เรื่อง : นนทพัฒน์

               เรื่องนี้เขียนขึ้นจาก ความสงสัยในรากเหง้า จากคนฟังสู่คนเล่า…

 

               มิวเซียมสยาม ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นนำประจำยุคสมัยใหม่ของประเทศไทย เพราะวางตัวเองเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ (Museum Siam: Discovery Museum) ภายใต้การกำกับของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ซึ่งเน้นสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการเช้าชมพิพิธภัณฑ์ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และกิจกรรมสร้างสรรค์ เล่าเรื่องผ่านตัวละคร 7 ตัว ระลึกชาติภพอดีตในยุคต่างๆ เติมความรื่นรมย์ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่างๆ ให้สนุกสนาน ไม่เงียบเหงา แน่นิ่ง ชวนง่วงนอนเหมือนไปทำรายงานในที่อื่นๆ โดยมีองค์ประกอบการจัดแสดงแบ่งเป็น นิทรรศการถาวร นิทรรศการหมุนเวียน และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งหมดอยู่ในคอนเส็ปต์ “เพลย์+เลิร์น = เพลิน”

               ในที่นี้ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงนิทรรศการถาวรเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นนิทรรศการตายตัวที่บอกเล่าเรื่องราวของถิ่นที่อยู่ของเรา โดยขยายขอบเขตที่มา ความเข้าใจ อิทธิพล และองค์ประกอบ ทั้งในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชีย และดินแดนสุวรรณภูมิ ก่อนมาเป็นสยามประเทศตามเส้นเวลา อารยธรรม สิ่งก่อสร้าง ตลอดจนวิถีชีวิตในด้านต่างๆ

                แม้จะเปิดบริการให้เข้าชมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 แต่ที่นี่มีมนต์เสน่ห์หลายประการที่ทำให้ข้าพเจ้าแวะไปเยือนทุกๆ ปี ปีละสอง-สามหน บางหนมีโอกาสพาญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวร่วมชมด้วย เพราะหมายใจว่าความรู้ ข้อเท็จจริง และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ คัดกรอง และสร้างสรรค์การนำเสนอมาอย่างดีแล้วนั้น เป็นประโยชน์แก่คนทุกเพศ ทุกวัย และไม่จำกัดการเรียนรู้แค่คนในแวดวงวิชาการ และนิสิตนักศึกษา

                ณ อาคารกระทรวงพาณิชย์เดิมที่ตั้งมิวเซียมสยามเป็นอาคาร 3 ชั้น มีห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งหมด 17 ห้อง ภายใต้หัวข้อ “เรียงความประเทศไทย” นิทรรศการถาวรชมเพลินยิ่งนัก เพราะสิ่งละอันพันละน้อย คติธรรมโบราณ ความเชื่อ ทั้งพุทธ พราหมณ์ ผี การรบพุ่ง การงานอาชีพ และการวิวัฒน์ในทุกแขนงซึ่งหลอมรวมมาเป็นสยามประเทศ และตัวตนของเราวันนี้ มีห้องแต่งตัวเล่นถ่ายรูปในยุคสมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ห้า มีการละเล่นและของเล่นท้องถิ่นชนบทไทยเดิม มีมัลติมิเดียครบครันทั้งแสง-สี-เสียง-ภาพ และวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อต่อประสาทการรับรู้ทุกส่วนของเรา แต่ประการสำคัญคือ คอนเท็นต์ที่ข้าพเจ้าว่าเพียบพร้อม ครบครันแล้วนั้น กลับขาดหายไปสิ่งหนึ่ง

                ไม่แน่ใจว่าฝ่ายวิชาการหรือคณะทำงานด้านสารที่จะสื่อและเผยแพร่นั้นได้คัดกรองมาอย่างดีแล้ว เหมาะสมแล้วอย่างไร แต่ผู้ใหญ่ในครอบครัวข้าพเจ้าท้วงขึ้นระหว่างจิบกาแฟหลังเดินชมการจัดแสดงครบถ้วนแล้ว “ลูกสังเกตไหมว่า ไม่มีสิ่งใดที่นี่ที่แสดงให้เห็นสถาบันพระมหากษัตรย์ อืมม์…ทำไมเขาถึงไม่ได้จัดแสดงอะไรเหล่านี้ด้วยนะ” คำท้วงติงของญาติผู้ใหญ่ในคราวนั้นถึงกับทำให้ข้าพเจ้าต้องสะอึก และคิดทบทวนว่า จริงแฮะ มาก็หลายหน ไม่ได้ทันสังเกตเลยว่า “ไม่มี” ได้แต่นึกตั้งคำถามในใจทวนซ้ำไปมาว่า “การหล่อหลอมผู้คน บ้านเมือง วิถีชีวิต จากหลากหลายอาณาจักร รวมประเทศไทยเป็นหนึ่ง ทุกภาพเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์นั้น ก็ล้วนมีสถาบันกษัตรย์เป็นศูนย์กลางเสมอ ไม่ใช่หรือ”

 

 

                 ยิ่งมีความเป็นห่วงมากขึ้นเมื่อทราบว่าที่นี่กำลังเดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของไทย ภายใต้แคมเปญ ‘Muse All Year: ฉลาดคิดพิพิธเพลิน’ ซึ่งพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติตั้งแต่ก้าวแรกที่ขึ้นมาจากจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานี “สนามไชย” (ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปีนี้) พร้อมนำความเป็นไทยทุกแง่มุมมาอวดโลก

                สารที่เผยแพร่ไปแล้ว และกำลังจะถูกเผยแพร่ต่อไปยังคนนับล้านนั้น ครบถ้วนบริบูรณ์ดีแล้ว หรือยังขาดแหว่งไม่สมประกอบ น่าจะลองทบทวนกันอีกครั้งไหม

Facebook Comments Box