เรื่อง: บาบูน ลูนนี่
เกิดเป็นกระแสร้อนที่สร้างแรงกระเพื่อมให้หนุ่มๆ ลุกขึ้นมาคำรามเบาๆ ในโลกโซเชียลฯ เหตุเพราะการปรากฏตัวของซูเปอร์ฮีโร่คนใหม่ของค่าย Warner Bros และ DC Entertainment เป็นผู้หญิงที่ทั้งสวย สมาร์ต ปราดเปรียว และมีดีกรีระดับนางงาม เรียกว่านาทีนี้เป็นช่วงเวลาแจ้งเกิดเจิดจรัสสำหรับคุณแม่“Wonder Woman” โดยแท้ แต่ก็ไม่วายที่เธอจะต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากผู้ชายบางคน ที่คิดว่าตำแหน่งซูเปอร์ฮีโร่คู่ควรกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ดราม่าเรื่องแรกที่แม่สาวมหัศจรรย์ต้องประสบ มาจากการกระทุ้งแรงๆ ของเว็บไซต์ชื่อดัง Uproxx ที่ออกมาจิกกัดค่ายหนังเบาๆ (แต่ทรงพลานุภาพอย่างมาก) ด้วยการแซวว่า “Wonder Woman แสนอาภัพเพราะช่องยูทูบที่เป็นทางการของค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ปล่อยคลิปวิดีโอของเธอแค่สามคลิปเท่านั้น เมื่อเทียบกับ ‘Justice League’ ที่มีวิดีโอมากถึง 6 คลิป”
งานนี้ร้อนถึงค่ายหนังที่ต้องเร่งตัดต่อและปล่อยคลิปวิดีโออีก 2-3 คลิปออกมาในเร็ววัน เพื่อไม่ให้กระแสดราม่าลุกลามเป็นกองเพลิง แถมยังโดนเปรียบเทียบด้านการตลาดกับ ‘Suicide Squad’ ที่เพียงหนึ่งเดือนก่อนหน้าการเปิดตัวหนังเรื่องนี้ ค่ายหนังก็ทุ่มทุนปล่อยคลิปวิดีโอถล่มทลายถึง 30 วิดีโอ ไม่นับรวมแรงโปรโมตผ่านสปอตทีวี และแคมเปญพิเศษสำหรับบัตรชมภาพยนตร์อีกด้วย
ดราม่าเรื่องต่อมาคือ การที่ค่ายหนังดันจับคู่สินค้า tie-in เพื่อโปรโมตแม่สาวจอมพลังกับ ‘Think Thin’ อาหารควบคุมน้ำหนักสำหรับผู้หญิงที่อยากมีรูปร่างเพรียวบางอย่างเธอกันบ้าง ถึงกับมีคำล้อเลียนออกมาว่า “Wonder Woman ขายไดเอ็ตบาร์” พ่วงด้วยโปรโมชั่น ซื้อแท่งโปรตีนบาร์สูตรเข้มข้นราคา 15 ดอลล่าร์ รับส่วนลด 5 ดอลล่าร์เมื่อนำไปแลกซื้อบัตรชมภาพยนตร์ ขณะที่มือดีนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าโปรโมตหนังเรื่อง ‘Batman V Superman’ และ ‘Suicide Squad’ ที่มีซีเรียล รถยนต์ไครสเลอร์ นาฬิกา แบตเตอรี่ เตอร์กิชแอร์ไลน์ส โดริโตส Amazon Echo และ VR ของค่าย Samsung เป็นสปอนเซอร์ทำให้เกิดกระแสโจมตีเรื่องความเท่าเทียมทาง ‘เพศ’ เข้ามามีบทบาทต่อการตลาดของค่ายหนังทันที
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา UN แต่งตั้งให้วันเดอร์ วูแมน เป็นทูตพิเศษเพื่อสะท้อนถึงอำนาจและความแข็งแกร่งในแบบของผู้หญิง ด้วยคะแนนโหวตท่วมท้นจากพนักงานหญิงของ UN ตามด้วยการประท้วงของผู้ชมนุมกลุ่มหนึ่งในพิธีเฉลิมฉลองของมหานครนิวยอร์ก ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า “การได้รับตำแหน่งนี้อาจเป็นการย่ำยีคาแรกเตอร์ และล้อเลียนเรื่องเพศของตัวละครในการ์ตูน มากกว่าการให้อำนาจจริงกับผู้หญิงเสียอีก” สองเดือนจากนั้น UN ก็ค่อยๆ ลดบทบาทของแม่สาวจอมพลังไปโดยปริยาย
ความร้อนแรงในโลกโซเชี่ยลฯ ยังไม่หยุดแค่นั้น เมื่อโรงภาพยนตร์ชื่อดัง Alamo Drafthouse โพสต์ลงในทวิตเตอร์ถึงการตัดสินใจจัดฉายภาพยนตร์สำหรับผู้หญิงในทุกสัปดาห์ หลังการเข้าฉายของ Wonder Woman ส่งผลให้เกิดการโต้เถียงอย่างหนักหน่วงจากคอหนังผู้ชาย ที่ออกมาตอบโต้แทบจะทันทีว่าเข้าข่ายกีดกันทางเพศ ซึ่งโรงภาพยนตร์ก็ตอบรับด้วยการเพิ่มรอบฉายภาพยนตร์สำหรับผู้หญิงอีก 4 เรื่อง และบัตรก็ขายหมดในเวลารวดเร็วเช่นกัน
เท่านั้นยังไม่พอ ล่าสุดรัฐบาลเลบานอนประกาศแบน Wonder Woman ไม่ให้เข้าฉายในประเทศเป็นที่เรียบร้อย ด้วยเหตุเพราะกัล กาด็อต-นักแสดงนำสาวชาวอิสราเอล เคยเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในฐานะคอหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ ประเด็นดราม่าเหล่านี้อาจมีไว้เพื่อประกอบการดูหรือไม่มีผลใดๆ เลยด้วยซ้ำเพราะพวกเขารู้ดีว่า หัวใจของหนังซูเปอร์ฮีโร่คือสร้างความสนุกสนานไปกับเรื่องราวแฟนตาซีในโลกภาพยนตร์ โดยนักวิจารณ์หลายสำนักยกให้หนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องนี้เป็นหนังน่าดูแห่งปี “อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวข้ามอาณาจักรของหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เราคุ้นเคย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเชื่อมโยงและอ้างอิงกับตัวละครอื่นๆ มากเกินไป” ท่อนหนึ่งของบทวิจารณ์ใน The Hollywood Reporter
สำหรับกัล กาด็อต กระแสดราม่าทั้งหลายทำให้เธอเข้มแข็งและทุ่มเทให้กับการสวมบทบาทของซูเปอร์ฮีโร่สาวมากขึ้น เพราะเป็นเวลาถึง 76 ปีกว่าที่ภาพวันเดอร์ วูแมนในหนังสือการ์ตูนจะกลายเป็นฮีโร่สาวโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ และครั้งนี้เธอก็มาแบบสวยเต็มสตรีม เพราะมีมงกุฎนางงามอิสราเอลปี 2004 การันตีอีกต่างหาก
“วันเดอร์ วูแมน เป็นซูเปอร์ฮีโร่หญิงที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับซูเปอร์ฮีโร่ผู้ชายได้อย่างสมศักดิ์ศรี ในฐานะนักแสดงที่ได้รับบทบาทสำคัญนี้ ฉันต้องทำให้ดูแข็งแกร่งเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ยังคงความเป็นเฟมินีน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนโยน ความอบอุ่น ความอดทน ความรัก และความเมตตา ทั้งหมดนั้นหลอมรวมเป็นความเข้มแข็งในแบบของผู้หญิง ที่แม้แต่ผู้ชายเองก็ยอมรับ”
มองข้ามเรื่องดราม่าทั้งหลายและข้อถกเถียงเรื่องเพศของซูเปอร์ฮีโร่ แล้วมาลุ้นกันดีกว่าว่า ซูเปอร์ฮีโร่หญิงคนแรกของค่ายหนังยักษ์ใหญ่จะทำรายได้เบียดแซงโจรสลัดได้หรือไม่