ห้างแว่นท็อปเจริญ ร่วมกับ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทยสานต่อ “โครงการแว่นตาเพื่อน้อง” ปี 4
เชิญชวนชาวไทยร่วมส่งมอบความสุขคูณสองให้กับเยาวชนที่มีปัญหาด้านสายตาทั่วประเทศ
ห้างแว่นท็อปเจริญ ร่วมกับ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย สานต่อ “โครงการแว่นตาเพื่อน้อง” ปี4 สนองพระราชประสงค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการอำนวยการมูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่เยาวชนที่มีปัญหาด้านสายตาในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ให้มีสุขภาพตาที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมลงพื้นที่ตรวจสุขภาพดวงตาและประกอบแว่นใหม่ โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญพร้อมเครื่องมืออันทันสมัย ตลอดระยะเวลา 10 ปีเต็ม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2566 โดยในปีนี้มีไฮไลท์พิเศษอยู่ที่กิจกรรมส่งมอบความสุขแบบคูณสอง ที่มอบทั้งแว่นสายตาและของขวัญสุดพิเศษเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติให้กับน้องๆ พร้อมเชิญชวนจิตอาสาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนในโครงการ โดยมีศิลปินดาราที่ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงาน อาทิ มาริโอ้ เมาเร่อ กบ-สุวนันท์และน้องณดา-ปุณณดา ปุณณกันต์ พร้อมด้วยเหล่าเซเลบริตี้อีกคับคั่ง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายนพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ กรรมการผู้จัดการห้างแว่นท็อปเจริญ กล่าวว่า “เนื่องด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการอำนวยการมูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ทรงห่วงใยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยในพื้นที่อันห่างไกล รวมถึงทรงเล็งเห็นความสำคัญของการได้รับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนอันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ห้างแว่นท็อปเจริญและมูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย จึงขอมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนที่มีปัญหาทางด้านสายตาในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศภายใต้ “โครงการแว่นตาเพื่อน้อง” โดยในปีนี้นับเป็นการสานต่อการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน”
“นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการฯ ในปี พ.ศ.2557 โครงการฯ ได้ออกหน่วยบริการ ตรวจสุขภาพดวงตา ตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นใหม่ ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมืออันทันสมัยโดยผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการ เพื่อมอบแว่นสายตาให้แก่เยาวชนเป็นประจำ เดือนละ 1 ครั้ง โดยมีจำนวนเยาวชนที่เข้ารับบริการเฉลี่ยครั้งละ 500 คนขึ้นไป โดยหากพบเยาวชนที่มีปัญหาโรคตาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแว่น ทางโครงการฯ จะส่งตัวผู้ป่วยเหล่านั้นเข้ารับการรักษาต่อที่ ‘ศูนย์รักษาตาท็อปเจริญ’ โดยไม่คิดค่าบริการรักษาแต่อย่างใด ซึ่งในขณะนี้ โครงการฯ ได้ส่งต่อความช่วยเหลือแล้วรวมกว่า 15,000 ราย โดยภายในปี พ.ศ.2566 โครงการฯ ตั้งเป้าจะส่งต่อความช่วยเหลือให้กับเยาวชนครอบคลุมทั่วประเทศเพิ่มเป็น 35,000 ราย ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้” นายนพศักดิ์ กล่าว
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงนวลจันทร์ ปราบพาล กรรมการอำนวยการและเลขาธิการ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย กล่าวว่า “ในปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสายตาของเยาวชนในยุคดิจิตอล ในฐานะที่มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูเด็กหรือผู้เยาว์ที่เป็นเด็กกำพร้า รวมทั้งให้การศึกษา การฝึกวิชาชีพ และการดูแลด้านสุขภาพร่างกายของเด็กให้สมบูรณ์แข็งแรง เราจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพดวงตาและการมองเห็นของเด็กไทยเป็นอย่างมาก ประจวบเหมาะกับความตั้งใจของห้างแว่นท็อปเจริญที่อาสาให้การสนับสนุนและจัดตั้งโครงการแว่นตาเพื่อน้องขึ้น เพื่อร่วมกันเดินหน้าสานต่อการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดานที่มีปัญหาสายตาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่โครงการฯ จะเดินหน้าสานต่อกิจกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 10 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2566 จึงทำให้โครงการสามารถช่วยเหลือเด็กๆ ได้จำนวนมากขึ้น และเป็นผลทำให้โครงการได้เพิ่มคุณภาพชีวิตและช่วยสร้างอนาคตที่ดีของชาติได้มากขึ้นด้วย”
นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์รักษาตาท็อปเจริญ กล่าวเสริมว่า “ปัญหาทางด้านสายตาที่พบมากที่สุดในเด็กไทยที่มีอายุระหว่าง 5 – 18 ปี คือ ปัญหาสายตาสั้นเทียม โรคตาขี้เกียจ และโรคตาเข/ตาเหล่ โดยปัญหาสายตาสั้นเทียมมักพบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากในยุคนี้เราใช้การมองระยะใกล้กันมากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์มือถือ ทั้งจอเล็กและจ้องดูใกล้ ที่สำคัญเพ่งจ้องดูกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน ไม่ละสายตา รวมถึงจ้องดูในบริเวณที่มีแสงน้อยๆ ดังนั้นดวงตาจึงต้องใช้กล้ามเนื้อเพ่ง ต้องทำงานเกร็งตลอดเวลา ทำให้ไม่คลายตัว อีกปัญหาเรื่องโรคตาขี้เกียจ มีมักพบในเด็กเล็กช่วงวัยเตรียมเข้าโรงเรียน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการจ้องมองสิ่งของรอบตัวของเด็ก อาจลองปิดตาเด็กที่ละข้างแล้วตรวจดูว่าการมองเห็นใกล้เคียงกันไหม ถ้าพบลักษณะผิดปกติดังกล่าวอาจต้องพาลูกไปพบจักษุแพทย์ โรคตาขี้เกียจนี้มีผลทำให้ การพัฒนาซีกสมองส่วนการมองเห็นไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมองเห็นภาพข้างนั้นไม่ชัดเจน นานวันสมองซีกนั้นจะหยุดการพัฒนาการมองเห็น และเป็นผลทำให้ความสามารถในการมองเห็นสิ้นสุดลงจนอาจเป็นตาเขในระยะยาว
และสุดท้ายคือโรคตาเข/ตาเหล่ ซึ่งเป็นอาการของการรวมภาพของดวงตาทั้งสองข้างไม่ดี โดยมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ ปัญหาสายตา อุบัติเหตุที่ตาหรือโรคทางสมอง รวมทั้งพฤติกรรมของตัวเด็กเอง อาทิ การชอบนอนอ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลทำให้เด็กกลุ่มนี้กะระยะได้ไม่ดี และเมื่อเติบโตขึ้นอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ไม่มั่นใจและมักขี้อาย โรคตาเขในบางครั้งอาจเป็นตลอดเวลาหรือบางครั้งอาจเป็นแบบซ้อนเร้น ซึ่งอาจปรากฎในช่วงที่อ่อนเพลีย ส่วนการตรวจรักษาโดยจักษุแพทย์จะตรวจวินิฉัยว่าเด็กเป็นโรคตาเขประเภทใด กล้ามเนื้อกลอกตามัดไหนมีปัญหา มุมเขมากน้อยเท่าไร และมีปัญหาสายตาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ส่วนใหญ่จักษุแพทย์จะรักษาต้นเหตุของตาเขก่อน และสุดท้ายจักษุแพทย์จะผ่าตัดกล้ามเนื้อตาเพื่อให้ตาตรงต่อไป”
“เพราะการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ฉะนั้นจึงขอฝากถึงเยาวชนไทยทุกคนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สายตาอย่างเหมาะสม ถึงแม้ว่าโลกในยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมาก มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่การใช้สายตาจับจ้องมากเกินไปก็อาจจะเกิดโทษได้” นายแพทย์นพวุฒิ กล่าว
ภายในกิจกรรมสานต่อโครงการแว่นตาเพื่อน้องในปีนี้ มีไฮไลท์พิเศษอยู่ที่กิจกรรมส่งมอบความสุขแบบคูณสองที่มอบทั้งแว่นสายตาและของขวัญสุดพิเศษเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติให้กับน้องๆ ในพื้นที่ห่างไกล พร้อมเชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนในโครงการ พร้อมเขียนคำอวยพรเพื่อส่งให้กับน้องๆ โดยมีศิลปินดาราที่ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงาน อาทิ มาริโอ้ เมาเร่อ กบ-สุวนันท์และน้องณดา-ปุณณดา ปุณณกันต์ พร้อมด้วยเหล่าเซเลบริตี้อีกคับคั่ง นอกจากนี้สำหรับประชาชนทั่วประเทศ ทางโครงการฯ ยังขอเชิญชวนร่วมกิจกรรมส่งความสุข ด้วยการกดแชร์วีดีโอ “Double Happiness”1 การแชร์มีค่าเท่ากับ 1 ความสุขแบบคูณ 2 ของน้องๆ ในFacebook.com/TopCharoenOpticalOfficial ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook.com/TopCharoenOpticalOfficial หรือเว็บไซต์ www.topcharoen.co.th หรือโทร. 02–612–4710