Site icon Spotlight Daily

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กับอนาคตของหนังเพศที่สาม

เรื่องและภาพ: วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย

             ตั้งแต่อดีตมา คนดูหนังในบ้านเราต่างมีภาพจำของหนังไทยที่ว่าด้วยเพศที่สามอย่างกะเทย ต้องมีความตลกโปกฮา ขายคาแรกเตอร์สุดเหวี่ยง เพื่อมอบความบันเทิงให้กับผู้ชมอย่างเต็มที่ ปฏิเสธไม่ได้ภาพจำเหล่านั้นได้สร้างมายาคติให้สังคมส่วนใหญ่มองคนเพศที่สามไปในทิศทางเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในความเป็นจริง ภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศที่เล่าเรื่องราวของเพศที่สามในแง่มุมอื่นๆ อย่างเข้าอกเข้าใจ ยังคงมีอยู่ในตลาดไม่น้อย

             น่าสนใจว่า ปัญหาเรื่องความเข้าใจความหลากหลายทางเพศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ทั้งในแง่การยอมรับและทัศนคติที่มี ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือสังคมระดับใดก็ตาม สื่ออย่างภาพยนตร์ก็เรียกได้ว่าเป็นสื่อที่น่าจะมีอิทธิพลต่อสังคม หากแต่ยังทำสถานะได้เพียงเป็นหนังเฉพาะกลุ่มเท่านั้น สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาที่จะช่วยให้คนได้เข้าใจความหลากหลายทางเพศจึงลดน้อยไปตามกระแส

             อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศอย่าง ‘Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ กลับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกห้ามฉายจากพรบ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 หลังการต่อสู้กว่า 7 ปีของผู้กำกับอย่าง กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จนในที่สุดภาพยนตร์ก็ได้ออกฉาย สิ่งที่ได้มากกว่าแค่การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหาของคนทำภาพยนตร์ คือการที่สังคมได้เข้าใจความหลากหลายทางเพศผ่านการเรียกร้องของเธอมากขึ้น แล้วอะไรคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลาของการเป็นคนทำหนังที่พยายามพูดถึงประเด็นนี้มาโดยตลอด

มองภาพรวมของสื่อที่พูดถึงเพศที่สามในบ้านเราตอนนี้อย่างไร

             จากเมื่อก่อนที่เราเริ่มทำหนังสั้น จนมาทำหนังยาวเรื่องแรกคือ Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้านประมาณ 7-8 ปีก่อน มันพัฒนาไปเร็วมาจากที่เราเคยโดยแบน ในปัจจุบันก็มีหนังเกย์ว่าด้วยความหลากหลายต่างๆ มากมาย แต่เห็นชัดที่สุดคือในทีวี ไม่ว่าจะช่องหลัก ช่องเล็ก ออนไลน์ จะมีเรื่องราวความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น เรียกว่าเปิดพื้นที่มากขึ้นจากเมื่อก่อน ดูมีการสร้างความเข้าใจในสังคมมากขึ้น แต่นอกจากพื้นที่หลักในสื่อทั่วไปแล้ว เฟซบุ๊กเองก็ทำให้มีพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น คนไทยเองพอเห็นข่าวเรื่องความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่นทอมรักกับกะเทยมีลูกด้วยกัน หรือผู้ชายกับผู้ชายแต่งงานกัน ก็ย่อมมีคอมเมนต์เหยียดๆ อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปได้เห็นมากขึ้น ว่ามีแบบนี้ด้วย ช่วยให้ได้เห็นตัวตนความเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางเพศจริงๆ ไม่ได้แต่งแต้มขึ้นมาจากในบทหนังหรือทีวีเท่านั้น

ถึงพื้นที่สื่อจะมีมากขึ้น แต่ก็มีคนที่ไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศอยู่ดีรึเปล่า

             แน่นอนว่าเราจะเปลี่ยนโลกในวันเดียวไม่ได้ ยังมีคนที่ปิดและยังไม่เชื่ออยู่ แต่ก็มีคนที่เปิดกว้างมากขึ้น ตอนที่เราเอาหนังไปฉายแล้วเจออะไรแบบนี้เยอะมาก ปัญหาของโลกใบนี้คือคนเรารับรู้ว่า มนุษย์เราถูกสร้างให้มีเพียงแค่สองเพศและจำกัดตามอวัยวะเพศของตัวเองเท่านั้น ซึ่งเราบอกว่ามันไม่จริง เพราะอวัยวะเพศไม่มีสิทธิ์กำหนดชีวิตเราได้เลย คนมักถูกวาทกรรมหรือตั้งโปรแกรมบอกว่าเรามีแค่ชายและหญิง และคนที่มีรสนิยมนอกเหนือไปจากสองเพศนี้ จะถูกเรียกว่าประเภทที่สองสามสี่ ถูกจัดหมวดหมู่ใหม่ในทันที ต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อยืนยันความผิดปกตินี้ โดยที่ไม่ได้ยอมรับว่าเขาก็เป็นมนุษย์ปกติ การที่เราออกมาพูดเรื่องนี้บ่อยๆ เพราะต้องการสร้างความเข้าใจผ่านหนัง

มองว่าตลาดหนังไทยขาดหนังที่พูดถึงเรื่องนี้ไหม ถึงได้ตั้งใจทำเรื่อง Insects in the Backyard ขึ้นมา

             เราก็เติบโตในแวดวงหนังไทย ดูหนังไทยมาตลอด อย่าง เพลงสุดท้าย หรือ พรางชมพู ซึ่งการที่ เพลงสุดท้าย เล่าชีวิตของกะเทยก็มีอยู่จริง แต่อยู่ในยุคที่กะเทยยังติดกรอบอยู่กับคำว่ากะเทยและยังอยากอยู่ในกรอบของคำว่าผู้หญิงอยู่ ส่วน พรางชมพู ทำให้เกิดยุคใหม่ที่พยายามพูดถึงกะเทยในมิติอื่น แต่ปรากฏว่าก็กลายเป็นตลกโปกฮา ยังไม่เห็นมิติในแบบที่ทำความเข้าใจ หนังพยายามบอกว่ากะเทยเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ต่างอะไรจากพวกชาวเขา แต่ก็มีอยู่ฉากหนึ่งที่ดูเหมือนว่าผู้สร้างเขาไม่ได้อยากเล่าชีวิตกะเทยแบบมีมิติจริงๆ เป็นฉากที่ผู้ชายจูบกับกะเทยแล้วมีคนแอบดูแล้วอ้วกแตก เขาสร้างภาพจำซ้อนแบบนั้นเข้าไปอีก เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเท่าไร พอเราได้มาดู สตรีเหล็ก ก็เห็นภาพมากขึ้น ถึงแม้จะยังมีภาพจำบางอย่างอยู่ก็ตาม แต่พอมา รักแห่งสยาม เราได้เห็นการเล่าเรื่องราวของคนที่รักเพศเดียวกัน จริงๆ เราไม่อยากใช้คำว่ารักร่วมเพศ เพราะเหมือนดูอยากร่วมเพศ หนังเล่าความเป็นเกย์และความหลากหลายทางเพศในมุมมองที่แตกต่างจากเรื่องอื่น เห็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เพื่อนกัน มีมิติลึกซึ้ง ไม่ได้สร้างภาพจำที่ไม่ดี แต่สร้างความเข้าใจให้คนในสังคมได้ดี

             เราเป็นกะเทยที่ทำหนังกะเทย แต่กะเทยด้วยกันเองดูแล้วกลับบอกว่า กะเทยที่อยู่ในหนังของพี่ไม่มีอยู่จริง เราก็บอก โถลูก กะเทยด้วยกันเองยังเหยียดกันเลย กะเทยที่ไม่เหมือนกับหนูไม่ใช่กะเทยเหรอ ซึ่งจริงๆ น้องก็ไม่ได้ผิด เพราะน้องรับรู้เท่านี้ และเขาถูกกรอบของกะเทยสร้างมาครอบตัวเขาอยู่อีกทีหนึ่ง ไหนจะมีกะเทยแต่งหญิงไม่แต่งหญิง กะเทยที่ชอบผู้ชาย กะเทยที่ชอบผู้หญิง หรือกะเทยที่มีลูกมีเมีย กลายเป็นว่าเราเหยียดกันด้วยรสนิยมทางเพศ

ได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจากไหน

             หลังจากที่ได้ไปตระเวนฉายหนัง Insects in the Backyard เราก็ได้เจอฟีดแบ็กที่บอกว่าหนังคุณสร้างมันขึ้นมา คนที่อยู่ในหนังมันไม่มีอยู่จริงๆ หรอก เราก็เลยยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่าหนังเรื่องนี้มันสร้างมาจากเรื่องจริง เราไม่ได้เมคขึ้นมา ได้ลองดูข่าวทุกวันนี้ไหม ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนที่ปิดกั้นตัวเองจนเกินไป มันคือ real story ที่จริงกว่าในหนังอีก ในหนังถือว่าซอฟต์มาก แรงบันดาลใจจึงมาจากตัวเองเลย เมื่อก่อนก็เคยโดนดูถูกเหยียดหยาม ที่เขาบอกว่าการเป็นเกย์หรือกะเทยเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่ง เป็นแล้วก็ต้องยอมรับสภาพนั้น เหมือนถูกภาวะจำยอมให้คิดแบบนั้น แต่เมื่อเราโตขึ้นรู้สึกว่ามันไม่จริง ทำให้เกิดโมเมนต์ที่ทำให้เราอยากทำหนังเพื่อจะบอกว่ามันไม่ใช่เวรกรรมและไม่ใช่สิ่งผิดปกติ เราไม่ได้เป็นโรค แต่เราเกิดมาเป็นแบบนี้เอง เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ตั้งแต่ทำหนังสั้นเรื่องแรกเราก็พยายามพูดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ความรักผิดหวังอกหัก ที่ผู้หญิงมีผู้ชายมี กะเทยก็มีไม่ต่างกัน เราจึงทำเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ได้เรียกร้องสิทธิให้เท่ากัน แต่เราพยายามบอกว่า ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศเป็นแบบไหน ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

             เมื่อวันหนึ่งที่เรามีหลานอายุเจ็ดแปดขวบ คือลูกของน้องชายที่เขากับเมียเลิกกันแล้วไม่เลี้ยง เราก็เลี้ยงหลานคนนี้มากับแม่เรา ช่วงที่ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนนั้นเราให้หลานอาบน้ำ แต่พออาบเสร็จก็ไม่ยอมใส่เสื้อผ้า เขาบอกว่า ไม่อยากใส่เสื้อผ้าตุ๊ด ตอนนั้นรู้สึกเจ็บปวด เพราะนี่คือหลานแท้ๆ ที่เราเลี้ยงมากับมือ สังคมโลกใบนี้ทำให้หลานเรามีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศแบบไหนถึงได้ทำให้เขากล้าพูดกล้าคิดออกมาแบบนี้ เขาพูดออกมาโดยไม่รู้ว่ามันทำร้ายจิตใจคนที่รักเขาขนาดไหน ทั้งๆ ที่คนในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีที่สุด ถ้ามันเกิดความเข้าใจผิดหรือกำแพงที่ใหญ่มากๆ ตั้งอยู่กลางบ้าน จะเกิดอะไรขึ้น และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเราและหลานเรา จึงทำให้เขียนบทหนังเรื่องนี้ออกมาเพื่อจะบอกว่าคนเราจะเกลียดกันโดยที่ยังรักกันแบบนี้ไม่ได้ หรือบางครั้งไม่ต้องมีความรักหรอก แค่มีความเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรา ให้มองว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เราถึงบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ไม่มีอยู่จริง

เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลานเป็นผลมาจากสื่อที่สร้างความเข้าใจผิดๆ ใช่ไหม

            สื่อมีผลกระทบให้หลานเรามองกะเทยและความหลากหลายทางเพศแบบผิดๆ เพราะสื่อในทีวีก็จะสร้างภาพจำของกะเทยที่เป็นตัวตลก น่าเกลียด และไม่ประสบความสำเร็จในความรัก ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในความเชื่อของคนที่โรงเรียน เพราะหนังสือสุขศึกษาของเด็ก เขียนเอาไว้ว่าคนที่วิปริตหรือเบี่ยงเบนทางเพศ ต้องหลีกให้ไกล เป็นการเรียนการศึกษาที่ขาดความเข้าใจต่อมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าครูที่โรงเรียนสอนหลานเราแบบนั้น หลานถึงรู้สึกกับเราแบบนั้น ลองคิดดูว่าถ้าพ่อแม่เป็นแบบตัวละครธัญญ่าที่อยู่ในหนัง เมื่อโรงเรียนสอนให้ลูกเขาเกลียดสิ่งที่พ่อเขาเป็น จะเกิดอะไรขึ้น

            เป้าหมายของหนังเรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก คือพูดประเด็นนี้แหละ คงไม่ได้ขอให้ทุกคนรักกัน แต่ขอให้ทุกคนเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจนี้การดูหนังเรื่องเดียวอาจจะไม่เข้าใจ แต่ต้องผ่านกระบวนการทางสังคมและสร้างความเชื่อร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นฐานทางการศึกษาและทางการแพทย์ สองอย่างนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าโรงเรียนบอกว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งและปลูกฝังความคิดนี้ตั้งแต่เด็ก ทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน เราต้องเข้าใจว่า พื้นฐานของสังคมที่มองเห็นแต่กะเทยเป็นตัวตลก เป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อลูกของเขาเป็น เขาก็ไม่อยากให้ใครมาหัวเราะลูกเขา และจะตอบคำถามกับสังคมได้ยังไงว่าลูกเขาเป็นกะเทย เพราะสังคมไม่ได้ให้พื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจ ถ้าเรามีพื้นฐานทางการศึกษาหรือหลักสูตรที่ทำให้คนเข้าใจตรงนี้ได้ ว่าคนที่เป็นตุ๊ด เกย์ กะเทย ทอม เป็นมนุษย์เหมือนกันหมด เด็กก็จะรู้สึกว่าตนเองเหมือนคนอื่น และต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กทุกคนไม่ใช่พ่อแม่ที่มีลูกเป็นกะเทยอย่างเดียว ถ้าเราทำความเข้าใจตรงนี้ ปัญหาทุกอย่างจะหายไป

คิดเห็นอย่างไรกับคนที่บอกว่า หนังเพศที่สามมีส่วนที่ทำให้คนเบี่ยงเบนทางเพศมากขึ้น

            คือประเทศเรามักเข้าใจผิดว่าสื่อทีวี หนัง หรืออะไรก็ตามจะทำให้คนเป็นตุ๊ดตาม ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่ การจะเป็นตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้ มันเป็นธรรมชาติที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่ใช่การรักษาให้หาย เราสามารถลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงรสนิยมของเราได้ คนส่วนใหญ่สงสัยว่าสมัยนี้มีหนังเกย์มากขึ้นแล้วทำให้คนเป็นเกย์มากขึ้นรึเปล่า ประเด็นนี้จริงๆ มันไม่ใช่ คนเขาเป็นอยู่แล้ว แต่มีสื่อมาบอกว่าการเป็นแล้วไม่ผิด ทำให้คนที่เป็นสามารถ come out ออกมาด้วยความภูมิใจ ฉันอยากจะมีตัวตนในแบบที่เป็นแล้ว ไม่ต้องปิดเหมือนเมื่อก่อน ไม่ต้องกลัวที่จะโดนประณามหรือดูถูก จนทำให้มีปัญหากับที่บ้านที่ทำงานหรือการใช้ชีวิตในสังคม แต่ทุกวันนี้ทุกคนสามารถแชร์ชีวิตตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้คนเห็นชีวิตซึ่งกันและกัน เป็นกระจกส่องกันและกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการดูหนังแล้วทำให้เป็น ประเด็นจะหมดไป เพราะทุกคนเข้าใจร่วมกันหมดแล้ว เมื่อทุกคนเข้าใจก็จะไม่มีการทำหนังที่เหยียดหรือเอากะเทยมาเล่นเป็นตัวตลกอีก

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ก็ยังมีหนังกะเทยตลกอยู่เต็มตลาด

            เราเองก็ทำหนังและเขียนบทให้พี่พจน์ อานนท์อยู่ เราก็ต้องมองด้วยความยุติธรรมแบบเป็นกลางนิดหนึ่งว่า กะเทยแบบที่พี่พจน์นำเสนอมีอยู่จริงไหม ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่พจน์ทำคือจับโมเมนต์ของสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันมาทำเป็นหนังหนึ่งเรื่อง เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนก็ชอบดูหนังตลกที่พี่พจน์ทำ อย่างหนังที่กะเทยมาด่ากัน ถามว่าถ้าพี่พจน์ไม่ทำหนังแบบนั้น กะเทยที่ด่าในกันเฟซบุ๊กมีอยู่ไหม ก็ยังมี เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องประหลาด แน่นอนว่าการทำหนังต้องเพิ่มเสริมแต่งเพื่อให้คนดูตลกไปด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ educate คนดู หรือสร้าง media literacy ให้คนรู้เท่าทันสื่อ และมีความเข้มแข็งตรงนี้ รู้ว่านี่คือหนังที่สร้างขึ้นมา เพราะสิ่งเหล่านั้นมีความสำคัญทางวงการภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ เพราะมันคือบันทึกว่าปีนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หนังทุกเรื่องไม่มีเรื่องไหนเป็นขยะหรอก อยู่ที่ว่าเขาจะเลือกหยิบจับอะไรมาให้เราดู เราก็ต้องมองตรงนี้ด้วย หนังไม่ได้มีแบบเดียว และวัตถุประสงค์ของการทำหนังก็มีหลายแบบ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาเหมือนกัน ถ้าเราดูแล้วว่านี่คือความบันเทิง นี่คือความรู้ เราก็เก็บมาใช้ได้

สมมติว่าถ้ามีหน่วยงานของรัฐบาลมาจ้างให้ทำหนังที่พูดถึงเพศที่สาม จะอยากทำไหม

            อยากทำมาก อย่างน้อยแค่เขามีความคิดว่าอยากจะทำเรื่องนี้ ก็ถือว่าเขาก้าวหน้าแล้ว เริ่มเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เพราะหน่วยงานของรัฐบาลควรจะเข้าใจมนุษย์มากที่สุด เป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ได้มาควบคุมประชาชน ถ้าเขามีไอเดียที่อยากจะจ้างเราเพื่อสร้างหนังเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ แน่นอนเราพร้อมจะทำ แต่ก่อนจะรับงานต้องคุยเรื่องวิสัยทัศน์ก่อน ว่าเขาเข้าใจถูกรึเปล่า เราต้อง educate เขาก่อนว่าสิ่งที่อยากจะทำคืออะไร และเขาต้องการอะไร ให้เขาเข้าใจและเห็นด้วยในหลักการของเรา เพราะนี่คือสิ่งที่เราอยากจะทำมาตลอด

ได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นคนทำหนังที่พยายามสร้างความเข้าใจเรื่องนี้มาโดยตลอด

            มันยากลำบากมาก แต่พลังกายและพลังใจที่ทุ่มเทไปแต่ละครั้งมันมีคนเห็น ซึ่งพิสูจน์ด้วยการได้ไปฉายในเทศกาลทั่วโลก มีคนเห็นสิ่งที่เราต้องการจะสื่อและจะบอกกับโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่ในประเทศ พอได้รับฟีดแบ็กมาก็เกิดแรงบันดาลใจ ทำหนังหนึ่งเรื่องต่อให้มีคนเข้าใจแค่คนเดียวเราก็ดีใจแล้ว แต่นี่มากกว่าคนคนเดียว ตอนทำ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก หนังได้รางวัลจากทั้งในและนอกประเทศเยอะมาก แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมันเป็น universal message มันคือสิ่งที่เป็นสากลที่คนทั่วโลกและคนทั่วไปยอมรับได้ แน่นอนมันเปลี่ยนในวันเดียวไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำมันเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงแน่นอน หรืออย่างตอนทำ Insects in the Backyard แล้วโดนแบน เราก็ต่อสู้จนได้ฉาย ซึ่งการต่อสู้ของเราก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ทำให้คนอยากรู้ เราได้เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ นักศึกษาที่เอาไปทำธีสิสเรียนจบ แล้วมีคนอ่าน มันก็คือการกระจายความรู้ที่เราต้องการอยู่แล้ว หรือมีคนมาสัมภาษณ์ สื่อหลายหัว ทีวี นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เราก็ได้กระจายสิ่งที่อยากจะบอกไปกับสื่อเหล่านี้ แม้คนอ่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ อย่างน้อยคนอ่านก็ได้ผ่านตาหรืออยู่ในหัวไปแล้ว ทำให้เราอยากจะทำตรงนี้ต่อไป  

มีฟีดแบ็กไหนที่ประทับใจที่สุด

             ฟีดแบ็กที่เราได้รับจากทั้งสองเรื่องทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานมากๆ ตอนที่ Insects in the Backyard ได้ไปฉายหลายประเทศทั่วโลก มีฟีดแบ็กคือเขาขอบคุณที่เราทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะมันเป็นชีวิตของเขาและอีกหลายๆ คนในโลกใบนี้ นี่คือฟีดแบ็กจากต่างประเทศ แต่พอมาเมืองไทยเราโดนแบน แต่พอได้มาฉายจริงๆ ตามมหา’ลัย เขาก็มาขอบคุณเราที่ทำหนังเรื่องนี้ทำให้เขาเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น เท่านี้เราก็รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว เพราะทำให้คนมองโลกกว้างขึ้นและสังคมที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเขาอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ตัดสินใครจากเพียงภายนอกหรือแค่รสนิยมทางเพศ ดูจบแล้วทำให้เห็นมนุษย์ที่ไม่เคยเห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มีอยู่จริง ส่วน It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก เราแอบเข้าไปดูในโรงแล้วเห็นเกย์ที่พาพ่อแม่มาดู เพื่อที่จะบอกพ่อแม่เขา เพราะบางคนไม่กล้า come out ออกมาตรงๆ จึงใช้หนังเรื่องนี้เป็นตัวสื่อแทน และทำให้พ่อแม่เขาเข้าใจในตัวเขาได้ ทำให้รู้สึกว่าหนังเรามีประโยชน์จริงๆ

มองอนาคตของหนังเพศที่สามในบ้านเราอย่างไร

             ต้องยอมรับว่าหนังที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนดูก็เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ถึงจะมีคนทั่วไปมาดูก็ไม่แปลก แต่ก็ไม่ใช่ทาร์เก็ตหลัก เพราะคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในโลก จะให้หนังอย่าง มะลิลา หรือ Call Me by Your Name ได้ร้อยล้านก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม ถามว่าคาดหวังอยากให้มีหนังเกย์หรือหนังที่เล่าเรื่องนี้แล้วได้ร้อยล้านไหม ก็อยากเห็น อย่าง พี่มากพระโขนง ถ้าเล่าเป็นเวอร์ชันเกย์ แล้วมีคนไปดูร้อยล้าน ก็อยากให้เป็นแบบนั้น ทำให้คนลืมไปเลยว่าตัวละครเป็นเพศอะไร ไปดูแค่ความรักของมนุษย์คู่หนึ่ง ไปเสพ message เดิมคือความรัก แต่คนดูยังตลกและสนุกไปกับมันได้ นี่คือความใฝ่ฝันอันสูงสุด แสดงว่าคนทั่วไปมองข้ามเรื่องเพศไปแล้ว เขามองที่เรื่องราวที่เป็นมนุษย์กับมนุษย์จริงๆ ถามว่ามันเป็นได้ยากไหมที่เขาจะมองข้ามเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้ยาก แต่ถามว่ามีโอกาสไหม ก็มี จุดเริ่มต้นได้พัฒนากันมามากมายแล้ว อย่าง Moonlight หรือ Brokeback Mountain ที่ได้ออสการ์ ก็แสดงว่าคนเริ่มเข้าในความหลากหลายทางเพศแล้ว

             คนทำหนังเหล่านี้ไม่เคยมีใครคิดว่าตัวเองทำหนังเฉพาะกลุ่มหรอก เขาทำหนังเรื่องมนุษย์สองคน เป็นเพราะจำนวนมนุษย์ที่มองเห็นความแตกต่างตรงนี้มันไม่ใช่รสนิยมเขา เขาไม่ดูหนังเหล่านี้ก็ไม่แปลก ต้องเคารพตรงนี้ด้วย แต่ในแง่คนทำก็อยากให้คนมาดูเยอะๆ

             “เพราะสัดส่วนของมนุษย์บนโลกใบนี้ เราเป็นแค่กลุ่มน้อย อยากให้คนกลุ่มใหญ่มองเห็นว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน”

 

Facebook Comments Box
Exit mobile version