เรื่อง : อูน
กลุ่มคนหนุ่มสาวพากันเดินประท้วงไปบนท้องถนน แล้วนางแบบ เคนดัลล์ เจนเนอร์ ก็เข้าไปร่วมขบวนกับเขาด้วย ในสปอตโฆษณาชิ้นใหม่ของเป๊ปซี่ดูคล้ายจะตอบสนองการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนรุ่นหนุ่มสาว แต่แล้วกลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงตอบรับ หรือเป็นเพราะไอเดียเกิดจากเหตุผลผิดๆ
เช เกวารา และคาร์ล มาร์กซ์ นั่งสนทนากันที่ระเบียง เชพูดว่า “ถึงเวลาของการปฏิวัติครั้งใหม่แล้ว” คาร์ลพูดตอบว่า “คราวนี้ต้องเป็นอะไรที่ประชาชนต้องการเสียที” ฉากหนึ่งในสปอตโฆษณา Dacia Logan ของค่ายรถยนต์เรโนลต์จากปี 2008 ไม่ใช่ตัวอย่างแรกที่สะท้อนให้เห็นว่า การนำเอาแรงบันดาลใจจากแนวความคิด Radical Chic มาใช้ในงานโฆษณาใช่ว่าจะเป็นแค่เรื่องสุ่มเสี่ยง หากยังเป็นหนึ่งในเรื่องของความกล้าด้วย
สปอตโฆษณาใหม่ของเป๊ปซี่ที่กำลังออนแอร์ในสหรัฐอเมริกาก็บ่งบอกถึงความกล้า ความเสี่ยงเช่นกัน ในสปอตใช้เพลง ‘Lions’ ของสคิป มาร์เลย์ ประกอบภาพการเคลื่อนไหวของขบวนประท้วงที่เดินไปบนถนน แต่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องเหตุผลของการประท้วง ผู้คนในขบวนเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และฝักใฝ่ใน “ความรักและสันติภาพ”
และแล้วนางแบบอย่างเคนดัลล์ เจนเนอร์ก็เข้าไปร่วมขบวนด้วย ทั้งที่เธอกำลังทำหน้าที่นางแบบ ถ่ายภาพแฟชั่นอยู่ เธอสวมวิกสีบลอนด์โพสท่าที่กรอบประตูบ้านริมถนน แต่เมื่อเห็นกลุ่มคนหนุ่มสาวเดินผ่านที่ถนนด้านหน้า เธอจึงแสดงท่าเลิกสนใจงานที่กำลังทำอยู่ เธอถอดวิกผม แล้วเดินเข้าร่วมกลุ่ม พอกันดีกับโลกแฟชั่นที่แปลกปลอม บัดนี้เธอค้นพบความงามในตัวเองอีกครั้ง แต่เดี๋ยวก่อน…อิสรภาพ เสรีภาพ มีประโยชน์อะไรกับเคนดัลล์ เจนเนอร์งั้นหรือ? ก่อนอื่นเธอหยิบกระป๋องเป๊ปซี่ขึ้นจากถังน้ำแข็ง
ครู่ต่อมาขบวนประท้วงก็มาประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐติดอาวุธ เคนดัลล์ เจนเนอร์ทำลายบรรยากาศเยียบเย็นนั้น ด้วยการหยิบยื่นเป๊ปซี่ในมือให้กับเจ้าหน้าที่ เขารับมันไว้และยกกระป๋องขึ้นดื่ม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความปรีดาของมวลชน และแฮปปี้ เอ็นดิ้ง
ควบคู่กันนั้นเป็นท่อนเพลงของสคิป หลานของบ๊อบ มาร์เลย์ ที่ว่า “We are the lions, we are the chosen, we gonna shine out the dark. /We are the movement, this generation. You better know who we are.”
ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมเป๊ปซี่ต้องโอบรับเสียงวิจารณ์จากโลกโซเซียลสำหรับสปอตโฆษณาชิ้นใหม่นี้ไปเต็มๆ ยูสเซอร์หลายคนโพสต์ภาพเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลใช้กำลังทำร้ายกลุ่มคนประท้วง พร้อมข้อความประชดประชัน “ถ้าคุณยื่นเป๊ปซี่ให้ตำรวจพวกนี้ละก็” หรือ “ได้โปรดเถอะเคนดัลล์ ให้เป๊ปซี่เขาหน่อย!”
ข้อวิพากษ์ล้วนมุ่งไปที่ประเด็นความเป็นจริง ซึ่งขัดแย้งกับภาพที่ปรากฏในสปอตโฆษณา คนทำอาจจะลืมไปว่า คนหนุ่มสาวต่างชาติพันธุ์และต่างวัฒนธรรม ไม่ว่าคนเอเชีย คนผิวดำ หรือผู้หญิงมุสลิมที่คัดเลือกมาแสดงนั้น ต่างเป็นกลุ่มคนแนวเดียวกัน เป็นคนหนุ่มสาว หน้าตาดี ส่วนคนแก่ รูปลักษณ์ไม่งดงามไม่ได้ถูกเลือกเข้ากลุ่ม ใครจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “Love, Peace & Pepsi” ได้ก็ต้องดูดีระดับนางแบบ-นายแบบ สอดคล้องกันกับประโยคหนึ่งของสคิป มาร์เลย์ที่ว่า “We are the chosen” – เราคือผู้ถูกเลือก
อีกข้อที่พลาดก็คือ การสร้างภาพมโนว่า ทุกอย่างในโลกจะดีและสวยงามเมื่อได้ดื่มน้ำอัดลมสักอึก
เครดิต: www.stern.de