เรื่องและภาพ: ขาว-ดำ

สังคมเกย์ในมุมมองของ
ธวัชชัย ดีพัฒนา
(บรรณาธิการนิตยสารเกย์ฉบับสุดท้ายของเมืองไทย)

    

                บัญฑิตจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มงานอาชีพในแวดวงพีอาร์ ก่อนเบนเข็มสู่แวดวงสื่อสารมวลชน ผ่านงานนิตยสารมาหลายต่อหลายเล่ม กระทั่งมาปักหลักในตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร Attitude ตั้งแต่ฉบับแรก ปีแรก จนก้าวขึ้นขวบปีที่ 8 ในเดือนมีนาคมนี้ กระทั่งมีข่าวล่าสุดว่าบริษัทกำลังจะปิดตัว

                ‘ต๊ะ แอตติจูด’ ผ่านประสบการณ์ชีวิต ผ่านการเสพข้อมูลข่าวสารในฐานะคนทำสื่อ รวมทั้งผ่านเวทีแสดงทัศนะหัวข้อ LGBT มาหลายครั้ง พร้อมที่จะตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น ‘เกย์’ ได้ในทุกหัวข้อ

                ครั้งนี้ก็เช่นกัน ต๊ะมาอัพเดทเรื่องเกย์ในสังคมไทย แบบง่ายๆ และใกล้ตัว

ต๊ะคิดว่าสื่อเกย์ของไทยมีเพียงพอกับประชากรเกย์ในประเทศไหม

                ไม่พอหรอก จริงๆ แล้วความหลากหลายของเกย์ในเมืองไทยมีเยอะมาก รวมทั้งเลสเบี้ยน ก็เป็นกลุ่มที่เยอะ เคยมีหนังสือ ‘อัญจารี’ อยู่พักหนึ่ง แล้วก็หายไป

แต่ก็ยังมีกลุ่มอยู่

                ใช่ เขาเหนียวแน่นมาก เราเพิ่งไปสัมภาษณ์เรื่องปาร์ตี้ของกลุ่มเลสเบี้ยนมา คอมมูนิตี้ของเขาแข็งแรงดี ตอนนี้เขาไปใช้ระบบสื่อสารของเฟซบุ๊ก นานๆ เขาจัดปาร์ตี้รวมตัวกันที นอกนั้นก็กระจัดกระจาย จะมีก็นิตยสาร Attitude นี่แหละที่เป็นสื่อเดียวที่ประกาศตัวว่าเป็นสื่อเกย์ นอกนั้นก็เป็นพวกใต้ดิน และเป็นแนวโฟโต้อัลบั้ม ซึ่งเยอะมาก

                แต่ส่วนใหญ่เป็นออนไลน์หมด ไม่มีพริ้นต์แล้ว เพราะต้นทุนการพิมพ์ไม่คุ้ม ออนไลน์มันง่ายกว่า ระบบแบ่งเปอร์เซ็นต์ก็ดูแล้วน่าจะแฟร์กว่า บางเจ้าที่ให้ exclusive เขาหักแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในแง่ของการลงทุนก็ถือว่าต้นทุนไม่แพงเท่ากับการทำสิ่งพิมพ์ บางเล่มใช้ต้นทุน 5-6 หมื่นก็อยู่แล้ว ถ้าเล่มไหนขายดีก็จะได้กำไรเยอะ แต่ถ้าขายไม่ดีก็อีกเรื่อง

รู้ไหมว่าอะไรคือแรงดึงดูดใจให้ผู้ชายมาถ่ายรูปโป๊กัน

                เราว่ามันเป็น culture ของเด็กยุคนี้ไปแล้ว คือต้องเข้าใจว่าเด็กยุคใหม่ๆ ที่โตมากับสื่อออนไลน์ ความเคยชินกับ culture อีกแบบหนึ่ง ความจริงเรื่องนี้น่าจะมีใครลองไปทำวิจัยดูนะ อย่างเรื่องเด็กที่ชอบโชว์ทางทวิตเตอร์ โชว์กันได้ทุกวัน และเขาไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องอนาจาร กลับกลายเป็น…ขอฝากผลงานของผมด้วยนะครับ ซึ่งมุมมองเหล่านี้ นักสังคมศาสตร์น่าจะลองไปศึกษาดู ว่าเด็กที่โตมากับดิจิตอลเขาคิดอย่างไร เรื่องการโชว์เรือนร่างผ่านสื่อเหล่านี้

                มันเลยกลายเป็นที่มาของการมีคลิปหลุดบ่อย เหมือนเพื่อนก็โชว์ ทำไมฉันจะโชว์บ้างไม่ได้ แต่ว่าสักวันหนึ่งถ้าเกิดคุณมีชื่อเสียงขึ้นมา ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันก็จะย้อนกลับมาสู่ตัวคนคนนั้นเอง

แปลว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

                เรื่องเงินเราคิดว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ตัดสินใจง่ายขึ้นมากกว่า เช่น ถ้าไปเจอบางเล่มที่ล่อตาล่อใจ ให้ค่าตัว 5 หมื่น บวกเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งงี้ ก็น่าจะทำให้การตัดสินใจมันง่ายขึ้นสำหรับเด็กหลายๆ คนที่จะมาถ่ายภาพนู้ด

สื่อเกย์ต่อไปจะเป็นอย่างไร

                คิดว่าหลังจาก Attitude ออกฉบับสุดท้ายเดือนเมษายนนี้แล้ว น่าจะเหลือแค่พวก free copy ที่วางตามสถานบันเทิงแถวสีลมหรือซาวนา มันจะเป็นคอนเท็นต์ที่แนะนำสถานที่กินและเที่ยวของเกย์ แต่ถ้าเป็นไลฟ์สไตล์จริงๆ ที่คุยเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องหนักๆ เช่นกฎหมายหรืออะไร ก็ไม่น่าจะมี เกย์ไทยก็จะต้องไปเสพสื่อของเมืองนอกแทน หรือทางออนไลน์

ต๊ะทำนิตยสาร Attitude มา 7 ปี สรุปได้ไหมว่าเกย์ไทยชอบอะไรใน Attitude

                เกย์ไทยก็ยังชอบผู้ชายถอดเสื้อ (หัวเราะ) ผู้ชายถอดเสื้อยังขายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้ชายที่ไม่เคยถอดเลย ก็จะป๊อปปูลาร์ แต่ถ้าเป็นผู้ชายที่ถอดบ่อยๆ …เกย์ไทยจะมีความขี้เบื่อง่ายน่ะ ใครถ่ายโป๊บ่อยๆ นางเห็นแล้วจะเฉยๆ

เนื้อหาล่ะ

                ส่วนใหญ่จะชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับคู่รักนะ แปลกมากเลย ตอนเริ่มทำ Attitude ไม่คิดเลยว่าคอลัมน์นี้ (Truly Madly Deeply) จะดัง แต่กลายเป็นว่าเกย์ชอบ และตอนนี้สาว Y ก็กรี๊ดมาก เหมือนว่าเขาได้เห็น role model อะไรบางอย่างที่มันเป็นชีวิตจริง บางคนเคยปฏิเสธว่าความรักในหมู่เกย์ไม่มีจริง แต่พอเขาได้อ่านเรื่องของคนบางคนที่อยู่ด้วยกันมาสิบปี-ยี่สิบปีก็ยังไม่เลิกกัน มันก็เป็น role model อย่างหนึ่งในเรื่องของการใช้ชีวิต ทะเลาะอะไรกันมาบ้าง ทำไมถึงมาคืนดีกัน ปรับตัวเข้าหากันอย่างไร

องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเกย์ในเมืองไทยมีเยอะไหม

                เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่เรื่องสุขภาพ และสิทธิของเกย์ อย่างกลุ่มบางกอกเรนโบว์ ฟ้าสีรุ้ง เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย อะไรเหล่านี้ แต่ถ้าเป็นแนวสุขภาพ ก็จะมีกลุ่ม Impulse หรือ TestBKK

องค์กรเหล่านี้มีบทบาทในสังคมเกย์หรือเปล่า

                มี แต่ไม่เยอะมาก เอาจริงๆ แล้วที่แข็งแรงตอนนี้มีแค่ฟ้าสีรุ้ง กับบางกอกเรนโบว์ ที่เครือข่ายค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็น Impulse หรือ TestBKK ที่เป็นเครือข่ายจากต่างประเทศ ก็จะเน้นการรณรงค์เรื่องสุขภาพ การตรวจเลือด เสียมากกว่า ไม่ค่อยได้ concern เรื่องไลฟ์สไตล์อื่นๆ สักเท่าไหร่

การรวมตัวหรือความร่วมมือในการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ขององค์กรเกย์ต่างๆ เช่นงาน Thailand LGBT Expo ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

                บอกได้เลยว่ายาก เกย์ไทยจะมี culture อะไรแปลกๆ อย่างหนึ่ง คือเรามี culture เรื่องการหมั่นไส้ การเชิดหยิ่ง อะไรแบบนี้อยู่ ไม่ได้โกรธกันนะ แต่จะเป็นแบบ…ไม่อยากเห็นใครดีกว่า มันเลยทำให้การรวมตัวขององค์กรที่เกย์ในเมืองไทยไม่แข็งแรงเท่าของต่างชาติ

                นั่นเป็นสมมติฐานแรกนะ สมมติฐานที่สองคิดว่า น่าจะเป็นเพราะว่าบ้านเราไม่มีประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายเท่ายุโรปหรืออเมริกา อย่างที่อเมริกาเขามีเหตุการณ์ที่ Stonewall Inn ซึ่งตำรวจเข้าไปบุกผับ และทำให้เกย์เสียชีวิตเยอะ มันเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจ เลยทำให้เกย์ในอเมริกาต้องลุกฮือกันขึ้นมาทวงสิทธิ์ทางกฎหมายและเสรีภาพ เมืองไทยเราไม่มีอะไรแบบนั้น

                อย่างเคสของไต้หวันก็แรง คือคู่เกย์ที่ร่วมกันกู้เงินซื้อบ้าน ด้วยความที่มันไม่มีกฎหมายรองรับ พอคู่ชีวิตของเขาตายปุ๊บ ทรัพย์สินก็ตกไปเป็นของพ่อแม่อีกฝ่าย อีกคนที่กู้ร่วมก็รู้สึกผิดหวัง สุดท้ายเขาก็ฆ่าตัวตาย มันเลยกลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมา เมืองไทยยังไม่เคสอะไรที่สะเทือนใจแบบนั้น แต่ถ้ามีขึ้นมา ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอาจจะทำให้องค์กรเกย์รวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น

ที่ผ่านมาเวลาองค์กรเกย์จะจัดงานกิจกรรมอะไรสักอย่าง หมายถึงว่าต่างคนต่างจัดใช่ไหม

                ใช่ หรืออาจจะมีสององค์กรร่วมมือกัน แต่ที่จะมารวมตัวกันเป็น unity จริงๆ แทบไม่มีเลย งาน Pride Phuket ซึ่งจัดกันมาสิบกว่าปี เขาก็จัดของเขาเงียบๆ ไม่ยุ่งกับใคร ที่เชียงใหม่เองก็รวมตัวกันไม่ได้ เพราะมีบางองค์กรทะเลาะกัน

                ถ้าจะนับล่าสุดคืองาน Thailand LGBT Expo ที่เพิ่งผ่านมา นั่นเป็นการรวมตัวขององค์กรเกย์ในเมืองไทยที่เยอะที่สุดแล้ว นอกนั้นก็ไม่เยอะขนาดนี้

Thailand LGBT Expo จัดขึ้นเพื่ออะไร

                ความจริงโต้โผใหญ่คืออิมแพ็ค อารีนา ด้วยความที่เขามีพื้นที่อยู่ และเขาต้องการอีเวนต์ที่หลากหลาย บังเอิญทางบางกอกเรนโบว์ไปคุยกับทางการตลาดแล้วคลิกกัน ก็เลยจัดครั้งแรกขึ้นมา

                จริงๆ รูปแบบของเขามันเหมือนงานแฟร์มากเกินไป แล้วมีอีเวนต์ไปลง มันก็เลยทำให้คนที่คิดจะไปตั้งคำถามว่า จะไปเพื่ออะไร อีเวนต์ประกวดมิสเตอร์ เกย์ เวิลด์ หรือประกวดกะเทย หรือแฟชั่นโชว์ของเกย์เหรอ คอนเส็ปต์มันเลยไม่ชัด ที่เหลือก็เป็นการขายของ และองค์กรเกย์บางส่วนไปออกร้าน

สินค้าอะไรที่สามารถขายเกย์ได้ดีหรือตลอดกาล

                แฟชั่นกับบิวตี้ แฟชั่นนี่รวมไปถึงเรื่องกางเกงใน คือทั้งสองอย่างเป็นอะไรที่เกย์บริโภค เกย์มักจะดูแลตัวเอง หลายคนก็ให้ความสำคัญในเรื่องลุคของตัวเอง น่าจะเป็นแบรนด์สินค้าที่เกย์ยังซัพพอร์ตอยู่ตลอด

                แต่สองกลุ่มนี้ก็ยังไม่เปิดตัวเพื่อที่จะลงมาเล่นกับตลาด เหมือนกับยังมีความกล้าๆ กลัวๆ วิตกกังวลอยู่ว่า ถ้าลงมาจับกลุ่มเกย์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วจะถูกเหมารวมว่านี่คือ เกย์ แบรนด์ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าคิดมุมแคบแค่นั้น มันก็จะอยู่ในโลกที่แคบขนาดนั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วแบรนด์แฟชั่นดังๆ หลายแบรนด์ ยกตัวอย่าง Greyhound เกย์ก็ซัพพอร์ตมาตั้งแต่เปิด ซึ่งก็เป็นที่รู้กันในวงการ เพียงแต่เขาไม่ได้เปิดตัว

มันเลยกลายเป็นปัญหาลูกโซ่โยงมาถึงเรื่องการเป็นสปอนเซอร์ให้กับสื่อเกย์ใช่หรือเปล่า

                ถูกค่ะ ยกตัวอย่าง Attitude สินค้าที่มาซัพพอร์ตก็คือสินค้าที่ชัดเจน เช่น ถุงยางอนามัย น้ำยาล้างอวัยวะเพศ ยาที่ทำให้แข็ง เจลหล่อลื่น และกางเกงใน ในขณะที่สินค้าอื่นๆ ซึ่งเกย์ก็บริโภคกลับไม่กล้าเล่น ยังกลัวอยู่

ต๊ะมีคำแนะนำเกี่ยวกับการเปิดตัวว่าเป็นเกย์บ้างไหม

                มันต้องเริ่มจากการยอมรับตัวเองก่อนนะ แล้วก็ศึกษาบริบทของตัวเอง เช่น พ่อแม่พี่น้อง อาจจะหยั่งเสียงก่อนก็ได้ เพราะบางทีเราอาจจะกลัวกันไปเอง แต่ถ้าหยั่งเสียงไปแล้ว เขาไม่มี negative feedback ก็ค่อยๆ ทำให้เขารู้ และพอถึงจุดหนึ่งที่เรามั่นใจ ก็คุยกับพ่อแม่ไปตรงๆ คิดว่าพ่อแม่น่าจะรับได้

                แต่ถ้าคนที่เจอ negative feedback ในบริบทของตัวเอง อย่างเช่น พ่อแม่เกลียดและด่าตุ๊ด รวมทั้งด่ามาถึงเราว่า มึงอย่าเป็นนะ อันนี้ก็อาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้…ถ้าเราไปอยู่ในสถานการณ์นั้น เราอาจต้องคิดหนักว่าเราจะบอกดีหรือไม่บอกดี หรือจะเก็บไว้อย่างนี้ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าพ่อแม่มายุ่งกับเรามากแค่ไหน เคยมีน้องคนหนึ่งที่รู้จัก พ่อแม่เขาพยายามยัดเยียดให้แต่งงานกับผู้หญิง พาไปดูตัวลูกสาวบ้านนั้นบ้านนี้ ทั้งๆ ที่ลูกของตัวเองอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นกะเทยแต่งหญิงน่ะ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องพิจารณากันเป็นกรณีๆ ไป ถ้าให้น้องคนนั้นไปแต่งงานกับผู้หญิงจริงๆ นางก็คงทำไม่ได้ อาจจะถึงเวลาที่มันบีบคับให้ต้องคุยกัน

ปัญหาที่เกย์ส่วนใหญ่พบมากที่สุดคืออะไร

                พูดถึงเกย์รุ่นใหม่นี่โชคดีนะ เพราะพวกนางโตขึ้นมาในยุคที่สื่อเปิด และคนรุ่นเรากรุยทางมาให้เยอะมาก ทุกวันนี้เกย์ไม่ได้เป็น…คือคนในสังคมส่วนใหญ่ก็รู้ว่า เกย์ไม่ได้ผิดปกติ แค่เขาจะรับได้หรือไม่ได้เท่านั้นเองในระดับครอบครัว และหลายครอบครัวพ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร คือพ่อแม่เองก็โตมากับเพื่อนที่เป็นตุ๊ด พ่ออาจจะมีเพื่อนตุ๊ดเยอะ ถ้าลูกชายเป็นก็ไม่น่าจะว่าอะไรนะ (ยิ้ม)

                 คิดว่าปัญหาของเด็กรุ่นใหม่น่าจะเป็นเรื่องของการมีเซ็กซ์มากกว่า อย่างที่บอกว่า เด็กพวกนี้โตมากับสื่อออนไลน์ มันทำให้พวกเขาคิดอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่เหมือนคนรุ่นเรา เขาสามารถที่จะโชว์ช่วยตัวเองผ่านทวิตเตอร์ได้ และได้รับข่าวสารข้อมูลว่ายาเจริญก้าวหน้า ก็เลยทำให้หลายคนเพิกเฉยต่อการป้องกันตัวเอง เช่น พอรู้ว่ามียาเพร็พ (PrEP = Pre-Exposure Prophylaxis) ก็กินเพร็พเลย ไม่ต้องป้องกัน ซึ่งจริงๆ แล้วเพร็พมันป้องกันได้ แต่มีข้อยกเว้นว่า ถ้าไม่ได้ทำ 1-2-3 มันก็จะมีช่องทางที่ทำให้คุณติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นยามันก็ไม่ได้ช่วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้เด็กรุ่นใหม่เสี่ยงกับเรื่องพวกนี้

                 แต่ข้อดีของเด็กรุ่นนี้ก็คือ เขาชัดเจน เช่นบางคนเปลี่ยนเพศสภาวะได้ เป็นได้ทั้งรุกและรับ ในขณะที่เกย์รุ่นแก่ๆ หรือเกย์ยุคคลาสสิกจะมีความยึดมั่นถือมั่นบางอย่างอยู่

                เกย์รุ่นเก่าจะมีมายด์เซ็ตแบบ…เกย์รุกต้องมี type เป็นอย่างไร เกย์รับเป็นอย่างไร ขณะที่เกย์รุ่นใหม่…เกย์รุ่นเก่ามองแล้ว อะไรยะ…อีดอก สาวทั้งคู่เลยอะ มาเป็นแฟนกัน เดินจับมือกัน ถามว่าใครเป็นรุกใครเป็นรับ นางก็บอกว่าแล้วแต่โอกาส ซึ่งเกย์รุ่นเก่าจะตกใจว่าทำไมโลกมันเป็นอย่างนี้ไปแล้ว แต่นั่นจะไปว่าเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ เพราะเขาโตมากับมายด์เซ็ตอีกแบบ

ในแง่คนทำหนังสือ ต๊ะคิดว่าสิ่งที่เกย์ไทยควรรับรู้คืออะไร

                ณ วันนี้ เรื่องการยอมรับตัวเอง โอเค สิ่งที่เกย์ไทยควรจะรับรู้คือ ความแตกต่างของคนที่เป็นเกย์ด้วยกัน เหมือนที่พูดไปว่า เด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับมายด์เซ็ตที่เปิดกว้างมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องการเลื่อนไหลของเพศสภาพและเพศสภาวะ เขาก็จะไม่ยึดติด บางคนอาจจะแต่งหญิง แต่พอถึงเวลาก็สามารถเป็นรุกได้ ในขณะที่เกย์รุ่นเก่าอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า ถ้าฉันแต่งหญิง ฉันก็ควรเป็นเพศแม่ นั่นคือเรื่องความหลากหลาย และความแตกต่างในกลุ่มเกย์ด้วยกัน และพยายามจะไม่บล็อกความคิดของตัวเองว่า LGBT จะต้อง 1-2-3-4-5

               ซึ่งถ้าเกิดคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศจริงๆ มันไม่ได้ดูแค่เรื่องเพศสภาพอย่างเดียว เราต้องดูเรื่องเพศสภาวะและรสนิยมของคนคนนั้นด้วย ทำไมบางคนชอบแนว S&M ทำไมบางคนชอบเครื่องแบบ หรือชอบแนวกรรมกร ก็เป็นรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่ง เกย์ไม่ควรตั้งแง่ที่จะเกลียดกันเอง เพราะถ้าเกลียดกันเองในหมู่เกย์ก็จะเป็นประเด็นที่เยอะ และแก้ยาก

แง่ของกฎหมายล่ะ

                เรื่องกฎหมาย ด้วยความที่คนรุ่นเรากรุยทางมาเยอะแล้ว โดยเฉพาะเรื่อง พรบ. การแต่งงานในเพศเดียวกัน และการเปลี่ยนคำนำหน้า เพียงแต่ว่าถ้าคนรุ่นใหม่ concern เรื่องนี้และสานต่อ เชื่อว่าวันหนึ่งก็น่าจะทำสำเร็จ เพราะกลุ่มเกย์ในสังคม รวมถึงคนที่ไม่ใช่เกย์แต่เข้าใจเกย์ก็มีมากขึ้น เราจะทำอย่างไรที่จะดึงคนที่ไม่ใช่เกย์แต่เข้าใจเกย์มาร่วมมือกับเราในการที่จะผลักดัน พรบ.สองประเด็นนี้ให้สำเร็จ

                ตอนนี้ อย่างเรื่อง พรบ.เปลี่ยนคำนำหน้าน่าจะสำคัญกว่า พรบ.การแต่งงานในเพศเดียวกัน เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสาวประเภทสองเยอะมาก และชายข้ามเพศก็มีเยอะมากด้วย เพศสภาพเขาเปลี่ยนไปแล้ว ตรงกันข้ามกับเพศโดยกำเนิด แต่เขายังต้องใช้คำนำหน้าที่ไม่ตรงกับเพศสภาพปัจจุบัน เขาควรจะมีสิทธิที่จะใช้คำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพที่เขาเป็นอยู่ ซึ่งตรงนี้มันสามารถตรวจสอบในทางการแพทย์กันไม่ยากเลย แป๊บเดียวก็รู้แล้ว

                แต่ทั้งหมดนี้ ถ้าจะถามว่ามันเป็นเรื่องสำคัญไหมสำหรับเมืองไทย ก็อาจตอบได้ว่าไม่สำคัญ เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลไทยคงต้องให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากกว่าอยู่แล้ว ต้องรอจนกว่าจะมีนักการเมืองสักคนหรือสักกลุ่มที่กล้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา หรือต้องรอให้มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างที่บอกเสียก่อน ทำให้สังคมและทุกองค์กรเกย์ออกมาจับมือกัน ซึ่งถ้าถึงจุดนั้น ก็จะมีความเป็นไปได้สูง

                สังคมไทยมีคัลเจอร์ของความประนีประนอม อยู่กันแบบไทยๆ ง่ายๆ อย่างนี้ มันก็เลยทำให้เราไม่รู้สึกเดือดร้อนที่จะมีกฎหมายเหล่านี้ แต่คนที่เขาต้องการน่ะมี

                ฉะนั้นในแง่สิทธิมนุษยชน เราก็ควรช่วยเหลือเขา ไม่ควรจะปล่อยให้เขาต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

Facebook Comments Box