แพลนวันหยุดของคุณให้พร้อม เพราะอีก 2 วีคสุดพิเศษในเดือนกันยายนนี้ เราอยากชวน คนไทย ไปย้อนวันวานกับงานศิลป์ชั้นครูในบรรยากาศย้อนยุค ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเก่า และร่วมซึมซับมรดกแห่งภูมิปัญญาไทยไปกับกิจกรรมดีๆ ที่อยุธยาใน “SACICT เพลิน CRAFT” คราฟท์วันหยุดอยุธยา ให้คุณเพลินชมสาธิต เพลินคิดหัดทำ และร่วมเวิร์คช็อปกับศิลปินชั้นครูของเมืองไทย
SACICT เพลิน Craft-ประเดิมวีคแรกไปเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2-3 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยบรรยากาศย้อนยุคเข้ากับสถาปัตยกรรมอันมีเสน่ห์ในสมัยอยุธยาของ “วัดมหาธาตุ” โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 รูปแบบ ตั้งแต่การจัดแสดงเทคนิคเชิงช่างหาชมยากอย่างการ ‘ตอกหนังใหญ่’ อีกหนึ่งการแสดงมหรสพเก่าแก่ของไทยที่คล้ายคลึงกับการเล่นหนังตะลุงพื้นบ้านของภาคใต้ ตัวหนังใหญ่ทำจากหนังวัวนำมาฉลุเป็นลวดลายของตัวละครในรามเกียรติ์ โดยสถานที่จัดแสดงในสมัยก่อนนิยมใช้ผ้าขาวคาดเป็นจอ ด้านหลังจอจุดไต้และก่อไฟไว้ เพื่อสะท้อนเงาตัวหนังที่มีลวดลายวิจิตรมาติดอยู่ที่จอผ้าขาว ส่วนการเชิดนั้นคนเชิดต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรีและบทพากย์บทเจรจา จึงมีคำกล่าวที่ว่า โขนได้นำเอาการพากย์ เจรจา และท่าทางการเต้นการแสดงมาจากหนังใหญ่
ใกล้กันเป็นการสาธิต ‘เครื่องปั้น-เบญจรงค์’ ตามแบบฉบับของโบราณ โดยเบญรงค์นั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่มีการเขียนลวดลาย และลงยาให้สวยงามด้วยสีสันต่างๆ อันมีสีหลักทั้ง 5 ได้แก่ สีดำ ขาว เหลือง แดง และเขียว (คราม) ทั้งยังมีสีรองอย่างสีชมพู ม่วง น้ำตาล และแสด เพิ่มความงดงามแปลกตา เดิมเป็นเครื่องถ้วยที่สั่งทำพิเศษจากแผ่นดินใหญ่ โดยมีช่างไทยทำหน้าที่ให้ลาย ให้สี แล้วส่งไปให้ช่างชาวจีนผลิตขึ้นในประเทศจีน และมีช่างฝีมือของไทยเดินทางไปควบคุมการผลิต เพื่อให้เบญรงค์ออกมาได้รูปลักษณะงามตามแบบไทย โดยเฉพาะลวดลายสีสันอันแสดงเอกลักษณ์ไทยได้อย่างชัดเจน
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือการร่วมเวิร์คช็อป ‘จักสานใบตาล-ใบลาน’ โดยการทำเครื่องจักสานในประเทศไทยนั้นมีการสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการทำเครื่องจักสานในยุคหินใหม่ที่บริเวณถ้ำแห่งหนึ่งในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่เป็นลายขัดสองเส้นประมาณว่ามีอายุราว 4,000 ปีมาแล้ว โดยที่มาของชื่อ “จักสาน” เป็นการเรียกตามกระบวนการผลิตได้แก่
“การจัก” คือการนำวัสดุมาทำเป็นเส้นหรือริ้วเพื่อความสะดวกในการสาน ขึ้นอยู่กับวัสดุแต่ละชนิดที่นำมาผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ของคนสมัยโบราณที่ผูกพันกับวิถีเกษตรกรรม
“การสาน” เป็นการสานลวดลายจะสานลายให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอย แบ่งเป็นการสานด้วยวิธีสอดขัด การสานด้วยวิธีการสอดขัดด้วยเส้นทแยง และการสานด้วยวิธีขดเป็นวง
“การถัก” เป็นกระบวนการประกอบที่ช่วยให้การทำครื่องจักสานสมบูรณ์ เช่น การถักขอบหรือหูของภาชนะต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก และเพิ่มความสวยงามไปในตัว
SACICT เพลิน Craft ยังจัดกิจกรรมต่อเนื่องอีก 2 สัปดาห์ ได้แก่
วันที่ 9-10 ก.ย.นี้ ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์: ชวนคุณไปชม ‘งานปั้นปูนสด’ การแสดง และสาธิตการประดิษฐ์ ‘หุ่นกระบอก ศิราภรณ์หัวโขน’ และร่วมเวิร์คช็อป ‘ปั้นตุ๊กตาชาววัง’ อันงดงาม
วันที่ 16 – 17 ก.ย. นี้ ที่วัดไชยวัฒนาราม: ชวนคุณไปชมศิลปะ ‘ลายรดน้ำ’ สาธิต การ ‘แกะสลักช้างจิ๋ว’ และร่วมเวิร์คช็อป ‘ของเล่นโบราณ’ ที่หาชมยากในปัจจุบัน
พร้อมให้คุณและครอบครัวเข้าไปเพลินงานคราฟต์ และสัมผัสมรดก แห่งภูมิปัญญาบนพื้นที่ เมืองมรดกโลกได้ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น. โดยเวิร์คช็อปจะแบ่งเป็น 3 รอบ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 12.00 น. 13.00 – 14.00 น. และ 15.00 – 16.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ “SACICT” หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โทร. (035) 367-054 ต่อ 1362 หรือ Call Center: 1289 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.sacict.or.th และ facebook.com/sacict