เรื่อง : หมอมา
“ออฟฟิศ ซินโดรม” โรคฮิตที่มักพบบ่อยในคนวัยทำงานออฟฟิศ ที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม หรือสภาพการทำงานที่ต้องรีบเร่ง รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันไม่ถูกสุขลักษณะ ตั้งแต่การอดอาหาร อดหลับอดนอน ทำให้ร่างกายต้องแบกรับความเครียด การใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายๆ ชั่วโมง นั่ง ยืน เดินไม่ถูกท่า หรืออยู่ในท่าซ้ำๆ เดิมๆ ต่อเนื่องนานเกินไป จนปวดคอ บ่า ไหล่ เมื่อยล้าหลัง ขา เท้า ข้อมือ ข้อเข่า หรือปวดศีรษะ และหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะออฟฟิศ ซินโดรม ซึ่งในระยะยาวอาจก่อให้เกิดอาการเรื้อรังและโรคอื่นๆ ตามมาได้
สัญญาณเตือนภัย
ออฟฟิศ ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการทำงาน และการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม ศ.นพ.ธไนนิธย์ โชตนภูติ แพทย์หัวหน้าสถาบัน และแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คนไข้ในกลุ่มออฟฟิศ ซินโดรมสามารถจำแนกได้ 3 ระดับ ดังนี้
ระยะเริ่มต้น : จะแสดงอาการเล็กๆ น้อยๆ จนคนมองข้ามไป เช่น อาการปวดบ่า ปวดคอ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ฯลฯ
ระยะต่อมา : ปวดจนแทบขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณเตือนของอาการกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง เช่น อาการยกแขนไม่ขึ้น เนื่องจากมีพังผืดเกาะที่บริเวณสะบักและหัวไหล่ บางรายอาจมีอาการชาที่มือหรือนิ้ว
ระยะหนักหน่วง : หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการปรับพฤติกรรมหรือรักษา อาจนำไปสู่โรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิตได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
ปรับพฤติกรรมชีวิต ก่อนออฟฟิศ ซินโดรมถามหา
การปรับพฤติกรรมถือเป็นแนวทางการป้องกันอย่างหนึ่ง ถ้าปฏิบัติกันได้ ก็สามารถถอยห่างจากโรคไม่พึงปรารถนาสำหรับการทำงาน มีด้วยกัน 7 ข้อง่ายๆ ทำได้แน่นอน
1-“เลิก”อิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสม ทั้งการนั่งหลังค่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ มากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือการยืน เดิน และอยู่ในอิริยาบถอื่นใดนานเกินไป
2-“ลด”ปัญหาความเครียด เพราะความเครียดนำมาซึ่งอาการยึดตึงของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อทุกส่วนได้
3-“ละ”จากสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวยความสะดวกต่อการทำงาน โต๊ะทำงานที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่สะดวกต่อการหยิบสิ่งของ เก้าอี้ไม่เหมาะสม ไม่มีพนักพิงที่รองรับแผ่นหลังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการกดแป้นคีย์บอร์ดที่ไม่มีตัวรองรับข้อมือ จะทำให้มีการกระดกข้อมือขึ้นลงซ้ำๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณเส้นเอ็น รวมทั้งเกิดภาวะพังผืดหนา ทำให้เกิดอาการชาบริเวณนิ้ว และข้อมือ
4-“ดูแล”อาหารการกินให้ตรงมื้อ และครบคุณค่าทางโภชนาการ การรับประทานน้อยเกินไป การอด หรือรับประทานไม่ตรงเวลา ย่อมทำให้เกิดปัญหาโรคอื่นๆ ตามมา รวมถึงการรับประทานที่มากเกินไป รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ก็เช่นกัน
5-“หลีกเลี่ยง”เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะสารชนิดนี้มีผลกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดออกมามาก
6-“ส่งเสริม”สภาพแวดล้อมอื่นๆ จัดโต๊ะ เก้าอี้ทำงาน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะกับอิริยาบถประจำวัน ทำห้องทุกห้องในบ้านและที่ทำงานให้ปลอดโปร่ง สะดวกต่อการยืน เดิน และหยิบจับสิ่งของ ทั้งยังสร้างความผ่อนคลาย
7-“เพิ่มเติม”การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 30 นาที
เพียงเท่านี้ “ออฟฟิศ ซินโดรม” ก็จะทิ้งระยะห่างออกไปได้
Tips จาก “มิกกี้” นนท์ อัลภาชน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมสมรรถภาพร่างกายเพื่อการกีฬา ให้คำแนะนำสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย 2 ท่า เพื่อการยืดเส้นยืดสายในออฟฟิศแบบง่ายๆ ทำได้แน่นอน-เช่นกัน
ท่าแรก Squat Mobility
หนึ่ง-ยืนขากว้างประมาณหัวไหล่
สอง-ขาตรง ก้มลงไปจับปลายเท้า ท่อนแขนอยู่ด้านในของขา
สาม-นั่งยองลงไป
สี่-ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แล้วยืนขึ้น
ท่าที่สอง Push up Shoulder Mobility
หนึ่ง-เริ่มท่ามาตรฐานแบบวิดพื้น บนพื้น กำแพง หรือโต๊ะทำงาน
สอง-ย่อแขนและลำตัวลง ให้ข้อศอกกางออก
สาม-ดันตัวเองกลับมาแขนตรง กดศีรษะลง
สี่-กลับมาที่ท่าเริ่มต้น
แนวทางการรักษาโรคออฟฟิศ ซินโดรม
เมื่อใช้ชีวิตพลาด แน่นอนว่าชีวิตจะต้องเปลี่ยน แต่ทว่าก็ยังมีแนวทางเยียวยารักษา ผศ.นพ.จิระเดช ตุงคะเศรณี แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อประจำคลินิกนวัตกรรมระงับปวด โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“การวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา เริ่มต้นโดยทีมแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุของโรคก่อน เพื่อคืนสภาพของกระดูกและข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทสู่สภาวะปกติ และเป็นการป้องกันไม่ให้กลับมาเกิดอาการปวดอีก
“ส่วนแนวทางการรักษาแบบไม่ผ่าตัดนั้นมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ยกตัวอย่างเช่น การใช้พลาสมา ซึ่งมาจากเลือดของคนไข้ ผ่านกระบวนการพิเศษในการแยกพลาสมาจากน้ำเลือดของเรา เพื่อนำมาซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ หรือการฉีดยาระงับการปวดการอักเสบ การใช้คลื่นความถี่พิเศษไปหยุดยั้งความเจ็บปวดของเส้นประสาท ซึ่งเหมาะสำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ในบางกรณีแพทย์อาจต้องให้มีการทำกายภาพบำบัด หรือการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย”
เครดิต : ข้อมูลจากการเสวนาสุขภาพ “ห่างไกลโรคฮิต ออฟฟิศ ซินโดรม” โดย คลินิกนวัตกรรมระงับปวด สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2