Site icon Spotlight Daily

รัฐอาร์แคนซอส์เกณฑ์คนไปดูโทษประหาร ต้องการด่วน!

เรื่อง : อูน

แค่บทลงโทษประหารชีวิตยังไม่สยองเท่ากับเหตุผลของการเกณฑ์คนไปนั่งดูการประหารชีวิต

                รัฐอาร์แคนซอส์ของสหรัฐอเมริกากำลังต้องการอาสาสมัคร จำนวน 48 คน เปิดรับจนถึงกลางเดือนเมษายนนี้ ผู้เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติอะไรเป็นพิเศษ และไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพียงแค่ไปร่วม และนั่งดู

                นั่งดูการประหารนักโทษ จำนวนทั้งสิ้น 8 คน ภายใน 10 วันของเดือนเมษายน ที่รัฐอาร์แคนซอส์เตรียมการไว้ ซึ่งจะใช้วิธีประหารด้วยการฉีดยาพิษ

                สาเหตุที่ต้องเร่งดำเนินการประหารให้ทันตามกำหนด ก็เพราะว่ายาพิษที่ใช้สำหรับฉีดนักโทษ มีส่วนผสมของสาร Midazolam ซึ่งเป็นสารพิษตัวแรกที่ใช้ฉีดก่อนตัวอื่นอีก 2 เข็ม และสาร Midazolam ที่มีในคลังกำลังจะหมดอายุวันปลายเดือนเมษายนนี้ ทางรัฐจึงต้องรีบนำออกมาใช้ “ให้ทัน”

                และตามกฎหมายของรัฐอาร์แคนซอส์ ทางทัณฑสถานไม่สามารถดำเนินการประหารชีวิตนักโทษได้ โดยปราศจากการรู้เห็นเป็นพยานของผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีหรือนักโทษ

นักโทษชาย 8 คนนี้ กำลังจะเข้าห้องประหารภายในเดือนเมษายนนี้

                กฎหมายเกี่ยวกับ “พยานรู้เห็น” ระหว่างประหารชีวิตนักโทษ มีบัญญัติไว้ใน 7 รัฐของอเมริกา ระบุว่าจะต้องมีพยานที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 6 คนเข้าร่วม ทั้งหมดต้องอายุเกินกว่า 21 ปี และไม่เคยต้องโทษมาก่อน นอกจากนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่รู้จักมักคุ้นกับนักโทษหรือเหยื่อของนักโทษ (Arkansas Online)

                ไม่เพียงแต่โทษประหารเท่านั้น ที่เป็นประเด็นให้ถกเถียงกันว่าควรคงอยู่หรือไม่ หากวิธีการประหารชีวิตนักโทษ ยังเป็นอีกประเด็นที่ชวนถกเถียงกันหนักข้อ

                สาร Midazolam เป็นตัวยาทำให้นักโทษประหารมีอาการชา ซึ่งคณะแพทย์ต่างลงความเห็นเป็นหนึ่งเดียวว่า สารตัวนี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนไข้หมดสติ พวกเขาจะยังรู้สึกได้ระหว่างที่เข็มฉีดความตายเข้าสู่ร่างกาย

                การประหารชีวิตนักโทษครั้งสุดท้ายเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีกลาย นักโทษชาย โรนัลด์ เบิร์ต สมิธ จูเนียร์ ต้องทนกับอาการเหน็บชาและหายใจติดขัดอยู่นานถึง 13 นาที มือข้างซ้ายของเขากำหมัดแน่นก่อนจะเสียชีวิต กรณีนี้เป็นเหตุให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสาร Midazolam ขึ้นมา

                แม้แต่ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซอนยา โซโตเมเยอร์ ก็เคยแสดงความเห็นว่า นักโทษประหารยังต้องเจ็บปวดทรมาน “จนถึงทุกวันนี้ การฉีดยาพิษประหารนักโทษยังเป็นการทดลองที่เหี้ยมโหดของเราอยู่”  

Facebook Comments Box
Exit mobile version