เรื่อง : อูน

                นิตยสาร Global Finance ทำการสำรวจเพื่อจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยคำนวณจาก GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แล้วนำมาคำนวณมูลค่าเป็น PPP-Dollar อีกที PPP ย่อมาจาก Purchasing Power Parity และเป็นสกุลเงินสมมติ แทนค่ากำลังซื้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขในการเปรียบเทียบ
                จากผลการสำรวจ พบว่า ประเทศติดอันดับร่ำรวยที่สุดในโลกลำดับต้นๆ เป็นเพียงประเทศเล็กๆ แต่มีทรัพย์สินครอบครองจำนวนมาก และน้ำมันยังคงครองโลกในระดับหนึ่ง
                นี่คือ 30 อันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คำนวณจากรายได้ต่อประชากรเป็นเงิน PPP ดอลลาร์…

อันดับที่ 30 – ญี่ปุ่น 38,893 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมเทคโนโลยี เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์

อันดับที่ 29 – ฟินแลนด์ 41,812 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก ไม้ กระดาษ และเคมีภัณฑ์

อันดับที่ 28 – ฝรั่งเศส 42,384 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบิน และรถยนต์

อันดับที่ 27 – สหราชอาณาจักร 42,513 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมบริการทั่วไป

อันดับที่ 26 – โอมาน 43,737 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก น้ำมัน และการท่องเที่ยว

อันดับที่ 25 – เบลเยียม 44,881 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมบริการ และเวชภัณฑ์

อันดับที่ 24 – แคนาดา 46,239 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก น้ำมัน วัตถุดิบ และอุตสาหกรรมการบิน

อันดับที่ 23 – เดนมาร์ก 46,602 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมการต่อเรือ

อันดับที่ 22 – ไต้หวัน 47,790 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมเทคโนโลยี เครื่องจักรกล และปิโตรเคมี

อันดับที่ 21 – ออสเตรีย 47,856 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยว และเครื่องจักรกล

อันดับที่ 20 – ไอซ์แลนด์ 48,070 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก การประมง และอุตสาหกรรมอลูมิเนียม

อันดับที่ 19 – เยอรมนี 48,189 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมรถยนต์ เทคนิคไฟฟ้า และเครื่องจักรกล

อันดับที่ 18 – ออสเตรเลีย 48,806 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก วัตถุดิบต่างๆ

อันดับที่ 17 – สวีเดน 49,678 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก ไม้ กระดาษ อุตสาหกรรมแปรรูป และไบโอเทคนิค

อันดับที่ 16 – บาห์เรน 50,302 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก น้ำมัน และอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน

อันดับที่ 15 – เนเธอร์แลนด์ส 50,846 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน

อันดับที่ 14 – ซาอุดิอาระเบีย 54,078 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก น้ำมัน

อันดับที่ 13 – สหรัฐอเมริกา 57,293 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก อุตสาหกรรมบริการ

อันดับที่ 12 – ฮ่องกง 58,094 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก การเงินการธนาคาร และอุตสาหกรรมบริการ

อันดับที่ 11 – สวิตเซอร์แลนด์ 59,375 ดอลลาร์
รายได้หลักมาจาก เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และการธนาคาร

อันดับที่ 10 – ซาน มาริโน 64,443 ดอลลาร์

                ซาน มาริโน นับเป็นประเทศสาธารณรัฐที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีอาณาเขตในห้อมล้อมของอิตาลี และประกาศเป็นประเทศเอกราชตั้งแต่ปี ค.ศ.301 ปัจจุบันมีประชากรราว 30,000 คน เป็นประเทศเล็กๆ ที่เปรียบเสมือนโอเอซิสสำหรับนักหลบเลี่ยงภาษี รายได้หลักนอกเหนือจากการเงินการธนาคารแล้ว มากกว่าครึ่งของรายได้ประเทศทั้งหมดมาจากการท่องเที่ยวอีกด้วย

อันดับที่ 9 – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 67,696 ดอลลาร์

                ประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาหรับ อยู่ภายใต้การปกครองโดย 7 ราชวงศ์ ซึ่งมีกรุงอาบู ดาบีเป็นเมืองศูนย์กลางของการปกครอง และนครดูไบที่มีชื่อเสียงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศขึ้นได้จากน้ำมันล้วนๆ

อันดับที่ 8 – นอร์เวย์ 69,296 ดอลลาร์

                เศรษฐกิจของนอร์เวย์เข้มแข็งขึ้นมาได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ อีกทั้งยังมีรายได้จากวัตถุดิบต่างๆ สมทบเข้ากองคลัง ซึ่งพร้อมนำออกไปลงทุนในต่างประเทศ พร้อมๆ กันนั้น รายได้จากการประมง และอุตสาหกรรมไม้แปรรูปยังเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่คอยเกื้อกูลเศรษฐกิจของประเทศ

อันดับที่ 7 – ไอร์แลนด์ 69,374 ดอลลาร์

                การที่ประเทศไอร์แลนด์โผล่เข้ามาในรายชื่อประเทศร่ำรวยลำดับต้นๆ ได้ดูคล้ายเป็นการเล่นกลเล็กน้อย เพราะเกาะสีเขียวแห่งนี้เปิดเสรีให้กับบรรดาบริษัทใหญ่ๆ ของอเมริกา อาทิ แอปเปิล ไมโครซอฟต์ และเฟซบุ๊กเข้าไปตั้งฐานทั้งในและรอบกรุงดับลินเพื่อลดอัตราภาษี ส่งผลให้ค่าจีดีพีของประเทศสูงขึ้น แม้ว่ามูลค่าในความเป็นจริงจะไม่เป็นตามตัวเลขก็ตาม อย่างไรก็ดี ไอร์แลนด์มีรายได้หลักและค่อนข้างมากจากการส่งออกเคมีภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์

อันดับที่ 6 – คูเวต 71,263 ดอลลาร์

                คูเวตจัดเป็นประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันที่สุดของโลก มีการประเมินกันว่า ปริมาณน้ำมันในประเทศสามารถโอบอุ้มคูเวตไปได้อีกนานถึง 90 ปี รายได้จากน้ำมัน 10 เปอร์เซ็นต์รัฐบาลคูเวตจัดสรรไว้เป็นเงินกองคลัง แต่ปัจจุบันเงินส่วนนั้นกำลังถูกเจ้าผู้ครองรัฐดึงออกมาใช้ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำ ไม่สมดุลกับงบประมาณรายจ่ายของประเทศ

อันดับที่ 5 – บรูไน 79,710 ดอลลาร์

                บรูไนเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรากฏในสื่อน้อยมาก แต่ก็ร่ำรวยมาก มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้จีดีพีสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประชากรชนชั้นบนส่วนหนึ่งจากจำนวน 4 แสนคนได้ผลประโยชน์จากตรงนั้น และทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นในบรูไนขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ อีกเรื่องที่น่าสนใจสำหรับประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับต้นอย่างบรูไน นั่นคือ อัตราการว่างงานของที่นี่สูงอย่างเหลือเชื่อ

อันดับที่ 4 – สิงคโปร์ 87,082 ดอลลาร์

                สิงคโปร์แทบไม่มีน้ำมันของตนเอง แต่กลับเป็นประเทศส่งออกน้ำมันลำดับต้นของโลก นอกเหนือจากรายได้หลักจากเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมการต่อเรือ มีท่าเรือขนาดใหญ่ และล่าสุดแหล่งรายได้สำคัญยังมาจากไบโอเทคนิค สิงคโปร์ได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาการค้าเสรีหลายด้านในกิจการส่งออก

อันดับที่ 3 – มาเก๊า 96,147 ดอลลาร์

                มาเก๊าคือลาส เวกัสแห่งตะวันออก เป็นเขตการปกครองพิเศษของจีนที่ก่อนถึงปี 1999 ยังเป็นเขตอาณานิคมของโปรตุเกส มีรายได้หลักจากบ่อนการพนันและการท่องเที่ยว บนพื้นที่ขนาดเล็กมีประชากรอาศัยอยู่ราว 6.5 แสนคน นับเป็นสัดส่วนที่หนาแน่นกว่าเมืองใหญ่หลายๆ เมืองในโลก

อันดับที่ 2 –  ลักเซมเบิร์ก 101,936 ดอลลาร์

                ลักเซมเบิร์กนับเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของทวีปยุโรป เมื่อคำนวณเทียบกับจำนวนประชากร และเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับสองของอียู รองจากมอลตา มีจำนวนประชากรเกือบ 6 แสนคน มีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมบริการทางการเงินของบรรดาธนาคาร ประกัน และกองทุนที่พากันมาตั้งสำนักงาน ปัจจุบันรัฐบาลของลักเซมเบิร์กพยายามขยายช่องทางรายได้ของประเทศจากไบโอเทคนิค ด้านสุขภาพ การคมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรมไอที

อันดับที่ 1 – กาตาร์ 129,726 ดอลลาร์

                กาตาร์ยังครองอันดับหนึ่งของประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยรายได้มหาศาลจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวเปอร์เซียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน แม้จะต้องแบ่งสันปันส่วนกับอิหร่าน 66 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีกาตาร์ได้จากวัตถุดิบต่างๆ นอกจากนั้นยังมีรายได้จากอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (กาตาร์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Deutsche Bank) โครงสร้างการพัฒนาเมือง และการคมนาคมขนส่ง

ที่มาข้อมูลสำรวจจากเดือนตุลาคม 2016 โดย International Monetary Fund, World Economic Outlook Database และ Global Finance Magazine

Facebook Comments Box