เรื่องและภาพ: วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย

               ในยุคสมัยที่คน Gen Y หรือ มิลเลนเนียล ได้ชื่อว่าเป็นช่วงวัยที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่สิ่งใหม่ๆ จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนทำงานที่มีความสามารถที่อายุยังน้อยเป็นกำลังสำคัญอยู่ในแทบทุกองค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าคน Gen Y คือช่วงวัยที่รักในความอิสระเสรีอยู่สูง จึงไม่แปลกเช่นเดียวกันที่จะเห็นคนช่วงวัยนี้เปลี่ยนงานบ่อย หรือเลือกที่จะเดินตามความฝันของตัวเองอย่างการทำธุรกิจหรือเป็นฟรีแลนซ์ไปเลย

               จนทำให้คน Gen X หรือคนช่วงวัยก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทมองว่าคน Gen Y เอาใจยากและไม่มีความอดทน หนักเข้าจนถึงขั้นไม่ไว้ใจที่จะฝากความหวังใดๆ ต่อไป จนเกิดคำเรียกอย่าง ‘เด็กสมัยนี้’ ที่สะท้อนถึงทัศนคติในเชิงลบอยู่เสมอ

               แต่ทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไป เราจึงชวนคุยประเด็นนี้กับ รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา เจ้าของฉายา เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์น อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยส่งต่อความคิดอ่านในหลากหลายศาสตร์ให้กับคนหลายเจนมากว่า 33 ปี ซึ่งถึงแม้เขาจะเป็นคนในยุค Baby Boomer ที่เพิ่งเกษียณไปหมาดๆ แต่เชื่อได้เลยว่าคำตอบที่ได้จากปากของเขาน่าจะทำให้ทุกคนเข้าใจคน Gen Y มากขึ้น

ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงไม่มีความอดทนต่องานที่ทำอยู่

               คนรุ่นใหม่ทางเลือกมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ชอบบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน ผมกลับมองว่าไม่ใช่เรื่องความอดทน แต่เป็นเพราะเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนอะไร คือคนยุคนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับความสะดวกสบาย แต่อย่างคนรุ่นผมคือ Baby Boomer คือเกิดหลังสงคราม ชีวิตไม่มีทางสบาย อาหารในหลายๆ ประเทศยังปันส่วนอยู่ ทำให้ต้องทำงานหนัก ในเมื่อพ่อแม่คุณรวยแล้วก็ไม่รู้จะทำงานหนักไปทำไม การทำงานหนักไม่ใช่คุณธรรมของชีวิตอีกแล้ว คุณก็ทำงานที่ชอบและตอบสนองความต้องการของตัวเองจนเป็นเรื่องธรรมดา สมมติภาษาอังกฤษคุณโอเค คุณก็สามารถสมัครงานที่ไหนก็ได้ มีทางเลือกมากขึ้น สังคมที่มีตัวเลือกมากขึ้นทำให้คุณมีเสรีขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

เมื่อเทียบกับอดีต คนยุคก่อนมีวิธีคิดแบบไหน

               คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีวิธีคิดของชนชั้นนักรบที่คุณจะต้องมีความผูกผันกับการต่อสู้ในสนามรบ สมมติผมเป็นนายพลแล้วคุณเป็นนายทหาร ถ้าคุณไม่ยอมตายพร้อมผม ผมก็ทำสงครามไม่ได้ มันต้องตายพร้อมกัน คือรูปแบบหนึ่งของหน้าที่ คือเกียรติยศ ซึ่งการ loyalty ต่อสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ถ้านายพลของคุณตาย แต่คุณรอดกลับมาได้ นี่คือสิ่งที่น่าอับอายที่สุดในชีวิต แต่สมัยนี้ไม่มีวัฒนธรรมแบบนักรบนั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นคุณก็ไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่าต้อง royalty ต่อที่ใดที่หนึ่งจนกระทั่งตายแบบเมื่อก่อน สำนึกของคนมันเปลี่ยน การจะบอกว่าหนักไม่เอาเบาไม่สู้ มันไม่ใช่ แค่เขามีทางเลือกมากขึ้น

สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในลักษณะไหน ถึงให้ผลลัพธ์ออกมาเช่นนี้

               โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งความเร็ว ผลประโยชน์ต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่จะไม่รอให้มีฐานะดีขึ้นเมื่อตอนอายุห้าสิบอีกแล้ว อเมริกาตอนยุค 1970 มีคนบอกว่า ฉันจะต้องรวยและมีชื่อเสียงก่อนอายุสามสิบ นั่นคืออุดมคติ เป็นเป้าหมายที่ถูกตั้งไว้ว่ามันคือสิ่งที่คุณควรจะทำและควรจะมี สิ่งที่คุณเห็นในโลกปัจจุบันก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ซึ่งในยุคนั้นมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่คือการ head hunting พวกนี้จะย้ายงานกันเร็วมาก เมื่อคุณทำให้บริษัทหนึ่งกำไรมหาศาล อีกบริษัทหนึ่งต้องการซื้อคุณไป

ถึงจะมีทางเลือก แต่คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยก็ต้องดิ้นรนอยู่ดีใช่ไหม

               ก็ต้องลำบากอยู่ดี ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มา ถ้าคุณมาจากชนชั้นต่ำจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเรียนได้ถึงมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งในอเมริกาเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่นั่นก็แทบจะขายบ้านขายช่องส่งลูกเรียนหนังสือเหมือนกัน มันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีรัฐเข้ามาช่วยในเรื่องการศึกษาภาคบังคับที่ต้องฟรี เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้วยการกู้ยืมเงินอะไรต่างๆ เพราะถึงคุณจะเรียนเก่งขนาดไหน แต่พอไปเห็นค่าเรียนที่ฮาร์วาร์ดก็ฉิบหายแล้ว นั่นหมายความว่าก็ต้องแข่งขันหาทุน หรือไม่พ่อก็ต้องรวยมาก

โอกาสที่น้อยลงเป็นปัญหาของเรื่องชนชั้นหรือเปล่า

               ผมคิดว่าสิ่งที่คุณเห็นในอินเทอร์เน็ตทั้งหมด มันเป็นมุมองของชนชั้นกลาง ในท้ายที่สุดโครงสร้างแบบนี้ก็จะยิ่งแบ่งขั้วกันมากขึ้น คนรวยก็ยิ่งรวยมหาศาล คนจนก็ยิ่งจน ผมมองว่าการเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงมหาวิทยาลัยธรรมดาๆ นะ แต่หมายถึงระดับฮาร์วาร์ด เยล พรินซ์ตัน เคมบริดจ์ มันไปเพื่อเอาคอนเน็กชัน ไม่ใช่เรื่องของการเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เหมือนการได้เข้าไปอยู่ใน center of power อย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จบมาจากโรงเรียนฟิลลิปส์ เอ็กซีเตอร์ ซึ่งไม่ใช่โรงเรียนขี้หมา แต่เป็นโรงเรียนท็อปๆ ของอเมริกา ซึ่งการเข้าไปเรียนในโรงเรียนเล็กๆ ก็จะไม่มีวันเหล่านี้เลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องของการศึกษา แต่มันคือการไปสร้างเน็ตเวิร์ก ผมถึงชอบพูดว่า know how ไม่สำคัญเท่ากับ know who เพราะสังคมอเมริกันมันเต็มไปด้วยชนชั้น แต่คนอเมริกันเองคิดว่าไม่มี และนี่เป็นภาพลวงตาที่น่ากลัวมาก มีการพูดกันว่าบริษัทที่ปรึกษาในการลงทุนธุรกิจ แม้กระทั่งพรรคการเมือง เช็คไปเช็คมามันคอนเน็กกันหมด เป็นวงจร เพราะฉะนั้นความฝันของมนุษย์ที่อยากจะเท่าเทียมกันถึงฉิบหายวายป่วงหมด ยิ่งในยุโรปยิ่งชัดกว่าอเมริกาอีก สิ่งเหล่านี้มันทำลายความฝันของชนชั้นกลางไปหมด

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหลงใหลในความฝันและทางเลือกของตนเองมากขนาดนี้

              มีคนเคยถามผมว่ามีความฝันไหม ผมบอกว่าผมไม่มี เพราะผมไม่อินกับคอนเซปต์แบบนี้ แต่คนรุ่นใหม่จะต้องเป็นแบบนี้ เพราะถูกพัฒนามาแบบนี้ ต้องมีแรงบันดาลใจ ต้องมีความฝันเป็นของตัวเอง แล้วต้องทำความฝันนั้นให้ได้ นี่คือโลกแบบใหม่ ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะชัดมากเลย เป็นผลมาจากวิธีคิดบางอย่างของอเมริกันที่เข้ามาในประเทศไทย แล้วเราไม่เข้าใจฐานทางวัฒนธรรมของเขาที่มีมานานแล้ว

Facebook Comments Box