Site icon Spotlight Daily

Revolutionized In Turkey สิ่งที่ตามมาหลังการปฏิวัติในตุรกี

เรื่อง: ขาว-ดำ

Revolutionized in Turkey-นับตั้งแต่การปฏิวัติของเฟตุลลาห์ กือเลนในเดือนกรกฎาคม 2016 ไม่ประสบผลสำเร็จ ภายใน 3 เดือนถัดมารัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอันได้สั่งปิดสื่อไปแล้ว 160 แห่ง จับกุมผู้คนกว่า 37,000 คน สั่งพักงานหรือปลดข้าราชการจำนวน 100,000 อัตรา ในจำนวนนั้นมีตั้งแต่ผู้พิพากษา ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไปจนถึงครูอาจารย์

ประธานาธิบดีแอร์โดอันประกาศขยายเวลากฎอัยการศึกออกไปอีกสามเดือน จนถึงเดือนมกราคมปีหน้า โดยอ้างเหตุผลว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังต้องใช้เวลาในการยุติความเคลื่อนไหวของกือเลนและชาวเคิร์ดที่เป็นปรปักษ์

กือเลน ซึ่งตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1999 ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการปฏิวัติครั้งนี้ ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 240 คน ในขณะที่รัฐบาลตุรกีเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งตัวแกนนำคณะปฏิวัติ

ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน วัย 62 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากว่าทศวรรษ ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งตุรกีเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2014

 

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรุนแรงตอบโต้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสร้างความกังวลให้กับประชาคมร่วมยุโรปไม่น้อย เนื่องจากเป็นนโยบายที่ขัดต่อมาตรฐานประชาธิปไตยตามข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนั้น ล่าสุดประธานาธิบดีแอร์โดอันยังประกาศด้วยว่า รัฐสภาของตุรกีจะนำโทษประหารกลับมาบัญญัติในกฎหมายของประเทศอีกครั้ง

ผู้นำตุรกีค่อนข้างมั่นใจว่า สมาชิกรัฐสภาจะเห็นชอบกฎหมายที่มีบทลงโทษสูงสุดขั้นประหารชีวิต แถมยังออกความเห็นต่อหน้าผู้สนับสนุนอีกว่า แม้ความปรารถนาของเขาจะขัดต่อกฎระเบียบของประชาคมร่วมยุโรปก็ตาม เขาก็ “ไม่สนใจ”

ประชาคมร่วมยุโรปส่งคำเตือนถึงผู้นำตุรกีหลายต่อหลายครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านๆ มาว่า การนำบทลงโทษขั้นประหารชีวิตกลับมาบัญญัติใช้ในกฎหมายอีกครั้งนั้น อาจหมายถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพที่ตุรกีเคยลงนามเข้าร่วมประชาคมร่วมยุโรปตั้งแต่ปี 2005 ทันที

Facebook Comments Box
Exit mobile version