เรื่อง : อูน
ICAN (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons) เป็นกลุ่มคนทำงานกลุ่มเล็กๆ ที่หน่วยงานกระทรวงกลาโหมของประเทศต่างๆ เท่านั้นที่มักคุ้น ปลายทางความฝันของคนทำงานกลุ่มนี้คือ โลกซึ่งปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
ความคิดฝันของก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในปี 2007 โดยนักเคลื่อนไหวหญิงชาวสวีดิชชื่อ เบอาทรีซ ฟิห์น ปัจจุบันวัย 34 ปี ร่วมกับทีมงานไม่กี่คน มีสำนักงานอยู่ที่เมืองเจนีวา และมีเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ จากทีมงานเล็กๆ เมื่อ 10 ปีก่อน ทุกวันนี้องค์กรของพวกเขากลายเป็ฯเครือข่ายขนาดใหญ่ มีนักกิจกรรมเข้าร่วมทั่วโลกนับพันคนแล้ว
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลในนอร์เวย์ประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2017 ให้เป็นของ Ican จากผลงานการรณรงค์และต่อสู้เพื่อให้อาวุธนิวเคลียร์หมดสิ้นไปจากโลกใบนี้
“เราช็อกเหมือนกันตอนที่ได้รับโทรศัพท์จากออสโล ยังคิดกันอยู่เลยว่าคงเป็นเรื่องตลก” เบอาทรีซ ฟิห์นบอก แต่เมื่อเป็นความจริง เธอและทีมงานรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณ
สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งลงนามและจัดการโดยสหรัฐอเมริกาและรัสเซียนั้น คงมีอยู่ก็จริง ทว่าประเทศมหาอำนาจเล็กๆ อย่างฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร จีน อิสราเอล อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือไม่เคยให้สัตยาบัน อีกทั้งการลดทอนอาวุธนิวเคลียร์ของ 2 ประเทศมหาอำนาจเองก็ชะงักงันมา 6 ปีแล้ว
ฤดูใบไม้ร่วงปี 2016 เบอาทรีซ ฟิห์นเคยให้สัมภาษณ์ในรายการทีวี “รัฐบาลของทุกประเทศต่างรู้ว่า การลด-เลิกผลิตอาวุธนิวเคลียร์จะดีต่อโลกแค่ไหน แต่พวกเขาไม่ทำ โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่”
และโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีคิมจองอุนของเกาหลีเหนือต่างข่มขู่จะยิงอาวุธนิวเคลียร์ใส่กัน รวมถึงปากีสถานและอินเดีย ที่ต่างก็ไม่ยอมลดราวาศอก
โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน แต่รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ยืนยันว่า มนุษยชาติยังสามารถฝันกันได้ต่อไป
เครดิต : Spiegel Online