เรื่อง : ขาว-ดำ
ภาพ : สารัตน์ น้อยคล้าย
ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเท่าใดนัก สำหรับช่างภาพมืออาชีพ กับการต่อสู้เพื่ออยู่รอดท่ามกลางกระแสขาลงแบบฉุดไม่อยู่ของสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ เพราะนอกจากงานที่มีจำกัดแล้ว ยังมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ราวกับต้องจุติลงมาเป็นเทพของวงการ หรือไม่ก็ต้องมีประสบการณ์ที่ข้นเคี่ยว
‘มด’ มนัญญา ไชยนันทน์ หญิงสาวรูปร่างสูง หน้าตาสะสวย เป็นหนึ่งในจำนวนช่างภาพที่ผ่านประสบการณ์การทำงานมาพอตัว จากนิตยสาร Volume ในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนมาเรียนรู้ ฝึกฝนงานถ่ายภาพอย่างจริงจัง และเป็นเวลานานกว่า 10 ปีที่นิตยสาร IMAGE นับรวมถึงวันนี้ เธอสะสมประสบการณ์การทำงานในฐานะช่างภาพนานถึง 18 ปีแล้ว
“มดเรียนจบออกมาแล้วทำตัวเละเทะอยู่ปีหนึ่ง ไปประกวดมิสไทยแลนด์ เวิลด์ ปี 2004 แล้วเล่นดนตรีกับเพื่อนอีกพักหนึ่ง ก่อนจะมีรุ่นพี่ที่นิตยสาร Volume ชวนไปทำงานเป็นช่างภาพ” เธอเล่าย้อนอดีต หลังจากเรียนจบจากภาควิชานิเทศศิลป์ เอกการถ่ายภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถานบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“ตอนทำงานที่อิมเมจ มดได้เรียนรู้ทุกอย่างในชีวิตเลย เพราะเป็นพนักงานประจำ มีโอกาสได้ถ่ายรูปทุกรูปแบบ ทุกคนสอนมดให้ทำงาน ไม่ได้หวงวิชา มีอะไรบอกหมด ทำให้เราเป็นงานขึ้นเรื่อยๆ และให้โอกาสถ่ายทุกอย่าง ให้ลองหมด ออกมาแล้วรู้สึกถนัดทุกอย่าง” เธอเล่าพลางหัวเราะ หลังจากนั้นเธอก็ค้นพบความถนัดของตนเอง ที่การถ่ายภาพอาหารและภาพพอร์เทร็ต “ทุกวันนี้รับงานมาแล้วไม่เคยรู้สึกกลัว” เธอบอก
“งานประจำทำให้เรามีประสบการณ์ และได้รู้จักคนเยอะ ถ้ามดไม่เคยทำงานประจำมาก่อนก็คงไม่มีมดแบบทุกวันนี้ ที่สามารถ่ายอะไรก็ได้”
แต่วันหนึ่ง นิตยสารที่เธอสังกัดต้องปิดตัวลง “เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่แล้วละ” เธอว่า “แต่ก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นยุคที่ดิจิตัลมันมา มดอยากทำหนังสือมากกว่านะ เพราะมดว่ามันมีเสน่ห์ของมัน และด้วยคุณภาพของงานเขียนก็ดีกว่านิตยสารออนไลน์ รวมถึงคุณภาพของรูปด้วย
“เหมือนตอนเป็นกล้องฟิล์มก่อนจะมาเป็นกล้องดิจิตัลนั่นละ กล้องฟิล์มเราต้องตั้งใจถ่ายในแต่ละรูป เพราะถ้าถ่ายไม่ได้คือเสีย แต่ดิจิตัลนี่กดไปเถอะ”
ส่วนตัวเธอนั้น เธอเรียนและอยู่ในยุคของฟิล์ม “จริงๆ ฟิล์มสามารถคัดช่างภาพได้เลยนะ วงการจะมีช่างภาพไม่เยอะขนาดนี้นะมดว่า ถ้าเรายังใช้ฟิล์มกันอยู่” เธอเจือด้วยเสียงหัวเราะ “ตั้งแต่การเลือกฟิล์มที่จะถ่าย แล้วหนึ่งม้วนมีแค่ 36 รูป มดเคยไปถ่ายงานอีเวนต์ ใช้ฟิล์มแค่หนึ่งม้วน ถ่ายได้แค่ 36 รูป จบแล้วจบเลย เสียก็คือเสีย แต่ยุคดิจิตัล งานหนึ่งถ่ายไม่ต่ำกว่า 200 รูป เทียบกันไม่ได้ แต่มันก็ทำให้การทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องรอล้างฟิล์ม ไม่ต้องรอลุ้น”
กับงานอาชีพช่างภาพอิสระ มดยังคงรับงานถ่ายภาพงานอีเวนต์ อาหาร และพอร์เทร็ตเป็นหลัก พร้อมกันนั้นยังนำวิชาความรู้จากประสบการณ์มาสอนให้คนที่สนใจเรียนสามารถถ่ายรูปได้เอง แบบง่ายๆ “คลาสที่เปิดสอนบ่อยที่สุดคือ การถ่ายภาพอาหาร ส่วนใหญ่คนจะรู้จักมดในฐานะช่างภาพที่ถ่ายอาหารบ่อย และรายละเอียดการสอนจะเป็นแบบเบสิก” นักเรียนของเธอส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำร้านเอง หรือเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก “เขาเรียนเพื่อให้สามารถถ่ายรูปได้เอง โดยไม่ต้องจ้างช่างภาพมืออาชีพ”
ไอเดียที่จูงใจให้เธอเปิดสอนก็คือ “มีคนถามมดเยอะว่ามดถ่ายรูปคิดเท่าไหร่ มดก็ต้องถามกลับไปว่ามีงบเท่าไหร่ ซึ่งบางที มดว่ากิจการเล็กๆ มักจะมีงบไม่เยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วเหมือนคิดแทนเขาว่า การที่เขาคิดจะลงทุนกับการได้รูปมา บางทีมันก็มีเมนูอัพเดทที่เขาอยากใช้ในโซเซียลมีเดียด้วย ก็เลยคิดแทนเขาว่า แทนที่เขาจะเอาเงินไปจ้างช่างภาพแล้วได้รูปมา 10-20 รูป กับการที่เขาเสียเงินเรียนหนึ่งคอร์ส แล้วถ่ายได้เอง มันก็น่าจะดีกับเขามากกว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เขาไม่ได้มีเงินเยอะขนาดใช้ช่างภาพมืออาชีพแพงๆ
“ยอมรับเลยว่าตอนนี้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้สวยมาก แต่ถ้าได้รู้หลักการว่าถ่ายอย่างไรสวย เราก็สามารถถ่ายเองได้ ไม่ต้องมีกล้องราคาแพงก็ได้ แต่ถ้ามีกล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ ก็จะได้เปรียบกว่ามือถือหน่อย ด้วยคุณภาพของรูปด้วย กรณีที่จะนำรูปไปขยายให้ใหญ่ขึ้น”
หลักเกณฑ์ที่เธอสอนคือ การใช้แสงธรรมชาติ และอุปกรณ์ช่วยต่างๆ แบบง่ายๆ ที่ผู้เรียนสามารถนำกลับไปทำเอง หรือสามารถถ่ายด้วยมือถือก็ได้ “เราแค่เลือกอุปกรณ์ คือเลนส์ให้ถูก และดูแสงให้เป็น เท่านี้ก็สามารถถ่ายเองได้” เธอสรุป
เมื่อถามถึงเทรนด์การถ่ายภาพอาหาร เธอให้คำตอบ “มดว่าเดี๋ยวนี้ต้องถ่ายอะไรที่มีแอ็กชั่นมากขึ้น คือถ้าถ่ายเมนูร้านอาหาร เขาจะต้องการความคมชัด แต่ถ้าที่มดสอน มันจะออกไปทางไลฟ์สไตล์ เหมือนเอาไปถ่ายได้ทุกวัน ถ่ายด้วยมือถือได้ อาจจะดู juicy กว่า มีแอ็กชั่นเยอะกว่า ทั้งๆ ที่เป็นภาพนิ่ง แต่เราสามารถใส่แอ็กชั่นให้มันได้”
อาหารประเภทไหนที่ถ่ายยากที่สุด-เราอยากรู้
“อาหารไทยค่ะ” เธอตอบ “อาหารไทยแบบมีหน้าตา เช่น ปลา-กุ้ง-ปูที่เป็นรูปร่างชัดเจน พวกนี้น่ากลัวหมด เพราะมันดูไม่สวย มดจำได้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จานแรกที่ได้ถ่ายอาหารเลย คือปลาเก๋าราดพริก แล้วมันมาเป็นตัวเบ้อเร่อ อ้าปาก เวลาทอดแล้วมันฟูๆ ดูเหมือนสัตว์ประหลาด แถมยังราดพริกมาเหมือนท้องแตก ตอนนั้นถ่ายไม่ได้เลย เพราะยังไม่มีความรู้เรื่องการถ่ายอาหารเลย สรุปก็ได้ปลาอ้าปากน่ากลัวๆ ยังดีที่ถ่ายมุมท็อป เลยน่ากลัวน้อยลงหน่อย
“แต่ถ้าเป็นตอนนี้สบายมาก แก้ปัญหาได้ด้วยการตัดชิ้นที่สวยๆ มาถ่าย แล้วใช้อีปลาอ้าปากเป็นแบ็กกราวนฺด์ เป็นปลาชิ้นราดพริก พอร์ชั่นเล็กๆ ลง คือพอมีประสบการณ์แล้วก็พอจะแก้ปัญหาได้”
“อีกอย่างคือยำ อาหารที่คลุกเคล้าทุกอย่างรวมกันจะถ่ายยาก ต้องแก้ด้วยการเอาพวกเครื่องออกบ้าง เพื่อให้เห็นเนื้อปูปลากุ้งหอยในยำ และโฟกัสเฉพาะตรงนั้น ที่เหลือปล่อยให้มันฟุ้งๆ ไป ส่วนแกงก็เหมือนกัน ต้องให้ทางร้านเขาแยกน้ำแยกเครื่องมาเลย หรือบอกให้เขาตักแบบแยกน้ำมา เพราะทุกอย่างมันจมน้ำหมด มองไม่เห็น ต้องวิดน้ำออก หรือใช้ช้อนตักเป็นชิ้นอยู่ในช้อน”
รูปภาพอาหารแบบไหนที่ไม่ควรโพสต์ลงเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม (แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวก็ตาม) ข้อนี้มดให้คำตอบเช่นกันว่า “รูปแสงเหลือง รูปที่แสงไม่เอื้อ รูปที่โคลส-อัพจนมองไม่เห็นว่ามันคืออะไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแสงค่ะ ถ้าถ่ายอาหารแบบมืดๆ ก็จะไม่เห็นสีสันของอาหาร เวลามดเห็นรูปแบบนี้โพสต์ลงตามเฟซบุ๊กก็จะรู้สึกว่า ถ่ายทำไมวะ” เธอว่าพร้อมเสียงหัวเราะ “หรืออาหารที่อยู่ในจานไม่สวย เราสามารถถ่ายคร็อปได้ และให้สว่างหน่อย ถ่ายอาหารติดโอเวอร์มันจะดูสวยและน่ากินกว่ามืด ดูนวลๆ น่ากินขึ้น
และภาพอาหารที่สวย สำหรับมดคือ “เป็นรูปที่เห็นแล้วน่ากินค่ะ เห็นแล้วอยากตามไปกิน หรือมีอะไรที่มันน่าสนใจกว่าอาหารที่วางไว้เฉยๆ”