เรื่อง : หมอมา
อุบัติเหตุ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดหรือคาดเดาได้ล่วงหน้า มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้ในที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด เช่น ในบ้าน จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายสำคัญ ในขณะเดียวกัน การลื่นล้มของผู้สูงอายุสามารถนำไปสู่สภาพ “พิการ-เสียชีวิต” ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่รองจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
ดังนั้นเราจึงควรมีสติและความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อรักษาชีวิตและลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด คำแนะนำ “3 ข้อ” เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์จาก นพ.ชัยโรจน์ เอื้อไพโรจน์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์ทางมือ และจุลศัลยกรรม สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อการรับมืออย่างถูกวิธีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- อุบัติเหตุที่มีเลือดออกมาก ควรห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซจำนวนมาก ปิดบาดแผลและกดให้แน่น
- หากมีอวัยวะฉีกขาด ต้องทำอย่างไร?
– กรณีที่อวัยวะขาดออกจากตัว ให้รีบนำอวัยวะนั้นใส่ถุงพลาสติกสะอาด รัดปากถุงให้แน่น แล้วใส่ในน้ำที่มีน้ำแข็งอยู่ด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 4 องศาเซลเซียส ห้ามนำอวัยวะที่ถูกตัดขาดไปสัมผัสน้ำแข็งโดยตรง เพราจะทำให้เซลล์ตาย กรณีอวัยวะขนาดใหญ่ขาด เช่น มือ แขน หรือขา เนื้อเยื่อจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 6 ชั่วโมง ส่วนนิ้วขาด เนื้อเยื่อจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 12 ชั่วโมง
– กรณีที่ยังมีเนื้อเยื่อติดอยู่กับตัวผู้ป่วย ให้ห้ามเลือดและประคองส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้มั่นคงที่สุด ไม่ให้ถูกดึงรั้งไปมา จากนั้นรีบติดต่อโรงพยาบาลที่มีศูนย์อุบัติเหตุและต่ออวัยวะแบบครบวงจร เพื่อลดเวลาที่อาจจะเสียไปจากการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล - กรณีผู้สูงอายุล้มในบ้าน ควรปฐมพยาบาลอย่างไร?
– ควรประเมินผู้สูงอายุหลังจากหกล้ม ว่ารู้สึกตัวขณะล้มหรือไม่ และสามารถลุกขึ้นเดินได้หรือไม่ หากผู้สูงอายุล้มขณะรู้สึกตัว สามารถลุกขึ้นเดินได้ปกติ อาการปวดทุเลาในเวลาไม่นาน และมีบาดแผลฟกช้ำ ควรรีบปฐมพยาบาล ถ้าเป็นบาดแผลฟกช้ำ บวมแดง ให้ล้างบริเวณบาดแผลด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นให้ใช้น้ำแข็งประคบในวันแรก ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดจะหยุดไหล อาการบวมจะลดลง หลังจาก 24 ชั่วโมงผ่านไปแล้ว ให้ใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณบาดแผล ความร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว อาการช้ำจะลดน้อยลง ถ้าเป็นบาดแผลถลอก ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และทายาใส่แผลสด ถ้ามีอาการรุนแรงมากควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
– หากผู้สูงอายุล้มและไม่รู้สึกตัว มีอาการเวียนศีรษะขณะล้ม มีบาดแผล เดินไม่เป็นปกติ ควรรีบนำผู้สูงอายุส่งโรงพยาบาลทันที
อุบัติเหตุ ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดเดากันได้ล่วงหน้า แต่หากเกิดขึ้นแล้ว “สติ” และ “การรับมืออย่างถูกวิธี” จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้เหมือนกัน
เครดิต : สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2