เรื่อง : หมอมา
เราไม่อาจทราบได้ชัด 100 เปอร์เซ็นต์ว่า วันหนึ่งคนใกล้ชิดหรือตัวเราจะพบเจอกับมะเร็งหรือไม่ เมื่อไหร่ และอย่างไร
รายงานจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เปิดเผยรายงานประจำปีฉบับล่าสุด ระบุว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 18.1 ล้านคนทั่วโลกภายในช่วงสิ้นปี 2018 และจะทำให้มียอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงถึง 9.6 ล้านคนก่อนสิ้นปีนี้เช่นกัน
ตัวเลขดังกล่าวนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสถิติของปี 2012 ที่มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 14.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 8.2 ล้านคน ซึ่งนักวิจัยคาดว่า แนวโน้มนี้มีสาเหตุมาจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะอัตราผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยก็พุ่งสูงขึ้น
ทำอย่างนี้…อนาคตอาจได้สวัสดี ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’
ตามหลักการและกรณีศึกษามาอย่างยาวนาน พบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคส่วนใหญ่มีพฤติกรรมดังนี้:
- ชอบรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง
- รับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ
- บริโภคเนื้อแดง (ที่อาจมีสารเคมีเจือปน)
- รับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ
- รับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง (ไหม้เกรียม)
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์พวกผัก ผลไม้น้อย
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ขาดจากการออกกำลังกาย
- มีประวัติหรือคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็ง
- มีปัญหาระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้อักเสบ ท้องผูกเรื้อรัง ภาวะลำไส้แปรปรวน
ประชากรในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคคล้ายชาวตะวันตก หากไม่มีนโยบายคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ราว 20,000 ราย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลจาก: ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM