เรื่องและภาพ : ขาว-ดำ

                นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่พลิกผันตัวเองมาเป็นศิลปินในวงการ เก้ง-เขมวัฒน์ เริงธรรม ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

                เริ่มจากความสนใจด้านดนตรีที่มีมาตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ ต้น เป็นแรงจูงใจให้เขาเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง CU Band นอกจากนั้นยังเคยมีประสบการณ์จากการประกวดร้องเพลง ทั้งกับรายการ ‘เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว’ และ ‘เอเอฟ แฟนเตเซีย’ แม้ไม่ประสบความสำเร็จในครั้งนั้น แต่หลังจากเรียนจบการศึกษาออกมาแล้ว เขาก็ยังยึดมั่นกับการร้องเพลง กระทั่งมาสมหวังกับการประกวดเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของวงเครสเซนโด กับโครงการ ‘เดอะ เน็กซ์ เครสเซนโด’

                “แต่หลังจากเข้าเป็นสมาชิกวงเครสเซนโดได้ปีกว่าๆ เราก็ตัดสินใจออกจากค่ายวี เรคคอร์ดส์” เก้ง-เขมวัฒน์เล่าย้อนหลัง “สาเหตุที่เราตัดสินใจออกจากค่าย เพราะว่าตอนนั้นแกรมมี่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในกัน แล้วค่ายที่เราอยู่เหมือนโดนปรับเปลี่ยนด้วย เราไม่รู้ว่าต่อไปวงเครสเซนโดจะไปอยู่ตรงไหนของแกรมมี่ เราก็เลยตัดสินใจกันว่า ถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะต้องไปอยู่กับใคร เราน่าจะออกไปทำกันเองดีกว่า จากนั้นก็ไปคุยกับผู้ใหญ่ของแกรมมี่ บอกเขาว่าเราอยากออกมาเหมือนย้อนกลับไปที่ช่วงเริ่มต้น ที่เราทำกันเองสนุกๆ”

                เมื่อกลายเป็นศิลปินวงอิสระแล้ว พวกเขาก็มีอัลบั้มชื่อ ‘อัตวิถี’ เป็นอัลบั้มที่ร่วมกันลงทุนทำเอง “เราเอาผลงานไปขายเหมือนวงอินดี้วงหนึ่งเลย” เก้งบอก “แต่พอเราทำเพลงอินดี้ กลุ่มแฟนเพลงของเราก็เริ่มแคบลง ผมว่าคนที่จะทำอินดี้จริงๆ เขาต้องใช้เวลานะ ไม่ใช่ทำอัลบั้มเดียวแล้วปั้งเลย ต้องค่อยๆ สร้างฐานแฟนเพลง ซึ่งต้องใช้เวลาแน่นอน ด้วยช่วงเวลานั้นที่เราต่างคนต่างมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิตเยอะ ก็เลยไม่สามารถรันต่อไปได้”

วงเครสเซนโดปัจจุบันไม่มีแล้ว “เหตุผลที่เลิกน่าจะเป็นเพราะการที่เราออกมาทำกันเองนั่นละ ช่วงที่ยังอยู่กับค่าย เรายังมีทีมงานหลายคนคอยซัพพอร์ต แต่พอเราออกมาทำเอง มันจะมีเรื่องของรายได้ที่ขาดหายไป บางคนมีภาระต้องรับผิดชอบก็เลย…มีช่วงหนึ่งที่เราต้องแยกย้ายกันไปทำอะไรอย่างอื่นบ้าง แล้วพอมาถึงจุดหนึ่งเราก็มาคุยกันว่าเราจะทำยังไงดีกับวงนี้ เพราะว่าไม่มีค่ายแล้ว เราต้องทำเองทุกอย่างเลย ถ้าสมมติทุกคนไม่มีเวลามาเจอกันเหมือนสมัยก่อนก็คงจะไปต่อยาก ก็เลยคุยกันว่า โอ.เค.เราอาจจะหยุดไว้ตรงนี้ดีกว่า แล้วต่างคนต่างไปในทิศทางที่สามารถทำได้ ทั้งหมดน่าจะเป็นเรื่องของเวลาที่ทำให้เรามาเจอกันไม่ได้”

                เราถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่เขาเข้ามาในวงการเพลงในช่วงขาลง เก้งคิดก่อนพูดตอบ “ผมเคยคุยกับเพื่อนเรื่องของวงการสมัยก่อนกับสมัยนี้ ผมว่ามันมีความยากเหมือนกัน เพียงแต่ยากคนละจุด สมัยก่อนยากตรงที่จะทำยังไงให้เข้าไปสังกัดค่ายให้ได้ คือยากที่จะเข้าไปอยู่ในค่ายเพลง เราต้องส่งเดโม ส่งอะไรไป แต่สมัยนี้ทุกคนสามารถทำเพลงได้ โดยที่บางทีไม่จำเป็นต้องพึ่งพาค่าย แต่ความยากอยู่ที่จะทำยังไงให้ตัวเองโดดเด่นกว่าวงอื่นๆ ที่มีอยู่เยอะแยะ เราจะทำยังไงให้เพลงของเรา หรือวงของเรามันน่าสนใจ มีคนอยากฟังอยากติดตาม

                “ตอนที่ออกกันมา ผมก็หวังว่าเรากลับมาแล้วจะทำให้วงอยู่ต่อไปได้ ได้รับความสนใจ มีฐานแฟนเพลงที่กว้างขึ้น มีแฟนเพลงใหม่ๆ เพิ่มมาขึ้น เราก็เต็มที่นะ คือผมทำอะไรแล้วก็อยากทำให้เต็มที่ แต่พอถึงจุดหนึ่งถ้าเต็มที่แล้วมัน…คือด้วยอะไรหลายๆ อย่างอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ก็คงต้องปล่อยให้มันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นครับ”

                เขาและสมาชิกวงเคยคิดช่องทางหรือวางแผนไว้ก่อนหน้านั้นหรือไม่ว่า ออกมาทำเพลงกันเองแล้วจะทำอะไรอย่างไร เก้งให้คำตอบว่า “ตอนแรกเราคิดถึงแต่ความสำเร็จอย่างเดียวเลย เราก็ตั้งใจและสนุกมาก แต่อย่างที่บอก ยุคนี้มันก็ยากในเรื่องของเพลงนั่นละ ทำยังไงล่ะ เพลงมีเยอะ ศิลปินก็เยอะ แฟนเพลงมีโอกาสเลือกฟังเพลงของเราแล้วเขาอาจจะเปลี่ยนไปฟังเพลงของคนอื่นได้เลย ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที มันก็เลยเอ่อ…บางทีเราอาจจะมีความคิดเป็นโมเดลเก่าๆ อยู่ พอเป็นศิลปินปุ๊บ ทุกอย่างต้องใช่ แต่สมัยนี้มันไม่ใช่แล้ว ผมว่าสมัยนี้คนฟังเพลงเขาฟังเยอะขึ้นครับ เขามีสิทธิ์เลือกฟังที่เขาชอบมากๆ ได้เลย ถ้าเรา…ตอนนั้นเรายังอยู่ในช่วงค้นหาด้วยแหละ พอผมเข้ามาใหม่ๆ วงก็ยังหาอยู่ว่าเราจะเบลนด์เข้ากันยังไง ช่วงเวลานั้นทุกอย่างจึงยังไม่มีอะไรชัดเจนเท่าไหร่ว่าเครสเซนโดจะเป็นยังไง”

                ทุกวันนี้ เก้ง-เขมวัฒน์ทำงานประจำกับบริษัทซึ่งผลิตสื่อเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ Think of Living ชื่อรายการ ‘คิด.เรื่อง.อยู่’ มีโอกาสใช้ความรู้ในฐานะสถาปนิกรีวิวอสังหาริมทรัพย์จำพวกบ้านและคอนโดมิเนียม เผยแผ่ทางยูทูบ และช่องทีวีต่างๆ

                “ผมรู้สึกว่า ผมเลือกทำที่ Think of Living เหมือนกับมันเป็นการต่อยอดของสิ่งที่เรามาอยู่ในวงการชั่วเวลาหนึ่ง การที่ผมต้องมาพรีเซนต์ตัวเองอยู่หน้ากล้อง มันเป็นโอกาสที่เราสะสมมาตอนที่อยู่ในวงการ ผสมกับความรู้เดิมที่มี ก็ถือเป็นการต่อยอดละกัน ถ้ากลับไปทำงานดีไซน์เลย ผมก็รู้สึกเสียดายที่เคยมีคนรู้จัก

                “จริงๆ แล้วช่วงฝึกงานผมเคยได้ลองทำงานออกแบบสถาปัตย์เหมือนกันนะครับ แต่มันไม่ค่อยใช่สไตล์ผมสักเท่าไหร่ ตอนจบมาใหม่ๆ ก็เคยทำงานออฟฟิศเหมือนกัน แต่ทำด้านอสังหาริมทรัพย์นี่ละครับ เป็นเหมือนอยู่ในทีมเขา ไม่ได้ออกแบบเยอะมาก เน้นเรื่องของคอนเส็ปต์มากกว่า ไม่ได้ลงดีเทลหรือเขียนแบบอะไรขนาดนั้น”

                นอกเหนือจากงานประจำที่ว่า เก้งยังมีงานร้องเพลงช่วงกลางคืนบ้าง หรือรับจ๊อบทั่วๆ ไปเหมือนที่เคยทำ แต่ก็ลดจำนวนลง “ผมอยากให้ความสำคัญกับงานตอนกลางวันมากกว่า ก็เลยลดเหลือแค่ศุกร์-เสาร์ แต่ก็ยังอยากทำไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำอะไรอย่างเดียวผมจะรู้สึกเหมือนขาดๆ หายๆ”

                และล่าสุด เก้งยังมีงานแสดงละครเวทีแทรกเข้ามาในตารางชีวิตประจำวันเพิ่มเติม นั่นคือ ‘ซ้อน’ A New Musical ที่เขาเริ่มจัดสรรเวลาไปซ้อมบท ก่อนเปิดรอบการแสดงจริงในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้

                “ซ้อนเป็นงานละครเวทีเรื่องที่สองของผมครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่นเรื่อง ‘ก๊วนคานทอง เดอะ มิวสิคัล’ แต่ครั้งนั้นไม่ใช่มิวสิคัลทั้งเรื่อง มันจะมีบทพูดแทรกอยู่ แต่ตอนที่เล่นเรื่องแรกยากมากนะครับ เพราะผมเป็นแค่นักร้อง ร้องเพลงในสไตล์เรา พอมาเล่นมิวสิคัล ผมต้องร้องเพลงที่เป็นตัวละคร มีเรื่องแอ็กติ้งเข้ามาเพิ่มด้วย ก็เลยต้องจูนตัวเองว่าจะร้องอย่างไรเพื่อจะสื่อสารความเป็นตัวละครนั้นให้ได้ ไม่ใช่แค่ร้องเพลง”

                ในเรื่อง ‘ซ้อน’ เก้งรับบทเป็น ‘พร้อม’ มีพี่สาวชื่อพรรณีอีกหนึ่งคน อยู่ในบ้านที่เป็นเรื่องราวของทั้งหมด ตัวละครพร้อมที่เก้งเล่น เป็นหนุ่มที่มีอะไรปิดกั้นตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นคนมีปม เก็บกด หม่น และเป็นตัวละครที่สำคัญของเรื่องซึ่งมีบทบาทต่อตัวละครอื่นๆ รวมทั้งเป็นคนที่ก่อให้เกิดจุดหักมุมต่างๆ “เป็นคนที่ผมว่าน่าสงสารที่สุดในเรื่องเลยครับ” เก้งว่า เขาเล่นเป็นพร้อมในวัยหนุ่ม และเล่นไปจนกระทั่งจบเรื่อง

                “ตอนแรกผมยังอ่านบทไม่ละเอียดเท่าไหร่ พอจะรู้เรื่องราวคร่าวๆ แต่พอมาอ่านบทที่ต้องเล่นจริงๆ จังๆ โอ้โห…บทมันเข้มข้นมาก และมันสนุกครับ แค่อ่านผมก็สนุกแล้ว รู้สึกอยากจะมาซ้อมมาแสดง มันเป็นละครที่มีมิติมากๆ” แต่ก็ชวนให้หนักใจเช่นกัน เขาสารภาพพร้อมเสียงหัวเราะ “โดยเฉพาะกับบทของพร้อม ผมต้องอินไปกับเขา แล้วเราจะทำมันออกมาได้แค่ไหน แต่ก็ท้าทายนะครับ”

                ไม่เพียงแค่นั้น ยามนี้เก้งยังเจียดเวลาไปทำวงใหม่กับเพื่อนอีกด้วย “วงใหม่เลยครับ” เขาบอก “หลังจากคุยกับพี่ๆ ที่เครสเซนโดว่าเราจะไม่ทำกันแล้ว แต่ผมยังชอบทำเพลงอยู่ อยากทำเพลง อยากมีวง ก็เลยตั้งวงใหม่ กำลังทำกันอยู่ครับ ช่วงนี้ทำหลายอย่างเลยครับ” ว่าพลางหัวเราะ “ชีวิตยุ่งมาก แต่ก็สนุกดี”              

                วงใหม่ของเก้งเริ่มต้นจากการที่เขาและเพื่อนๆ อยากทำกันจริงๆ เขาบอก “ไม่ได้มองว่าเราทำแล้วจะรวยหรือจะดัง เราเริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบก่อน ความจริงผมเป็นคนฟังเพลงทุกแนว มาเจอกับเพื่อนๆ ที่เคยเล่นดนตรีด้วยกัน แล้วชวนกันมาทำเพลงกัน ก็เลยเป็นอะไรที่ผสมๆ กัน และดูเทรนด์เอาว่าช่วงนี้ใครสนใจเพลงแนวไหนก็มารวมกัน ผมซึ่งได้ทุกแนวอยู่แล้ว พอเพื่อนเสนอมาก็เห็นด้วย เหมือนเราอยากทำในสิ่งที่เราอยากทำก่อน เราพอใจกับเพลงที่ทำก่อน ไม่ได้คาดหวังเรื่องรายได้กันเลย

                “ผมมองว่าขอให้มีผลงานเพลงออกมาให้ทุกคนได้ฟัง แค่นั้นผมก็พอใจแล้วครับ ดนตรีของเราจะเป็นแนวอัลเทอร์เนทีฟ เป็นเพลงป๊อปที่จะมีอิเล็กทรอนิกซาวนฺด์ผสมเข้ามาให้มันดูทันสมัยหน่อย แต่เมโลดี้จะฟังง่ายเหมือนเพลงป๊อปทั่วไป ตอนนี้ทำเอ็มวีไปแล้ว น่าจะปล่อยทางโซเซียลมีเดียต่างๆ และเรากำลังหาบริษัทที่จะมาคอยดูเรื่องหลังบ้านให้เราอยู่เหมือนกัน”

                พูดถึงศิลปินเพลงก็ชวนให้ใคร่รู้ว่าทุกวันนี้รายได้หลักของพวกเขามาจากไหน เก้งให้คำตอบ “หลักๆ ก็มาจากคอนเสิร์ตครับ รายได้จากดาวน์โหลดค่อนข้างน้อยมาก โดยเฉพาะถ้าอยู่สังกัดค่าย ซึ่งค่ายจะมีเปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่เป็นมีเดียเยอะหน่อย แต่หลักๆ ของศิลปินวงจะมีรายได้จากโชว์มากกว่า ศิลปินยุคนี้ต้องขายโชว์เยอะกว่ายุคก่อน เมื่อก่อนศิลปินมีรายได้จากการขายเทป โชว์ไม่เยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม”

                แล้วเรื่องลิขสิทธิ์ล่ะ เราซักเขาเพิ่ม “ตอนนี้ผมรับงานในฐานะศิลปิน ส่วนใหญ่เวลาไปร้องเพลงตามร้านที่เขาจ่ายลิขสิทธิ์เป็นรายเดือนรายปีก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่งานอีเวนต์ต่างๆ ตัวศิลปินเองต้องดูก่อนว่าคนจัดงานเขาดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ให้เราหรือเปล่า ถ้าเราจะเล่นเพลงที่ไม่ใช่ของเรา เจ้าภาพงานต้องขอลิขสิทธิ์ไว้เป็นเพลงๆ ไป แต่ตอนที่ผมอยู่กับเครสเซนโด เราเล่นแต่เพลงของตัวเองหมดเลย”

                ส่วนลิขสิทธิ์เพลงของวงเครสเซนโดเอง เก้งอธิบายว่า เป็นของหลายค่ายเพลงที่เครสเซนโดเคยสังกัดอยู่ ไม่ว่าจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โซนี่ มิวสิก โทนิค เรคคอร์ด เลิฟอีฟ สไปซีดิสก์ ฯ สมมติว่าวันหนึ่งเครสเซนโดจะรวมตัวกันใหม่และจัดคอนเสิร์ตขึ้นมา พวกเขาก็ยังสามารถเล่นเพลงของตัวเองได้ เพียงแต่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์

                รายได้อีกทางหนึ่งของศิลปิน คือยอดดาวน์โหลด เก้งเล่าเพิ่มเติม “ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งระบบการจัดการค่อนข้างโอ.เค. เขายังจ่ายให้เราอยู่ มันเลยเป็นเหมือน passive income นิดๆ”

                คำถามสุดท้ายของเรานั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องบ้านในอุดมคติของเขา ในฐานะสถาปนิกคนหนึ่ง เก้งพูดตอบ “ถ้าผมอยู่คนเดียวผมจะดูทำเลก่อนครับ ว่าสะดวกในการเดินทางไปทำงานหรือเปล่า แต่ตอนนี้ผมกำลังสร้างบ้านที่ชลบุรีอยู่ ผมออกแบบเอง บ้านหลังนั้นผมอยากให้เป็นที่ที่สำหรับทุกคนกลับมาอยู่ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ผมออกแบบห้องนั่งเล่นกับสวนให้เชื่อมต่อกันเลย เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวที่จะอยู่พร้อมหน้ากัน หรือมีแขกมาก็จะรู้สึกผ่อนคลาย

                “ความรู้สึกของผม มันต้องเป็นบ้านที่ผมรู้สึกว่าอยากจะกลับไป ที่บ้านผมจะมีพ่อแม่ พี่สาว พี่เขย หลาน และผม รวมหกคน เรามีกันสองคนพี่น้อง มีพี่สาวเหมือนในเรื่อง ‘ซ้อน’ เลยครับ” ว่าแล้วก็หัวเราะ

               “พี่สาวในละครก็หน้าตาคล้ายพี่สาวของผมเหมือนกันด้วยครับ โรส-อลิสซาเบธ เรืองกฤตยา ซึ่งเป็นรุ่นน้องผม แต่เล่นเป็นพี่สาวผม เขามีความคล้ายกัน”

ซ้อน A New Musical
บทประพันธ์ ดารกา วงศ์ศิริ

กำกับการแสดง สุวรรณดี จักราวรวุธ
ประพันธ์ดนตรี ไกวัล กุลวัฒโนทัย / สุธี แสงเสรีชน
นำแสดงโดย  มณีนุช เสมรสุต, ธีรนัยน์ ณ หนองคาย, ภคมน จึงไพศาล, อลิสซาเบธ เรืองกฤตยา, อภิวัฒน์  อภิวัฒน์เสรี, เขมวัฒน์ เริงธรรม, แก้วกาญจน์ ชื่นเป็นนิจ, ทรงสินธ์ ศิริคุณารัศม์, ภคมน บุณยะภูติ, ธนษิต จตุรภุช, วสุธิดา ปุณวัฒนา และนวปฎล มิ่งทุม
รอบการแสดง         วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2561: รอบ 14.00 น. และ 19.30 น.   
                               วันอาทิตย์ที่  15 กรกฎาคม 2561: รอบ 14.00 น.
                               วันเสาร์ที่  21 กรกฎาคม 2561:  รอบ 14.00 น. และ 19.30 น.   
                               วันเสาร์ที่  28 กรกฎาคม 2561: รอบ  14.00 น. และ 19.30 น.
                               วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2561: รอบ  14.00 น. และ 19.30 น.
บัตรราคา 3000/ 2500/ 2000/ 1500 /1200
แสดงที่ เอ็ม เธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
จองบัตรได้ที่ www.dreambox.co.th  หรือ Hotline: (085) 416-6661-4 (11.00 น.-19.00 น.)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่  ดรีมบอกซ์ (02) 715-3547-9

Facebook Comments Box