มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย ดึงพลังวัยรุ่นกลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน และผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี ลงพื้นที่ชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ รณรงค์ให้ความรู้ เตือนวัยรุ่นรู้จักรักให้ปลอดเอดส์ หลังพบสถิติน่าเป็นห่วง วัยรุ่นกว่าครึ่งมีรักครั้งแรกแบบไม่ป้องกัน และวัยรุ่นน้อยกว่าครึ่งมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี และร้อยละ 70 ของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนอายุ 15-24 ปี (จากรายงานสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ขององค์การยูนิเซฟประเทศไทย)

              ในความพยายามยุติการแพร่ระบาด-การติดเชื้อเอชไอวี และการทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี อาการป่วยโรคเอดส์ และสังคมที่ตีตราผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัญหาระดับนานาชาติ มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ทำงานในระดับชุมชนภาคเหนือ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งที่ทำงานอยู่กับกลุ่มวัยรุ่น อย่าง กลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน และกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี โดยมูลนิธิผู้หญิงอยู่ร่วมกับเอดส์ ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่พบก็คือ การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องการติดเชื้อ การรักษา สิทธิในการเข้าถึงการรักษา การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติจากสังคม

              ปัจจุบันประเทศไทยมีวัยรุ่น อายุระหว่าง 10-19 ปี ประมาณ 8.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากร ทั้งหมด จากการศึกษา และรายงานหลายฉบับระบุปัญหาเอดส์ในวัยรุ่นน่าวิตก มีเด็กอายุ 0-14 ปีจำนวน 120,000 คน เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ ในขณะที่ทั่วโลกมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวี 1.4 ล้านคน มีเด็กผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั่วโลก 160,000 คน (จาก 2017 UNICEF Statistical Update on Children and AIDS)

               นพรุจ หมื่นแก้ว ประธานกลุ่ม ‘รักษ์ไทยเพาเวอร์ทีน’ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ด้านเพศศึกษา อนามัยการเจริญพันธุ์ และเอชไอวี/เอดส์ มาตลอด 12 ปี พบปัญหาวัยรุ่นติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่มาจากการเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องเพศที่ถูกต้อง ทำให้ขาดความตระหนักในการป้องกันตนเอง “ดังนั้นเราจึงพยายามให้ความรู้เพื่อลดปัญหาการติดเชื้อเพิ่มถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์โดยหน่วยงานและมูลนิธิต่างๆ มากมาย เกี่ยวกับสาเหตุของการติดเชื้อที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน แต่ด้วยวัยและวุฒิภาวะ และบางครั้งก็คิดไปเองว่าคู่ของเรารักเราคนเดียวไม่มีคนอื่นคงไม่มีโรคใดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คู่ของเรานั้นผ่านประสบการณ์ใดมาบ้าง เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่หรือไม่

               “ปัญหาอีกส่วนหนึ่ง คือมีวัยรุ่นตั้งครรภ์ และเด็กทารกเกิดใหม่ติดเชื้อเอชไอวีเกิดขึ้นในปัจจุบัน สาเหตุมาจากไม่ตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่องการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การที่ผู้ติดเชื้อตั้งครรภ์ไม่รับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี รวมถึงการถูกล่วงละเมิดปัญหาต่อมาคือ วัยรุ่นตั้งครรภ์ขาดความรู้และเข้าใจเมื่อเป็นผู้ติดเชื้อไม่เข้ารับการรักษา ทำให้เด็กที่เกิดมาได้รับการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นปัญหาทั้งทางด้านความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตและปัญหาด้านจิตใจของแม่และเด็ก”

               กลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน เดิมเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสมาชิกในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี จากการมีสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยมีเด็กบางคนได้รับเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกเกิด และเด็กอีกหลายคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี สำหรับเด็กที่ได้รับเชื้อเอชไอวีจะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รับยาต้านไวรัส ได้รับความรู้อย่างถูกต้อง นำมาสู่การตั้งกลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน รณรงค์ช่วยเหลือในเบื้องต้นด้านการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค การดูแลตัวเอง และการเข้ารับการรักษา พยายามหาองค์กรเข้ามาช่วยเหลือ หลังจากนั้นเป็นเรื่องของการเยียวยาจิตใจ โดยให้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อพูดคุยปรึกษา สร้างกำลังใจให้กันและกัน ไม่ให้ผู้ติดเชื้อรู้สึกแปลกแยก สร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากดำเนินชีวิตและพึ่งตัวเองได้

               “ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ แต่อยู่ที่ว่าเขาตัดสินใจ ซึ่งคนที่เลือกไม่เข้ารับการรักษามักจะเป็นคนที่ถูกตีตราจากสังคมส่งผลให้เขาตีตราตัวเอง เขาจึงไม่มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิต กลุ่มของเราอยากให้ความรู้กับสังคมในเรื่องนี้ เราเชื่อว่าถ้าสังคมเข้าใจก็จะไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและประชาชน” นพรุจ ประธานกลุ่มอธิบายกรณีดังกล่าว

                ชูใจ (นามสมมติ) ในฐานะที่ตนเองติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่เกิด เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มมีแฟน และเมื่อทราบว่าตนตั้งครรภ์ก็รีบไปพบแพทย์ เริ่มกังวลว่าลูกจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ การดูแลอนาคตลูกจะเป็นอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด แต่สุดท้ายโชคดีครอบครัวมีความเข้าใจ คุณหมอให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เป็นแกนนำของรักษ์ไทยพาว์เวอร์ทีน ทำให้เห็นคุณค่าในตนเองมีความรู้ความเข้าใจการป้องกันตนเอง แฟน และลูก

                เธอเล่าว่า ในฐานะที่ตนเป็นอาสาสมัครของรักษ์ไทยพาว์เวอร์ทีน จากเคสที่พบ วัยรุ่นกว่าครึ่งหนึ่งมีสาเหตุการติดเชื้อเอชไอวีโดยรับมาจากคู่รัก และบางส่วนถูกล่วงละเมิดทางเพศ การรู้สถานการณ์ทันเวลา การเข้าถึงสิทธิการรักษา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รักษาทั้งชีวิตและจิตใจกลุ่มคนเหล่านี้ได้ “วัยรุ่นที่มาปรึกษากลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีนส่วนใหญ่ ทันทีที่ทราบว่ามีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อและตั้งครรภ์แล้ว กลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีนจะให้คำปรึกษาเบื้องต้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ ส่งต่อให้ทางเลือกกับเพื่อน ติดตามเยาวชนตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะต้องไปพบคุณหมอทุกเดือน เพื่อรับยาต้านไวรัส ซึ่งไม่ต่างจากผู้ติดเชื้อทั่วไป แต่คุณหมอจะดูแลเป็นพิเศษมากกว่า ต้องคอยมาตรวจครรภ์ คอยดูแลเรื่องการปรับยาเพื่อไม่ให้ส่งผลกับทารก”

                นอกจากนั้นกลุ่มรักษ์ไทยพาว์เวอร์ทีนยังจัดกิจกรรมพบปะพูดคุย และให้คำปรึกษาเสริมสร้างกำลังใจต่อกัน ติดตามเยี่ยมเยียนกันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ติดเชื้อในช่วงแรกจะมีสภาพจิตใจที่ไม่ดีนัก การทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยก เผชิญปัญหาลำพังจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น ใครที่สภาพจิตใจแย่มากคุณหมอก็จะให้เข้าไปพบกับจิตแพทย์

                ศรัญญา  บุญเพ็ง ประธานมูลนิธิ ‘ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี’ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงที่อยู่กับเชื้อเอชไอวีว่า “จำนวนไม่ได้เพิ่มมากนัก เป็นกลุ่มเก่าที่กินยาต้านมานานแล้ว เพราะการเข้าถึงการรักษา จึงทำให้กลุ่มผู้ติดเชื้อมีอายุยืนยาวขึ้น ส่วนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน

                “เรามองว่า ถ้าเราแค่ทำงานกับผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีคงไม่สามารถครอบคลุมปัญหาได้ การทำงานของมูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีกว่า 16 ปี เราได้ขยายการทำงานเพื่อผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีและตั้งครรภ์ โดยเข้าไปทำงานกับกลุ่มผู้หญิงที่เข้ามาฝากครรภ์ทั้งสี่ภาค เหนือ อีสาน กลาง และตะวันออก ทีมอาสาสมัครของเราจะเข้าไปคุยกับผู้หญิงตั้งครรภ์และคู่ในเรื่องเอดส์ เรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ชวนวิเคราะห์ความเสี่ยง ถ้าคิดว่าเสี่ยงต้องทำอย่างไร ต้องตรวจเลือดที่ไหน ทำไมต้องตรวจ และการวางแผนครอบครัวการคุมกำเนิดตลอดจนวางแผนการดูแลที่ครอบคลุมไปถึงการดูแลเด็กติดเชื้อหลังคลอด

                “นอกจากนี้เรายังออกไปให้ความรู้กับชุมชน คลินิกฝากครรภ์ โรงพยาบาล และโรงเรียน โดยเราจะไปชวนทุกคนให้วิเคราะห์ความเสี่ยง เพราะทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี มูลนิธิให้ความรู้ว่าจะตรวจสอบการติดเชื้อเอชไอวีได้ที่ไหน เพราะผู้หญิงมีความเปราะบาง ไม่มีอำนาจต่อรองกับคู่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี”

                ปัญหาที่พบด้านการทำงาน เช่น ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวีไม่กล้าบอกสามี แต่ถูกสามีบังคับให้มีลูก ทัศนคติที่ไม่ตรวจเอชไอวีก่อนการมีเพศสัมพันธ์หรือวางแผนมีบุตร รวมถึงแม่หยุดการรักษา ส่วนนี้มูลนิธิฯ ยังขาดงบประมาณและกำลังคน ส่วนปัญหาของผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีเกี่ยวกับการสื่อสารกับคู่กับครอบครัว การโดนเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเข้ารับสิทธิ-สวัสดิการสังคมได้ พอเค้าดูใบรับรองแพทย์เห็นว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เราก็จะโดนเลือกปฏิบัติ กีดกันการเข้ารับสวัสดิการรวมทั้งเวลาผู้ติดเชื้อไปประกอบอาชีพ

               “พอเขารู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อแล้วมักจะไม่รับ เราก็มักจะต้องเปลี่ยนงานบ่อย แม้แต่ในโรงพยาบาล เรามักได้รับบริการทีหลัง หรือเป็นระดับรองลงมา เช่น จะไปทำฟันก็จะโดนไปไว้คิวสุดท้าย บอกว่าต้องเตรียมห้องและอุปกรณ์เฉพาะ เวลานอนโรงพยาบาลห้องรวมก็มักจะถูกไปไว้ในโซนสุดท้ายหรือหน้าห้องน้ำ ผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์โดนบังคับทำหมันหลังคลอดโดยไม่ได้ยินยอม ทั้งที่ไม่ได้มีนโยบายหรือกฎหมายบังคับว่า ผู้ที่ติดเชื้อต้องทำหมันทุกคน แต่เป็นทัศนคติของคนปฏิบัติ ที่ต้องให้ผู้ติดเชื้อทำหมันจึงจะปลอดภัย” ศรัญญา ตัวแทนเสียงสตรีกล่าว และอธิบายเพิ่มด้านการเข้าถึงสิทธิการรักษา

                “ตามนโยบายทุกคนที่มีเลขสิบสามหลัก สามารถเข้าถึงสิทธิการเข้ารับการรักษาได้ แต่ในทางปฏิบัติมันขึ้นอยู่กับตัวผู้ติดเชื้อเองว่า เขาพร้อมที่จะรับยาต้านหรือไม่ หรือผู้ให้บริการเห็นว่าผู้ติดเชื้อไม่สามารถรับยาได้ต่อเนื่อง อาจเกิดการดื้อยา เขาก็อาจจะยังไม่ให้รับยาต้านก็ได้ ผู้ที่ปฏิเสธการรับยาต้านมีหลายกรณี บางคนต้องทานยาเยอะ เพราะนอกจากยาต้านแล้วอาจจะต้องกินยาจิตเวชด้วย บ้างก็ขี้เกียจกิน บางคนขอพักการกินยา แต่พอหยุดยาแล้ว ส่วนใหญ่จะกลับมาเมื่อเกิดโรคฉวยโอกาส ซึ่งเราก็พยายามให้กำลังใจผู้ที่รับยา คอยกระตุ้นให้ตรวจ CD4 ทุกหกเดือน ควรกินยาต้านเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หลายคนสามารถกลับเข้ามาสู่ระบบเหมือนเดิม แต่สำหรับคนที่หายไปเลยเราก็ไม่สามารถเข้าไปพูดคุยดึงเค้ากลับมาได้ แต่เกือบทั้งหมดก็จะป่วยกลับมาภายใน 3-5 ปีจากภาวะโรคฉวยโอกาส

               “ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อ เราทำงานตรงนี้มานานได้ก็เพราะเรารู้สึกว่าตรงนี้ทำให้เรามีตัวตน มีคุณค่า คนที่ร่วมงานกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอพยาบาล ไม่ได้แสดงท่าทางที่รังเกียจหรือกลัว เขามองเราว่าเป็นคนคนหนึ่งที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนโรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วย”

                ผดุง โผนเมืองหล้า ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ชี้ประเด็นภาคราชการกับการแก้ปัญหาเอชไอวีในชุมชนว่า เน้นแก้ทัศนคติผู้นำชุมชนภาคย่อยก่อน ซึ่งมีบทบาทในการช่วยลด หรือยุติปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

                “เริ่มจากการให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก่อนว่า การติดเชื้อเอชไอวีกับโรคเอดส์ต่างกันอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไร การติดต่อยาก-ง่ายอย่างไร เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้นำชุมชนที่มีต่อเรื่องนี้ก่อน นอกจากนี้ก็มีการเดินรณรงค์ในชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคตามเทศกาลและโอกาสสำคัญต่างๆ”

                ปัจจุบัน แม้ยังไม่ได้มีการวัดผลที่เป็นรูปธรรม แต่ใช้หลักการสังเกตว่า แต่ละชุมชนเปิดโอกาสให้ผู้ที่ติดเชื้อเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น รวมทั้งให้ความรู้กับชาวบ้านว่าโรคนี้ไม่ได้น่ากลัว  ซึ่งช่วยให้คนในชุมชนเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้ติดเชื้อให้ดีขึ้น

                “ในฐานะตัวแทนชุมชน อยากให้ทุกคนมองว่านี่เป็นปัญหาของสังคมที่ทุกคนต้องร่วมกันดูแล ต้องให้กำลังใจพวกเขาแทนการซ้ำเติม ไม่ใช่แค่สงสาร แต่เปิดโอกาสให้เหมือนคนทั่วไป ให้เวทีและพื้นที่กับเขาทำสิ่งต่างๆ ไม่ให้เขารู้สึกแปลกแยกจากสังคม”

                 เย็นจิต สมเพาะ ผู้อำนวยการมูลนิธิ ‘เอดส์แห่งประเทศไทย’ กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศว่า หากมองสถิติภาพใหญ่นานาชาติ ในปี 2558 องค์การสหประชาชาติ ได้ประมาณว่า ทั่วโลกมีผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีจำนวน 36.7 ล้านคน รวมทั้ง เด็กจำนวน 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวน 35 ล้านคน

                 ข้อมูลประเทศไทยจากแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 โดย AIDS Epidemic Model (AEM) คาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นปีพ.ศ.2558 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สะสม จำนวน 1,526,028  คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,900 คน (เฉลี่ยติดเชื้อรายใหม่วันละ 19 คน)  เสียชีวิตด้วยเอชไอวี 16,100 คน ผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ทั้งหมด  437,700  คน เป็นแยกเป็นเพศหญิง 181,600 คน เพศชาย 256,100 คน แยกเป็นผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป 433,600 คน และเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 4,100 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

                  ขณะที่ข้อมูลของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย รายงานเมื่อสิ้นปี 2559 ระบุมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 6,200 คน เฉลี่ยวันละ 17 คน ตลอดทั้งปีมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตกว่า 15,000 คน เฉลี่ยวันละ 43 คน โดยเป็นกลุ่มชายรักชายมากที่สุดและจากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา และการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี บ่งชี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวมาจากการเข้าถึงการตรวจรักษา การได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีเร็ว แต่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ และกลุ่มทหารเกณฑ์คัดเลือกใหม่เข้าประจำการ อายุ 20-24 ปี กลับมีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเยาวชน ที่มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนและไม่ป้องกัน  เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนติดเชื้อเอชไอวีและไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเอง นอกจากนี้ยังพบว่าเยาวชนมีอัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 50 รวมถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

                  “ความพยายามพิชิตการแพร่ระบาดของเอชไอวีในสังคมไทย นอกจากรัฐบาลที่มุ่งเน้นบริการดูแลรักษาแล้ว ยังมีองค์กรภาคประชาสังคม ที่ทำงานด้านเอดส์จากทั่วประเทศไทย มากกว่า 150 องค์กร เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญที่สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย และภาคีโครงการ ‘อีกนิดพิชิตเอดส์’ ทำ คือเข้าถึงกลุ่มประชากรที่มีโอกาสรับเชื้อเอชไอวีสูง แนะนำให้ป้องกันเอชไอวีที่ถูกวิธี และหากเคยมีพฤติกรรมเสี่ยงให้ ‘เข้าตรวจเอชไอวี’ เพื่อการรักษาทันที    

                  “เป้าหมายในลำดับถัดไปจึงยังคงยึดมั่นอยู่กับปณิธานสำคัญ คือ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและสนับสนุน ประการแรก-ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ ถัดมา-ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และสุดท้าย-ลดการรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนให้ทำงานตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวนี้ไปพร้อมกัน

                  “เพื่อยุติเอดส์ภายในปี 2573 หรืออีก 12 ปีตามเป้าหมายใหญ่ของนานาชาติ”

*สามารถร่วมบริจาคเพื่อช่วยยุติการติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ ได้ที่โครงการ อีกนิดพิชิตเอดส์
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขางามวงศ์วาน เลขที่ 319-295473-1
ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาซอยอารี  เลขที่ 127-499778-0
ชื่อบัญชี  AIDS ALMOST ZERO เพื่อมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย
หรือติดต่อได้ที่สำนักงาน: 191 ถนนพหลโยธิน ซอย 11 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์: (02) 2797022-3 โทรสาร: (02) 1166176 Facebook: AIDSALMOSTZERO

Facebook Comments Box