เรื่อง : อูน

เด็กหนุ่มยุคใหม่ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยมีรายได้น้อยกว่าที่พ่อแม่เคยหาได้
นั่นเพราะงานส่วนใหญ่ของพวกเขาเป็นงานของผู้หญิง

                หนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียลคือเจเนอเรชั่นแรก ที่มีรายได้น้อยกว่าคนรุ่นพ่อแม่ โดยเฉพาะผู้ชาย ซึ่งจากรายงานกรณีศึกษาของอังกฤษ จัดคนกลุ่มนี้อยู่ในหมวดคนไร้น้ำยา เนื่องจากพวกเขาหันมาทำงานที่ให้ค่าจ้างตอบแทนต่ำ และเป็นงานที่ในอดีตผู้หญิงส่วนใหญ่ทำ

                หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประเทศอุตสาหกรรมในตะวันตกตั้งกฎเกณฑ์กันเองว่า จะเลี้ยงดูลูกหลานของตนให้ดีกว่าที่ตัวเองเคยผ่านมาในอดีต โดยความมั่นคงทางเศรษฐกิจช่วยให้ผู้คนเริ่มมีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทว่ายุคเฟื่องฟูนั้นหมดสิ้นแล้ว บทวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นไปของผู้คนแห่งยุคสมัย ที่คณะทำงานระดับมันสมองของอังกฤษ รายงานตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร…

                “ความเชื่อที่มีมายาวนานว่า คนทุกรุ่นทุกยุคจะต้องดีกว่าเก่านั้นกำลังจะสูญหายไป กลุ่มมิลเลนเนียลในยุคปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มแรกที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพน้อยกว่าคนรุ่นก่อน” ทอร์สเทน เบลล์ ผู้อำนวยการมูลนิธิ Resolution Foundation เปิดเผย หลายองค์กรของเบลล์เคยประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจในยุคเจเนอเรชั่น Y หรือกลุ่มคนที่ถือกำเนิดในช่วงปี 1981-2000 เมื่อเทียบกับยุคเจเนอเรชั่น X หรือกลุ่มคนที่ถือกำเนิดในช่วงปี 1966-1980

                 โดยเฉพาะเด็กหนุ่มๆ ของยุคสมัยมิลเลนเนียล ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนไร้น้ำยา ผิดกับหญิงสาวที่มีสถานะดีกว่า บทวิเคราะห์รายงานข้อมูลรายได้ของผู้ชายเจเนอเรชั่น Y อายุระหว่าง 22 ถึง 30 ปี ว่ามีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 12,500 ปอนด์ (ราว 550,000 บาท) ซึ่งน้อยกว่าคนในยุคก่อน ในขณะที่ผู้หญิงยุคมิลเลนเนียล แม้จะมีรายได้สูงกว่าผู้ชายในยุคสมัยเดียวกัน ทว่าก็ยังน้อยกว่าคนในยุคก่อนหน้าเช่นกัน

                เบลล์ยังรายงานถึงความตกต่ำด้านการเงินของผู้ชายยุคใหม่ มีสาเหตุหลักมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจ้างงานถดถอยและส่งผลกระทบโดยตรงถึงตลาดแรงงานผู้ชาย ทำให้พวกเขาต้องหันไปรับงานที่มีค่าแรงต่ำ ตามข้อมูลสถิติระบุเพิ่มเติมว่า งานค่าแรงต่ำของผู้ชายระหว่างปี 1993-2016 พุ่งสูงขึ้นถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ตรงข้ามกับผู้หญิงที่ยังคงยึดงานออฟฟิศเป็นที่ตั้ง และบางคนมีโอกาสเติบโตในสายงานตามความสามารถ

                เมื่อการจ้างงานถดถอย ผู้ชายหลายคนพากันเบนเข็มไปยังทิศทางอื่น เข้าสู่ตลาดแรงงานประเภทร้านค้าและร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมล้วนเป็นงานส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงทำ สถิติผู้ชายเข้าทำงานในร้านขายปลีกมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นนับแต่ปี 1993 จาก 85,000 คนเป็น 165,000 คน พนักงานในบาร์และร้านอาหารก็เพิ่มขึ้น จากต้นทศวรรษ’90 ที่มีบริกรหนุ่มอยู่เพียง 45,000 คน ปัจจุบันเพิ่มสูงถึง 130,000 คน

นอกจากนั้น สถิติคนหนุ่มช่วงวัยระหว่าง 22-25 ปีที่มีรายได้ต่ำยังมีชั่วโมงการทำงานลดลง งานประเภทดูแลร้าน บริการ และงานขาย กลายเป็นงานนอกเวลา และเพิ่มสูงนับตั้งแต่ปี 1993 ถึง 4 เท่า

Facebook Comments Box