เรื่อง : นนทพัฒน์

              “มนุษย์มีเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะแบ่งเวลาอย่างไร และใช้มันไปกับอะไร” ประโยคนี้คงจะตรงกับชีวิตของ ดร.หนึ่ง-พงศ์ธร ธาราไชย หนุ่มนักธุรกิจวัย 44 ปี ดีกรีด็อกเตอร์จากคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

              เห็นยังหนุ่มยังแน่นอย่างนี้ แต่เขาก็ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ Project Planning Service (PPS) ที่มีชื่อเสียงด้านธุรกิจวิศวกร ผลงานแรกของบริษัทคือ ‘โรงแรมแกรนด์ไชน่า’ ย่านเยาวราช ทั้งยังได้รับงานสร้างรถไฟฟ้า MRT และล่าสุดกำลังประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทมีรายได้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าให้บริษัทเติบโตขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ซึ่งจะส่งผลให้ปี 2565 บริษัทจะมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท

              “ผมเป็นวิศวกรอยู่หน้างานมาตลอด จนกระทั่งปี 2555 ที่บริษัทเราจะต้องจดทะเบียนเข้าในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะล่มสลายไปตามสภาพเศรษฐกิจ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานสายบริหาร เริ่มจากฝ่ายการเงินและฝ่ายบุคคล และกลยุทธ์ จากนั้นก็มาถึงตำแหน่ง CEO ครับ”

              แน่นอนว่าการเป็นผู้บริหารย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความผิดพลาด ซึ่ง ดร.หนึ่งได้เปิดใจถึงบทเรียนที่เคยผิดพลาดในอดีตว่า “ตอนอายุสามสิบ ผมคิดว่าตัวเองเก่ง ก็เลยมั่นใจและกล้าที่จะเสี่ยง และไม่ค่อยเคารพผู้ใหญ่ บทเรียนที่ผมได้รับคือผมสูญเสียเงินลงทุนไปเกือบหมด เพราะผมไม่ได้ปิดช่องโหว่ของความเสี่ยง แล้วยังต้องเสียความสัมพันธ์กับเครือข่ายของผมไปอีกด้วย

             “ผมจึงได้เรียนรู้จากความผิดพลาดว่าเราไม่ได้เก่งที่สุด เวลาทำอะไรพลาดแล้วจะกลับขึ้นมายาก ผมต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้ดี เพราะทุกคนในสังคมรู้จักกันหมด และไม่รู้ว่าจะได้เจอใครเมื่อไหร่ จึงควรจะสุภาพ ซื่อสัตย์ เคารพตัวเองและผู้อื่น”

             อีกบทเรียนหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ การขยายกิจการผ่านการร่วมงานกับหุ้นส่วนอื่นๆ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้เขาแทบไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะไม่ได้คัดคนที่จะเข้ามาร่วมทุนให้ดี “ผมจึงหันมาลงทุนและพัฒนาจากภายในของเราเอง” ดร.หนึ่งบอก “จากนี้ไปถ้าเราจะร่วมทุนกับใครต้องมั่นใจว่า เราสามารถกำหนดทิศทางได้ และไม่ถูกเอาเปรียบ”

             ถึงแม้ว่างานธุรกิจจะรัดตัวแค่ไหน แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพของตัวเอง ดร.หนึ่งจัดเป็นคนที่มี Work-Life Balance บริหารจัดการเวลาชีวิตให้สมดุลได้อย่างดีเยี่ยม เขาเล่าว่า “ชีวิตของผม ทุกนาทีเป็นเวลาที่สามารถทำงานได้ ดังนั้นผมจึงผสมผสานชีวิตเข้ากับการทำงาน แม้กระทั่งตอนที่ไปเที่ยว ผมก็ยังไปเที่ยวแบบทริปธุรกิจ อีกอย่างส่วนตัวผมเป็นคนชอบออกกำลังกายครับ โดยเฉพาะการวิ่ง จึงเป็นกิจกรรมที่ผมสามารถทำได้ทุกวัน บ้านผมอยู่ใกล้สนามกีฬาด้วย พอไปวิ่งเสร็จ กลับบ้านมาก็อาบน้ำแล้วไปทำงานได้เลย

              “หรือเวลาไปทริปธุรกิจแล้วเจอกิจกรรมการแข่งวิ่ง ผมก็จะลงสมัคร นอกจากจะได้ไปทำงานแล้ว ยังได้ออกกำลังกาย แถมยังได้วิ่งชมเมืองอีกด้วย อย่างงานวิ่งในประเทศไทย ผมไปงานลากูน่าภูเก็ตมาแล้วหกครั้ง ไปติดกันทุกปี ถึงแม้ว่าสนามนี้ผมจะทำเวลาไม่ดีเลย เพราะสนามเป็นภูเขา แล้วก็อากาศร้อนชื้น แต่ผมก็แฮปปี้นะ เพราะได้พบปะกับเพื่อนๆ

              “ส่วนที่ต่างประเทศ ผมไปงานวิ่งที่เกียวโตมาแล้วสามครั้ง เพราะผมเรียนจบจากที่นั่น เป็นงานวิ่งที่บรรยากาศดีมากครับ เกียวโตเป็นเมืองมรดกโลก เราได้วิ่งท่ามกลางอากาศเย็นๆ ข้างแม่น้ำกาโม ได้เห็นภูเขาที่สำคัญทั้งห้าแห่งของเกียวโตอีกด้วย”

              แต่ในมุมมองของ ดร.หนึ่ง การวิ่งไม่ใช่เพื่อการออกกำลังกายหรือท่องเที่ยวเท่านั้น วิศวกรหนุ่มคนนี้ยังได้บูรณการเข้ากับการทำงาน เรื่องนี้เขาให้มุมมองที่น่าสนใจว่า

              “การวิ่งกับชีวิตของคนเราคล้ายกันตรงที่มันไม่ได้เป็นการแข่งความเร็ว แต่เป็นการแข่งความสม่ำเสมอและความอดทน แม้ว่าเราจะเดินด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นเพื่อนกันได้ บางจังหวะก็ร่วมทางกันบ้าง บางจังหวะก็แยกกัน สุดท้ายแล้วคนที่มีจุดหมายเดียวกันก็จะอยู่บนเส้นทางเดียวกันไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่ต้องการเดินไปคนละทางก็จะเลิกราแยกย้ายกันไป”­­­­­­­­­­­

              นั่นคือเรื่องราวชีวิต การทำงาน และการดูแลสุขภาพของวิศวกรหนุ่มคนนี้ ซึ่งเขาสามารถสร้างสมดุลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ดร.หนึ่งยังได้ทิ้งท้ายว่า “­­­­­­­­­สำหรับคนที่ยังลังเลว่าจะเริ่มออกกำลังกายดีไหม ผมก็อยากแนะนำว่า ถ้าคิดหรือตัดสินใจว่าจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำเลย ตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ และทำไปเรื่อยๆ ทำทุกวันมันก็จะติดเป็นนิสัย ซึ่งนอกจากเราจะได้สุขภาพที่ดีแล้ว ยังได้ฝึกในเรื่องของวินัยและเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย”

               และอีกครั้งที่เขาย้ำ “มนุษย์มีเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะแบ่งเวลาอย่างไร และใช้มันไปกับอะไร”

Facebook Comments Box