เรื่อง : หมอมา
พ่อแม่หลายครอบครัวอาจกำลังเป็นกังวลอยู่ว่า ตอนนี้ลูกของตนเตี้ยกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือเปล่า หรือทำไมลูกยังไม่สูงเท่าเพื่อนๆ ในห้อง แต่ความกังวลใจนี้จะหมดไป เพียงแค่คุณเริ่มสังเกตและตรวจสอบ รวมถึงเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก ผ่านโปรแกรมตรวจฮอร์โมนเจริญเติบโตและช่วยหาทางออกร่วมกัน
รู้ไว้…อย่าปล่อยให้แป้ก
ปัญหาพื้นฐานที่มักพบกว่าร้อยละ 60 ที่เด็กเตี้ยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ หนึ่ง-มาจาก ‘พันธุกรรม’ พ่อแม่ไม่สูงก็ทำให้ลูกไม่สูงตามด้วย สอง-มาจากการผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย ‘ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน’ หรือ ‘ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต’ คือ 2 ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กไม่โตสมวัยได้
คนเป็นพ่อแม่สามารถสังเกตได้จากการเพิ่มความสูงของลูกในแต่ละปี ปกติแล้วเด็กทุกคนจะมีความสูงเพิ่มขึ้นโดยเริ่มจาก แรกเกิดจนถึง 1 ปีจะเพิ่มขึ้น 25 เซนติเมตร จากนั้น 1 ขวบจนถึง 2 ขวบ จะเพิ่มขึ้น 10-12 เซนติเมตร ต่อมาที่อายุ 2 ถึง 4 ปีจะเพิ่มขึ้นที่ 6-8 เซนติเมตร และอายุ 4 ถึง 10 ปีจะเพิ่มขึ้นที่ 5 เซนติเมตร เมื่ออยู่ในช่วงโตเต็มที่ผู้ชายจะมีความสูงมากกว่าผู้หญิงโดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 160-180 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ประมาณ 150-170 เซนติเมตร
หมัดเด็ด…โกรธฮอร์โมน
Growth Hormone คือฮอร์โมนเจริญเติบโต ที่ถูกผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่ให้เด็กมีการเจริญเติบโตปกติตามวัย ถ้าเกิดความผิดปกติที่ต่อมใต้สมอง ก็จะทำให้กระทบต่อการผลิต Growth Hormone และนำมาซึ่งการเติบโตที่ช้าและตัวเตี้ย พ่อแม่หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ อาจเริ่มกังวลแล้วว่าลูกไม่สูงสักที มีปัญหาอะไรหรือเปล่า วิธีที่จะตรวจดูคือ หนึ่ง-ตรวจดูอายุกระดูก และ/หรือ เจาะเลือดเบื้องต้นดูว่าขาดสารอาหารหรือไม่ สอง-เจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ และฮอร์โมนการเจริญเติบโต
หากพึ่งการเยียวยาทางการแพทย์ สามารถทำได้โดยการฉีดฮอร์โมนเติบโตเข้าสู่ร่างกาย โดยฉีดฮอร์โมนเข้าไปใต้ผิวหนัง การฉีดฮอร์โมนในคนไข้ที่มีระดับภาวะฮอร์โมนเจริญเติบโตที่ต่ำมากๆ จะได้ผลดีทำให้เด็กมีความสูงเพิ่มขึ้น
‘กิน เล่น พัก’ พ่อแม่ลูกท่องไว้…ไม่มีแป้ก
ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย หมั่นเติมอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วงส่งเสริมการผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโต พ่อแม่ต้องกระตุ้นลูกๆ ของตนง่ายๆ ดังต่อไปนี้
กินเป็นกิน พ่อแม่ต้องส่งเสริมอาหารที่ดีให้ลูก อาหารที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโต และกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ดีคือ เนื้อสัตว์ และนมจืด เป็นต้น
เล่นเป็นเล่น พ่อแม่ต้องกระตุ้นให้ลูกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายให้เหงื่อไหล ไม่ว่าจะเป็น จักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือแบดมินตัน
นอนเป็นนอน งานวิจัยจากต่างประเทศ Washington University School of Medicine เผยว่า ระยะเวลาของการนอนหลับมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโต ฉะนั้นเด็กในวัยเจริญเติบโตไม่ควรนอนดึกจนเกินไป
หากต้องการเพิ่มความมั่นใจและปรึกษาปัญหาเรื่องพัฒนาการเจริญเติบโต สัดส่วนความสูงของลูก พ่อแม่ควรตรวจเช็คเรื่องพัฒนาการกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ลูกเจริญเติบโตอย่างสมวัย และแข็งแรง
ข้อมูลจาก : แพทย์หญิงนวลผ่อง เหรียญมณี กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคต่อมไร้ท่อ เบาหวานและการเจริญเติบโตสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2