพันธ์มาตลอด 9 ปี องค์กรในมือผู้บริหารชื่อ บอย-คชภพ มีบทบาทช่วยคิดและวางแผนธุรกิจให้กับหลายๆ องค์กรจนเกิดทิศทางที่ชัดเจนและประสบความสำเร็จ ซึ่งนอกจากการประชาสัมพันธ์แล้ว บริษัทยังเพิ่มเติมการให้บริการที่ครบวงจร ทั้งการทำโปรดักชั่นและออร์แกไนเซอร์งานอีเวนต์ และล่าสุดขยายสู่การบริการด้านออนไลน์

                 “Identity ของเวิร์คลิงค์ คือมาตรฐานกับความน่าเชื่อถือ ทำยังไงให้คนในองค์กรไปเจอลูกค้า แล้วลูกค้าบอกว่าอ๋อ…มาจากบริษัทนี้เหรอ ทุกวันนี้กลุ่มลูกค้าในตลาดกล่าวสิ่งเหล่านั้นแล้วว่า เวิร์คลิงค์เป็นบริษัทที่แข็งแรง สามารถทำหลายอย่างพร้อมกันได้ ลูกค้าทำประชาสัมพันธ์ แล้วอยากจัดกิจกรรม ไม่ต้องห่วง บริษัทนี้มีทีมงานมากพอที่จะทำงานให้คุณ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหยุดแค่นี้ เราจะต้องเติบโตไปอีก ขยายเซอร์วิสที่มันเกี่ยวพันกันในแต่ละด้าน แล้วดูว่าส่วนไหนดีส่วนไหนด้อย ขาดอะไร เติมอะไร ทุกอย่างทุกขั้นผมจะคอยดูสภาพการณ์ตลอด และผมเข้าด้วยทุกประชุม ไม่ว่าทีมไหน หนึ่ง-ต้องเข้าไปสำรวจคนของตัวเองว่าแนวคิดพัฒนาหรือเปล่า สอง-เข้าไปช่วยให้งานสำเร็จได้

                “มุมของผมเองรู้สึกว่าเราต้องไปเรียนจากทีมด้วย โลกมันเปลี่ยนทุกวัน เราอาจจะแก่ อาจจะเอาต์ ไปดูเด็กเขาคิด เขาอาจสอนเราอยู่นะ เพราะถ้าจะคิดงานใหม่ๆ เราอาจจะเล่าได้ดี แต่ situation เราไม่อัพเดต ลูกค้าอาจจะบอกว่ามันไม่ใช่หรือเปล่าคุณบอย” (หัวเราะ)

                มากไปกว่านั้น สองปีที่ผ่านมาคชภพก็ค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เพิ่มช่องทางและเครื่องมือให้ลูกค้า ในการส่งผ่านแบรนด์ไปสู่ตลาดและกลุ่มเป้าหมายถูกจุด

                “อย่างที่บอก โลกมันเปลี่ยน วันเวลามันเดินทุกวัน ทุกคนเสพทุกอย่างผ่านดิจิตัล ผมก็คิดว่ามันจะไปทางนี้จริงๆ ใช่ไหม ต้องเข้าใจพีอาร์ออนไลน์ ดิจิตัลคอนเทนต์ แล้วมันต้องทำยังไงล่ะ ถ้าจะขยายทีมแต่ผู้บริหารไม่รู้เรื่อง แล้วจะไปคอนโทรลทีมยังไง ก็เลยไปเรียน digital marketing ซะเลยดีกว่า สิ่งที่ผมต้องการคือ ถ้าลูกค้าต้องการทำออนไลน์เต็มรูปแบบ เราต้องทำยังไง ถ้าจะตัดเหลือแค่พีอาร์ แล้วคอนเทนต์ต้องประมาณไหน สำคัญที่สุดคือต้องอธิบายให้ลูกค้าฟังได้ว่าทำไมถึงทำ ทำไมต้องมาทางนี้ เมื่อก่อนลงข่าวเต็มเลย แต่ทำไมอันนี้ส่งไปที่เพจเดียวเองล่ะ เรารู้ว่าลูกค้าต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน แล้วมันจะยากมากถ้าเราจะไปขายของแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

                “พอจบออกมาก็ได้ใช้เลย รีโนเวตการทำงานใหม่ มี mapping ใหม่ในการทำงาน แล้วก็เริ่มส่งน้องๆ ไปเรียนด้วยทุนบริษัท ให้ไปดูว่าข้างนอกเขาสู้กันยังไง อย่าอยู่แต่ในคอมฟอร์ตโซน จะได้รู้ว่าทำไมต้องเก่งขึ้น”

ภิรมย์’ ขวัญใจไซเบอร์…ความเห็นมุมต่าง

                 ภิรมย์ เพจเฟซบุ๊กสไตล์หนุ่มคิดต่าง ล้วงแคะแกะเกาทุกฝ่ายในสังคมที่ไม่เป็นธรรม เป็นคาแรกเตอร์ในการมองข่าวและปรากฏการณ์ของคชภพ ซึ่งเปิดขึ้นก่อนไปเรียนด้านมาร์เก็ตติ้ง ดิจิตัล และส่วนหนึ่งคือวิญญาณคนสื่อแต่เดิมที่อยากสื่อสารเรื่องใกล้ตัวให้มีมิติและข้อคิดมากขึ้น

                “ภิรมย์ เกิดจากการที่มีลูกค้าพูดคุยกัน แล้วอยากจะทำแบรนด์ ก็ดีไซน์แบรนด์ขึ้นมาให้ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ launch อะไร ทำไปทำมา กลายเป็นว่าคนที่เข้ามาในเพจวาไรตี้ทีเดียว เพจอาจจะไม่ได้ใหญ่ แต่ก็อบอุ่น ในแง่ของควอลิตี้มันดี มันไม่ได้อู้ฟู่อะไรมาก แต่เขียนถึงข่าวสารบ้านเมือง ให้ความเห็นสไตล์ของเรา บางทีคนไทยอยู่กับความผิดเพี้ยน ไม่ปกติมานานแล้วรู้สึกว่า เออ…ช่างมัน ปล่อยมัน แต่ถ้าอ่านแล้วเปลี่ยนหรือคิดอะไรบางอย่างได้แค่คนเดียวก็โอเคแล้วนะ”  

จักรยาน-บิ๊กไบค์’ สไตล์จิ๊กโก๋สโลว์ไลฟ์ ท่องไพร รับพลังจากท้องฟ้า ป่าเขา

                นอกจากจะให้ความสำคัญกับการทำงานแล้ว เขายังเป็นหนุ่มรักสุขภาพตัวยง เห็นอย่างนี้ สมัยเรียนมัธยมปลายคชภพเคยเป็นนักกีฬาปั่นจักรยานเยาวชนของกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว และทุกวันนี้เขาก็ยังใช้เวลาว่างไปกับการปั่นจักรยาน ซึ่งสถานที่ที่เขามักจะไปอยู่เป็นประจำคือ สนามสกายเลน ย่านสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะฝึกซ้อมสัปดาห์ละ 3 วัน ด้วยการปั่นจักรยานรอบสนาม 2-3 รอบ เพื่อรักษาสมรรถภาพของร่างกายไว้ให้คงที่อยู่เสมอ ทั้งยังลงแข่งขันรายการปั่นจักรยานชิงถ้วยพระราชทาน หรือจักรยานทางไกลคิงส์คัพ เพราะต้องการทดสอบร่างกายของตนเอง โดยไม่ได้หวังผลแพ้ชนะ ขอแค่ถึงเส้นชัยในเวลาที่น่าพึงพอใจก็เพียงพอแล้ว

                “อย่างแรกคือ มันเป็นกีฬา การออกกำลังกายที่ชอบอยู่แล้ว แต่จักรยานให้อะไรมากกว่าการเที่ยวนะครับ มันเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจ เพราะเวลาผมปั่นจักรยาน ยิ่งปั่นไกลๆ ขึ้นภูเขา มันเป็นเครื่องวัดใจ ยังสู้อยู่ไหม ไหวหรือเปล่า ซ้อมมาดีไหม ไปถึงไหม เวลาไปปั่นจักรยานผมจะคิดอย่างนี้เสมอว่า เราไม่ได้มาแข่งกับใคร เรามาเพื่อไปให้ถึงโกลของเรา เราทำตามโกลนั้นได้ไหม

                “เวลาปั่นก็จะคิดเรื่องงาน มันคือการค่อยๆ ไปทีละขั้นทีละตอน ไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่อาจจะไม่ได้ใหญ่เหมือนคนอื่น แต่ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องสนใจ เรายังไปถึง เรายังขยับ ไม่ล้มเลิก เพราะขี่จักรยานนี่อุปสรรคเยอะมาก แดดก็ร้อน แรงมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางทีเราก็พบว่าตัวเองพังพินาศมาก เพราะว่าเราจัดการตัวเองไม่ดี เราซ้อมน้อย เราพักผ่อนน้อย แต่เราก็ไป ไปแพ้ให้ตัวเองดู อยากรู้ว่ากูจะห่วยแค่ไหน เออ…มึงห่วยจริงๆ แต่กลับมากูต้องดีขึ้น

                “แล้วอยากบอกทุกคนด้วยว่า การเล่นกีฬาเป็นประจำจะรู้ว่ามันทำให้สดชื่น ยิ่งคนที่ทำงานเหนื่อยๆ อยากกลับบ้านไปนอน นั่นเป็นความคิดที่ผิด ไปเอาเหงื่อออกสักนิดหนึ่งแล้วชีวิตคุณจะเปลี่ยน คุณจะสดชื่น สมองปลอดโปร่ง ความอ่อนเพลียจะหายไป เราต้องฝืนนิดหนึ่งแล้วจะดี”

                อีกมุมหนึ่งของสองล้อ การขับขี่มอเตอร์ไซค์ใหญ่เป็นชีวิตจิตใจ เมื่อถึงฤดูกาลท่องเที่ยวของแต่ละปีเขากับก๊วนเพื่อนๆ จะพาตัวเองนั่งบนอานมอเตอร์ไซค์คันโปรด แล้วออกเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าสนใจประมาณ 1-2 ทริปต่อเดือน แต่ดูเหมือนว่าจุดหมายจะไม่น่าสนใจเท่ากับระหว่างทาง เพราะหนุ่มคนนี้มักจะเลือกใช้เส้นทางตามใจฉัน หรือพักอย่างน้อยหนึ่งคืน เอาตัวไปรับพลังจากท้องฟ้า ทุ่งหญ้า ภูเขา หรืออะไรก็ตามในธรรมชาติ

               “ผมไม่อยากขี่รถในกรุงเทพ รู้สึกว่าอึดอัด ไม่สบาย และรถมันก็คงไม่สนุกด้วย มันไม่ได้ปลดปล่อยตัวมัน เราก็ไม่ได้ปลดปล่อยตัวเราด้วย ด้วยการขับขี่มันทำให้เรารู้สึกว่าไอ้นี่ (บิ๊กไบค์) มันน่าจะพาเราไปไกลๆ ได้โดยที่เราเสพบรรยากาศรอบๆ ซึ่งระหว่างทางก่อนจะถึงจุดหมายมันอาจจะไม่ค่อยได้เสพเท่าไหร่ สมมติทริปนี้ไปน่าน ระหว่างทางจะไม่ค่อยได้เสพ แต่เมื่อไปถึงแล้วเราได้เสพ ขึ้นถนนลอยฟ้า ขึ้นบ่อเกลือ ตรงนั้นจะไม่มีคำว่าความเร็ว จะมีแต่คำว่าค่อยๆ ไป เพราะอากาศ ต้นไม้ ท้องฟ้า ก้อนเมฆ ลม แดด อะไรก็แล้วแต่ เก็บมันเข้าไป ไปเพื่อไปเสพอันนั้น ระหว่างทางคือไปให้ถึงอย่างปลอดภัย ไม่ใช่ซัดกันโครมคราม เราจะคิดอยู่เสมอว่าเรามาเพื่อเที่ยว มาทำสิ่งที่เราชอบ เราไม่ได้มาแข่งกับใคร ไม่ได้ต้องซิ่ง ไม่ต้องเท เรามาเพื่อเสพ เรามีความสุข ณ ตอนนั้น”

                ขณะเดียวกันคชภพก็อยากจะฝากไปถึงผู้ที่มีทัศนคติกับความเร็ว ซิ่ง สะใจ ในทางตรงข้ามกัน

                “ผมมองว่าเขาเหล่านั้นไม่คิดถึงส่วนรวม ไม่ได้หมายถึงคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์อย่างเดียวนะ อุบัติเหตุนี่เกิดได้เพียงชั่วพริบตา เสี้ยววินาที คุณอาจจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนเมื่อไหร่ก็ได้ อยากขับเร็วก็ไปขับในสนามไหม สนามเขาก็มีให้เช่า ทุกคนก็มีสตางค์นี่ รถคันหนึ่งตั้งกี่บาท แล้วจะมาซิ่งอยู่บนถนน…เพื่อ? มันไม่คูลอะ ผมรู้สึกแบบนั้นนะ ทุกคนก็คงรู้สึก มันไม่เท่นะ มันดูไม่คิดถึงส่วนรวมเลย”

คำว่า ‘สติ วิริยะ ขันติ กตัญญู’ บนแผงอกและในหัวใจ

                หัวใจศิลปะและหัวใจแห่งธรรมะผนวกไว้ด้วยกันเป็นคำสี่คำบนแผงอกของผู้ชายคนนี้

                “รอยสักคือทุกอย่าง สติ วิริยะ ขันติ กตัญญู ผมได้มาจากตอนที่ไปบวช ค้นพบและคัดเลือกเพื่อจะเป็นธรรมประจำใจของตัวเอง ที่ผมจะทำและยึดมั่นเสมอ ออกมาเป็น ‘สติ วิริยะ ขันติ กตัญญู’ สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นกับชีวิตทุกคำเลย การดำรงอยู่ทุกลมหายใจต้องมี

                “สติ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ อย่าโลภ โกรธ หลงมากจนเกินไป

                “วิริยะ คือคนเราต้องขยันหมั่นเพียรอยู่แล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายดาย อยากทำให้คนรอบตัวเชื่อมั่น คนรอบตัวมีความสุข คนรอบตัวมีเงินใช้ ต้องวิริยะ

                 “ขันติ คือการทำอะไรก็แล้วแต่ที่ต้องใช้ความพยายามเยอะๆ คุณจะรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะสำเร็จ เมื่อไหร่จะเป็นรูปเป็นร่าง…ไม่รู้ แต่คุณต้องอดทน คุณต้องไม่ล้มเลิก ต้องอดทนเหนื่อยในการทำงาน อดทนทำสิ่งที่แตกต่างกับคนอื่น เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะ แต่ไม่ใช่ว่าไปฝืนโลก แล้วก็…

                 “กตัญญู นี่จะเป็นสิ่งที่ผมจะไม่ทิ้งเลย มันทำให้ชีวิตผมเจริญขึ้นตลอดตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยมา การที่ผมคิดถึงพ่อแม่ คนที่เลี้ยงเรามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม มีกำลังน้อย มีกำลังมาก ความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญ ความกตัญญูไม่ใช่แค่การเอาเงินไปให้พ่อแม่นะ แต่มันคือการเข้าไปดูแล เข้าไปซัพพอร์ตเขาในแต่ละช่วงวัย ความต้องการของพวกเขาในแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกันนะ ความแก่ขึ้น วันนี้พ่อแม่อยากได้อะไร อยากเห็นความสำเร็จของลูก อยากเที่ยว อยากใช้เวลาพักผ่อน…”

                 ความเชื่อมโยงในสิ่งที่มุ่งมั่น เอาจริงเอาจังทั้งฝั่งการงานและความชิลและสนุกชีวิตส่วนตัว ส่งจังหวะประสานไปพร้อมกันกับจิตใจที่ดีตลอดทุกช่วงชีวิตการเดินของเขา

                 “พ่อแม่นี่เป็นหลักอยู่เลย การงานก็เชื่อมโยงกันชัดเจนว่า ทำและลุยหนักเพื่อเขาและเพื่อตอบตัวเรา แต่ผมก็ขาดมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่ได้ไปปะทะกับลม แสงแดด อากาศดีๆ เลย หัวสมองเราก็คงไม่อภิรมย์ในการทำงานแน่ๆ ส่วนจักรยานก็เช่นกัน เพราะมันคือเครื่องวัดใจชั้นเลิศ มันเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่คนบริหารองค์กรต้องมีสุขภาพที่ดี ต้องแข็งแรง เพื่อความปลอดโปร่งในการทำงาน”

                  และแน่นอนที่ตราไว้แน่นอก…ธรรมแห่งการการดำเนินชีวิตที่อกและลึกสุดใจ ที่จะเชื่อมทุกความสำเร็จไว้อย่างคู่ควร

Facebook Comments Box