เรื่อง: Ape Art ภาพ: The Game I Viet Nam
แม้คนทั่วโลกจะเคยรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเวียดนามหรือ ‘American War’ จากภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาแล้วมากมายเช่น‘Heaven & Earth’ ‘Platoon’ และ‘Good Morning, Vietnam’ แต่สำหรับผลงานศิลปะที่ตีแผ่ชีวิตหลังสงครามของชาวเวียดนามนั้นกลับตรงกันข้าม หลังการต่อสู้อันยืดเยื้อระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ถึง 21 ปี (พ.ศ. 2497-2518) ศิลปินฝาแฝดแห่งเมืองเว้ได้ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์งานศิลปะจากความทรงจำ และถ่ายทอดออกมาในแง่มุมแห่งวัยเยาว์ภายใต้ชื่อ ‘The Game I Viet Nam’
เล หง็อก ตาน (Le Ngoc Thanh) และเล ดึก ฮาย (Le Duc Hai) ศิลปินฝาแฝดชาวเวียดนามมีชื่อในวงการศิลปะว่า ‘LE Brothers’ พวกเขาเกิดวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2518 ที่เมืองกวางบินห์ ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม 27 วันก่อนที่เวียดนามเหนือและใต้จะรวมเข้าด้วยกัน (30เมษายน 2518) ชีวิตในวัยเด็กของทั้งคู่จึงเติบโตขึ้นท่ามกลางบาดแผลของสงคราม พร้อมกับความทรงจำอันเจ็บปวดและความยากลำบากในการใช้ชีวิตภายใต้นโยบายรัฐอันเข้มงวด ก่อนจะได้รับการผ่อนปรนลงบ้างจากแผนปฏิรูปประเทศที่ชื่อ ‘โด่ย เหม่ย’ (พ.ศ. 2523-2532)
แรกทีเดียวสองพี่น้องเลือกประกอบอาชีพวาดภาพศิลปะขายในเมืองเว้ ถึงอย่างนั้นทั้งคู่กลับรู้สึกว่าผลงานในช่วงแรกๆ ของพวกเขายังไม่ถือเป็นงานศิลปะ เล ดึก ฮาย มองว่า “มันเป็นเพียงแค่การวาดรูปลงสีสวยๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพเท่านั้น” เช่นนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจหยุดพักการวาดภาพในปี พ.ศ. 2548 สามปีจากนั้นทั้งคู่ก็เริ่มต้นเส้นทางการเป็นศิลปินด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย ผ่านผลงานที่มีชื่อว่า ‘Numbers Project’ (พ.ศ.2554) โดยเล่นกับตัวเลข ‘1945’
“ตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเดินหน้าบนเส้นทางสายศิลปะร่วมสมัย พวกเราตกลงกันว่าจะนำเสนอผลงานภายใต้ชื่อ ‘พี่น้องเล’ เสมือนเราเป็นคนคนเดียวกัน ผลงานของเรากินใจความทั้งจิตรกรรม ศิลปะในการจัดวางศิลปะการแสดงสด และวิดีโอ เพราะเรามีสุนทรียะและความสนใจร่วมกัน ในการสำรวจตรวจตราและตั้งคำถามถึงการตระหนักรู้ในยุคหลังสงคราม” เล หง็อก ตานกล่าว
ผลงานศิลปะของสองพี่น้องตระกูลเลไม่เพียงนำเสนอผ่านรูปภาพ หากยังนำวิดีโออาร์ตเข้ามาผสมผสานเกิดเป็นเสน่ห์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นตะวันออก ความเชื่อ และศรัทธา ที่ผูกพันเชื่อมโยงความเป็นชาวเอเชียเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศ‘เวียดนาม’ ที่สะท้อนความกล้าหาญในการนำเสนอผลงานที่ท้าทาย แนวคิดทางสังคมและการเมืองในการพัฒนาประเทศ เพราะทั้งคู่เติบโตมาท่ามกลางความคิดที่แตกแยกของผู้คน และตั้งตนเป็นกลางระหว่างอัตลักษณ์ที่แบ่งแยกเวียดนามเหนือและใต้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานหลายโปรเจ็กต์ของพวกเขายังสะท้อนความเป็นคอมมิวนิสต์ ด้วยการเล่นกับ ‘สีแดง’ อันเป็นสีที่พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ อาทิ ผลงานภาพวาดสีน้ำมันชุด ‘Before 1986’ ผลงานวิดีโอ 3 Channel Video ชุด ‘Red Project’ รวมถึงผลงาน 5 Channel Video ชุด ‘The Bridge III’ (นำไปจัดแสดงที่สถาบันเกอเธ่ เมืองฮานอย เวียดนาม) ที่ใช้เวลาในการสร้างสรรค์กว่าสิบปี กับการเดินทางไปยังสามประเทศที่เคยมีบาดแผลแห่งความทรงจำ จากการถูกแบ่งแยกดินแดนเช่นเดียวกัน ได้แก่ เวียดนาม เกาหลีใต้ และเยอรมนี หากแต่ทั้งคู่เลือกที่จะนำเสนอในเชิงสร้างสรรค์ และด้านที่ยังไม่ได้ถูกทำลายลงด้วยเพลิงแห่งสงคราม
นอกจากสร้างสรรค์งานศิลปะแล้ว LE Brothers ยังก่อตั้งมูลนิธิ New Space Arts ขึ้นในปี พ.ศ.2551 เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่นและศิลปินนานาชาติ รวมถึงเป็นที่พำนักแห่งแรกให้ศิลปินที่เดินทางมาเมืองเว้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
หากแต่ผลงานชุดที่เรากำลังจะพูดถึงเนื่องด้วยนำมาจัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน คือผลงานที่โลเรดานาปาส์สินี-ปาราซ์ซานิ (Loredana Pazzini-Paracciani) ภัณฑารักษ์ศิลปะชาวอิตาเลียนที่ประจำอยู่ในกรุงลอนดอน นักเขียน และผู้บรรยายด้านศิลปะร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้คัดสรรผลงานและจัดรูปแบบการนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านนิทรรศการสื่อผสม ‘The Game I Viet Nam by LE Brothers’
แทนที่จะนำภาพความทรงจำอันเจ็บปวด บาดแผลแห่งสงครามความตาย และความยากลำบากของชีวิตหลังสงครามที่เคยหลอกหลอนวัยเด็กของพวกเขามานำเสนอ ทั้งคู่กลับเลือกที่จะนำความทรงจำและเรื่องราวทั้งหมดที่พวกเขาซึมซับมานำเสนอในรูปแบบที่แตกต่าง ด้วยการย้อนกลับไปสู่ตัวตนอันบริสุทธิ์และไร้เดียงสา จะมีอะไรที่สะท้อนความเป็นเด็กได้ดีกว่าเกมสนุกๆ และจิตนาการของเด็กน้อย หากแต่การละเล่นในวัยเด็กของพวกเขาคือการแสวงหาวัสดุต่างๆ มาจินตนาการเป็นอาวุธ วิ่งเล่นต่อสู้กับสงครามที่พวกเขาไม่เคยพบผ่าน พวกเขายังจำลองเหตุการณ์แวดล้อมกระทั่งเติบโตมากับการต่อสู้ของตนและผองเพื่อน เพื่อความเป็นเอกภาพในแบบฉบับของตนเอง
‘The Game I Viet Nam by LE Brothers’ นำเสนอผ่านนิทรรศการสื่อผสมที่ประกอบด้วย วิดีโออาร์ต 24 ช่อง ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า ‘The Game’ แทนช่วงเวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน วิดีโอทั้งหมดนำเสนอภาพพี่น้องตระกูลเลระหว่างตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ของเมืองเว้ ภายใต้เครื่องแบบทหารที่ผสมผสานเครื่องแบบทหารเวียดนามเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์ และเครื่องแบบทหารของเวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโลกตะวันตก มาดีไซน์เข้าด้วยกัน ภายใต้เครื่องแบบนั้นพวกเขามีรอยยิ้มแห่งความสุข และความภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดผลงานวิดีโออาร์ตชุดนี้สู่สายตาของคนทั่วโลก
เล ดึก ฮายมองว่า “เมืองเว้เป็นเสมือนศูนย์กลางในจักรวาลชีวิตของพวกเรา และเป็นหนึ่งในเมืองที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตที่สุดในโลก ถึงแม้ตอนนี้เรายังไม่ได้จัดแสดง The Game ในเวียดนามก็จริง ทว่าประเทศของเรากำลังพัฒนา ดังนั้นการเติบโตและความเปลี่ยนแปลงของการเสพสุนทรีย์จากศิลปะร่วมสมัยย่อมเกิดขึ้นในอนาคต”
โลเรดานายังเลือกภาพถ่ายที่บันทึกพัฒนาการของผลงานและเครื่องใช้ทางการทหาร เช่น งานศิลปะจากปืนไรเฟิลมาจัดแสดงเพื่อสะกดสายตาผู้ชม ให้รับรู้ถึงอานุภาพของปืน AR-15 จากอเมริกาและปืน AK-17 จากสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ยังนำเสนอเครื่องเขินขัดเงาที่แสนงดงาม อันเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ของพี่น้องเล สื่อถึงงานวิจิตรศิลป์แบบดั้งเดิมของเวียดนาม ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือเอกสารที่บันทึกเรื่องราวหลังสงคราม อย่างแผนที่ภูมิศาสตร์ ภาพโปสเตอร์ หนังสือ และนวนิยายเกี่ยวกับความทรงจำและจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย ภาพถ่ายขาว–ดำจากเพื่อนๆ และญาติของทั้งคู่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวเวียดนามในห้วงเวลาที่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมเผด็จการ
หากแต่สิ่งที่เราสัมผัสได้จากนิทรรศการในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงความทรงจำของสองพี่น้องฝาแฝดจากเมืองกวางบินห์ ที่เติบโตเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับสากลดังเช่นปัจจุบัน ไม่เพียงเพลิงแห่งสงครามที่ครั้งหนึ่งเคยเผาทำลายความสุขในชีวิตของพลเมืองเวียดนามอย่างไม่ปราณี หากแต่เป็นตัวตนที่สะท้อนผ่านผลงานชุดนี้ว่า ชีวิตหลังเงามืดแห่งสงครามขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะเรียนรู้จากความเจ็บปวด และถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์
โดยไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงามืดเสมอไป
The Game I Viet Nam by LE Brothers จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 – 19 กุมภาพันธ์ 2560 ตั้งแต่เวลา 9.00-20.00 น. (ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม) สอบถามข้อมูลได้ที่หอศิลป์ฯ โทร. (02) 612-6741 หรือ www.jimthompsonartcenter.org